คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5032/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยร่วมเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์หุ้นที่จำเลยที่ 5 ที่ 8 และที่ 9 โอนให้แก่บริษัท ท.เป็นหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่เต็มจำนวนค่าหุ้น ถ้าปรากฏว่าบรรดาผู้ถือหุ้นของบริษัทอยู่นั้นไม่สามารถออกส่วนใช้หนี้อันจะพึงต้องออกใช้นั้น จำเลยที่ 5 ที่ 8 และที่ 9ผู้โอนหุ้นดังกล่าวก็ยังคงต้องรับผิดในจำนวนเงินที่ยังมิได้ ส่งใช้ให้ครบถ้วน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1133 โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 5 ที่ 8 และที่ 9ให้รับผิดในจำนวนเงินดังกล่าวได้ ไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และการที่โจทก์นำสืบว่าผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยร่วมบางคนรวมทั้งตัวโจทก์ด้วยเป็นผู้มีชื่อถือหุ้นแทนผู้บริหารของธนาคารชุดเดิม ก็เป็นการนำสืบเพื่อพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าผู้ที่มีชื่อถือหุ้นของจำเลยร่วมอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถออกส่วนใช้หนี้อันเขาจะพึงต้องออกใช้นั้นได้ตามมาตรา 1133(2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งจำเลยที่ 5 ที่ 8 และที่ 9ได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ และศาลชั้นต้นก็ได้กำหนดประเด็นดังกล่าวไว้เป็นประเด็นข้อพิพาทในชั้นชี้สองสถานด้วยจึงหาใช่เป็นการนำสืบนอกฟ้องไม่ การที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 5 ที่ 8 และที่ 9ผู้โอนหุ้นรับผิดออกส่วนใช้หนี้ของจำเลยร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1133 นั้นโจทก์หาได้ฟ้องโดยใช้สิทธิเรียกร้องแทนจำเลยร่วมในการเรียกค่าหุ้นหรือยึดทรัพย์จากผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยร่วมไม่แต่เป็นการที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 5 ที่ 8 และที่ 9รับผิดออกส่วนใช้หนี้ของจำเลยร่วม ตามมาตรา 1133โดยใช้สิทธิของโจทก์เองซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยร่วมโดยตรงทั้งนี้เพราะจำเลยร่วมหามีสิทธิตามบทบัญญัติดังกล่าวนี้ไม่โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 5 ที่ 8 และที่ 9 ได้โดยไม่จำต้องเรียกค่าหุ้นหรือยึดทรัพย์จากผู้ถือหุ้นของจำเลยร่วมก่อน การส่งคำบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1121 นั้นเป็นกรณีที่กรรมการของบริษัทซึ่งผู้ถือหุ้นอยู่เรียกให้ผู้ถือหุ้นส่งใช้เงินค่าหุ้น ไม่ใช่เป็นกรณีที่เจ้าหนี้ของบริษัทเรียกให้ผู้โอนหุ้นซึ่งยังมิได้ส่งเงินใช้เต็มจำนวนค่าหุ้นรับผิด ออกส่วนใช้หนี้ตามมาตรา 1133 ซึ่งเจ้าหนี้ของบริษัทมีสิทธิ เรียกร้องตามสิทธิของตนเองได้โดยตรง ดังนั้น ก่อนฟ้องโจทก์จึงไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ตามมาตรา 1121

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า บริษัทโสภณศิริคลังสินค้า จำกัดมีผู้ถือหุ้น 22 คน จำนวน 600,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาทโดยมีจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 เป็นผู้ถือหุ้นรวมอยู่ด้วยซึ่งหุ้นทุกหุ้นได้ใช้เงินค่าหุ้นแล้ว หุ้นละ 25 บาท คงค้างชำระค่าหุ้นอยู่อีกหุ้นละ 75 บาท ต่อมาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9ได้โอนหุ้นซึ่งยังไม่ได้ส่งเงินใช้เต็มจำนวนค่าหุ้นให้แก่บริษัทที.ที.โฮลดิ้ง จำกัด เนื่องจากบริษัทโสภณศิริคลังสินค้าจำกัด เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ จำนวน 10,696,077.54บาท พร้อมดอกเบี้ยซึ่งคดีถึงที่สุดแล้ว คำนวณถึงวันฟ้องคดีนี้รวมเป็นหนี้เงินจำนวน 13,445,445.50 บาท โจทก์ดำเนินการบังคับคดีแก่บริษัทโสภณศิริคลังสินค้า จำกัด โดยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินซึ่งบริษัทดังกล่าวมีกรรมสิทธิ์ร่วมอยู่1 ใน 4 ส่วน เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินนั้นแล้วได้เงินชำระหนี้โจทก์ส่วนหนึ่ง เมื่อหักหนี้ที่ค้างชำระแล้วยังค้างชำระอยู่จำนวน 12,846,945.55 บาทบริษัทโสภณศิริคลังสินค้า จำกัด เพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องให้บรรดาผู้ถือหุ้นตามบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นส่งใช้เงินค่าหุ้นที่ยังค้างชำระเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายและเสียประโยชน์โจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทวงถามจำเลยทั้งเก้าแล้วแต่จำเลยทั้งเก้าเพิกเฉย จำเลยทั้งเก้าจึงต้องรับผิดในจำนวนเงินค่าหุ้นที่ยังไม่ได้ส่งใช้โดยเฉลี่ยความรับผิดให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของจำนวนหนี้ที่แต่ละต้องรับผิดนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีหมายเรียกบริษัทโสภณศิริคลังสินค้า จำกัด ลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์เข้ามาเป็นจำเลยร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 234
จำเลยทั้งเก้าและจำเลยร่วมให้การทำนองเดียวกันว่าจำเลยทั้งเก้าโอนหุ้นให้แก่บริษัทที.ที.โฮลดิ้ง จำกัด แล้วฉะนั้น ผู้รับโอนจึงต้องรับไปทั้งสิทธิ หน้าที่และความรับผิดจำเลยทั้งเก้าจึงไม่ต้องรับผิดอีกต่อไป โจทก์ฟ้องโดยใช้สิทธิเรียกร้องแทนจำเลยร่วมเท่านั้น โจทก์จึงจะเรียกเอาค่าหุ้นเป็นของตนไม่ได้ นอกจากนี้ก่อนฟ้องโจทก์จะต้องบอกกล่าวให้ผู้ที่ค้างชำระค่าหุ้นชำระค่าหุ้นพร้อมดอกเบี้ยทราบล่วงหน้าก่อน21 วัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1121 และ 1123แต่โจทก์ไม่ได้บอกกล่าว จำเลยทั้งเก้าจึงยังไม่ตกเป็นผู้ผิดนัดหนี้ที่โจทก์มีต่อจำเลยร่วมเกิดจากบัญชีเดินสะพัดซึ่งได้ปิดบัญชีไปเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2527 จึงเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลังการโอนหุ้นของจำเลยทั้งเก้า ทั้งผู้ถือหุ้นอยู่ในปัจจุบันยังค้างชำระค่าหุ้นอยู่เพียงพอที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ได้จำเลยทั้งเก้าจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้แก่โจทก์และโจทก์ก็เป็นผู้ถือหุ้นและค้างชำระค่าหุ้น 4,500,000 บาท ถ้าโจทก์ชำระค่าหุ้นเต็มมูลค่าหนี้ของโจทก์จะลดลงเกือบครึ่ง การที่โจทก์เลือกฟ้องจำเลยทั้งเก้าซึ่งไม่ได้ถือหุ้นอยู่โดยไม่ได้ฟ้องผู้ถือหุ้นในปัจจุบันและโจทก์เองไม่ได้ชำระค่าหุ้นจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทั้งโจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยร่วม ฉะนั้น โจทก์ชอบที่จะบังคับคดีโดยขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินของผู้ถือหุ้นที่ค้างชำระมิใช่มาฟ้องคดีเสียทีเดียว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ชำระเงินให้แก่โจทก์ ดังนี้ จำเลยที่ 1 จำนวน 2,486.52 บาท จำเลยที่ 2 จำนวน 1,864,876.50 บาท จำเลยที่ 3 จำนวน 1,243,251 บาท จำเลยที่ 4 จำนวน 1,243,251 บาท จำเลยที่ 5 จำนวน 1,243,251 บาท จำเลยที่ 6 จำนวน 1,243,251 บาทจำเลยที่ 7 จำนวน 1,864,876.50 บาท โดยให้จำเลยที่ 1ถึงที่ 9 ชำระพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินที่จำเลยแต่ละจะต้องรับผิด นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 8 และที่ 9 อุทธรณ์แต่จำเลยที่ 4 และที่ 6 ทิ้งอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์สั่งให้จำหน่ายอุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 และที่ 6 ออกจากสารบบความ
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 5 ที่ 8 และที่ 9 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าจำเลยที่ 5 ที่ 8 และที่ 9 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทจำเลยร่วมได้ชำระค่าหุ้นไว้เพียงร้อยละ 25 ต่อมาวันที่ 2 มีนาคม 2527และวันที่ 12 มีนาคม 2527 จำเลยที่ 5 กับจำเลยที่ 8 และที่ 9โอนหุ้นให้แก่บริษัทที.ที.โฮลดิ้ง จำกัด ก่อนการโอนหุ้นจำเลยร่วมเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีโจทก์อยู่เพียงวันที่ 26กุมภาพันธ์ 2527 จำนวน 9,224,199.75 บาท โจทก์ฟ้องเรียกหนี้ดังกล่าวพร้อมกับดอกเบี้ยจากจำเลยร่วม ศาลได้พิพากษาคดีถึงที่สุดแล้ว ตามคดีหมายเลขแดงที่ 1584/2528 ของศาลชั้นต้นโดยให้จำเลยร่วมชำระหนี้แก่โจทก์จำนวน 10,696,077.55 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย บริษัทที.ที.โฮลดิ้ง จำกัด ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2530
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในข้อแรกว่า การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 5ที่ 8 และที่ 9 โดยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องค่าหุ้นที่ค้างชำระจากผู้ถือหุ้นบริษัทจำเลยร่วม ในปัจจุบันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือไม่ และการที่โจทก์นำสืบว่าผู้ถือหุ้นของจำเลยร่วมบางคนรวมทั้งตัวโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นแทนผู้บริหารของธนาคารชุดเดิมเป็นการนำสืบนอกฟ้องหรือไม่ เห็นว่า จำเลยร่วมเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ หุ้นที่จำเลยที่ 5 ที่ 8 และที่ 9โอนให้แก่บริษัทที.ที.โฮลดิ้ง จำกัด เป็นหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่เต็มจำนวนค่าหุ้น ถ้าปรากฏว่าบรรดาผู้ถือหุ้นของบริษัทอยู่นั้นไม่สามารถออกส่วนใช้หนี้อันจะพึงต้องออกใช้นั้นได้จำเลยที่ 5 ที่ 8 และที่ 9 ผู้โอนหุ้นดังกล่าวก็ยังคงต้องรับผิดในจำนวนเงินที่ยังมิได้ส่งใช้ให้ครบถ้วน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1133 โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 5ที่ 8 และที่ 9 ให้รับผิดในจำนวนเงินดังกล่าวได้ ไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต และการที่โจทก์นำสืบว่าผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยร่วมบางคนรวมทั้งตัวโจทก์ด้วยเป็นผู้มีชื่อถือหุ้นแทนผู้บริหารของธนาคารชุดเดิม ก็เป็นการนำสืบเพื่อพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าผู้ที่มีชื่อถือหุ้นของจำเลยร่วมอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถออกส่วนใช้หนี้อันเขาจะพึงต้องออกใช้นั้นได้ตามมาตรา 1133(2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งจำเลยที่ 5 ที่ 8 และที่ 9 ได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้และศาลชั้นต้นก็ได้กำหนดประเด็นดังกล่าวไว้เป็นประเด็นข้อพิพาทในชั้นชี้สองสถานด้วย จึงหาใช่เป็นการนำสืบนอกฟ้องไม่
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในข้อต่อไปมีว่า โจทก์จะต้องเรียกค่าหุ้นหรือยึดทรัพย์จากผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยร่วมก่อนจึงจะใช้สิทธิเรียกร้องแทนจำเลยร่วมหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 5 ที่ 8 และที่ 9 รับผิดออกส่วนใช้หนี้ของจำเลยร่วม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1133 นั้นโจทก์หาได้ฟ้องโดยใช้สิทธิเรียกร้องแทนจำเลยร่วมดังที่จำเลยที่ 5 ที่ 8 และที่ 9 ฎีกาไม่ โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 5 ที่ 8และที่ 9 รับผิดออกส่วนใช้หนี้ของจำเลยร่วมตามมาตรา 1133โดยใช้สิทธิของโจทก์เองซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยร่วมโดยตรงทั้งนี้เพราะจำเลยร่วมหามีสิทธิตามบทบัญญัติดังกล่าวนี้ไม่โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 5 ที่ 8 และที่ 9 ได้โดยไม่จำต้องเรียกค่าหุ้นหรือยึดทรัพย์จากผู้ถือหุ้นของจำเลยร่วมก่อน
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในข้อต่อไปมีว่า ผู้ถือหุ้นอื่น ๆของบริษัทจำเลยร่วมยังสามารถชำระหนี้ของบริษัทจำเลยร่วมได้หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่าผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยร่วมไม่สามารถออกส่วนใช้หนี้ของจำเลยร่วมได้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในข้อต่อไปมีว่า ก่อนฟ้องโจทก์จะต้องเรียกค่าหุ้นจากจำเลยที่ 5 ที่ 8 และที่ 9 โดยส่งคำบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ต่ำกว่า 21 วัน ด้วยจดหมายส่งลงทะเบียนไปรษณีย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1131 หรือไม่ เห็นว่า การส่งคำบอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรา 1121 นั้น เป็นกรณีที่กรรมการของบริษัทซึ่งผู้ถือหุ้นอยู่เรียกให้ผู้ถือหุ้นส่งใช้เงินค่าหุ้น ไม่ใช่เป็นกรณีที่เจ้าหนี้ของบริษัทเรียกให้ผู้โอนหุ้นซึ่งยังมิได้ส่งเงินให้เต็มจำนวนค่าหุ้นรับผิดออกส่วนใช้หนี้ตามมาตรา 1133 ซึ่งเจ้าหนี้ของบริษัทมีสิทธิเรียกร้องตามสิทธิของตนเองได้โดยตรง ดังนั้นก่อนฟ้องโจทก์จึงไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรา 1121
พิพากษายืน

Share