คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 503/2526

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เมื่อบิดาโจทก์จำเลยถึงแก่กรรม บุตร 6 คนขอรับโอนมรดกที่ดินพิพาท ต่อมาบุตร 4 คนยกที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้โจทก์จำเลยแล้วโจทก์จำเลยทำบันทึกตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทแต่ยังมิได้รังวัดแบ่งแยกโฉนด ต่อมาสามีจำเลยและโจทก์ลงชื่อในฐานะคู่กรณี จำเลยลงชื่อในฐานะพยานในเอกสารมีข้อความว่า ทั้งสองฝ่ายยอมปฏิบัติตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร และยอมให้นำเอกสารคำวินิจฉัยชี้ขาดเป็นหลักในการตัดสินชี้ขาดของศาล ดังนี้ ถือได้ว่าเป็นข้อตกลงตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานครเป็นอนุญาโตตุลาการชี้ขาดข้อพิพาทของโจทก์จำเลยเกี่ยวกับที่ดินพิพาททั้งหมด เมื่อคณะกรรมการฯ ทำคำชี้ขาดและแจ้งจำเลยแล้ว จำเลยก็ต้องปฏิบัติตามศาลต้องบังคับให้เป็นไปตามคำชี้ขาดดังกล่าว

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ให้จำเลยไปยื่นคำขอแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมที่ดินพิพาทต่อสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร โดยให้ทำการรังวัดที่ดินทางด้านทิศเหนือตามแนวคันนาขนานกับลำรางสาธารณะยาวตลอดทิศตะวันตกจดทิศตะวันออกให้ได้เนื้อที่ 10 ไร่เป็นของจำเลย ด้านทิศใต้ของโฉนดจากที่เหลือเป็นของโจทก์เสียค่าใช้จ่ายคนละครึ่ง หากจำเลยไม่ไปก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่านางมุ้ มูหะหมัดตอเฮม นางเต๊ะ บุญมาเลิศ นายเฮมโก๊กหรือเฮมโก๊ด มะขยันนางฉิม สีใส รวมทั้งโจทก์และจำเลยเป็นบุตรของนายฮีมหรือโต๊ะฮิม นางเยาะที่ดินพิพาทตามโฉนดเอกสารหมาย จ.3 ตามหน้าโฉนดมีเนื้อที่ 21 ไร่ 2 งาน68 ตารางวา (แต่เนื้อที่ที่แท้จริงตามแผนที่วิวาทประมาณ 30 ไร่ 1 งาน11 ตารางวา) เดิมมีชื่อนายฮีมหรือโต๊ะฮีม บิดาโจทก์จำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เมื่อนายฮีมหรือโต๊ะฮีมถึงแก่กรรม บุตรทั้งหกคนได้ขอรับโอนมรดกใส่ชื่อตนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาท ต่อมาเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2495นางมุ้ มูหะหมัดตอเฮม นางเต๊ะ บุญมาเลิศ นายเฮมโก๊กหรือเฮมโก๊ด มะขยันและนางฉิม สีใส ได้จดทะเบียนทำนิติกรรมยกที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของตนให้แก่โจทก์และจำเลยดังปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1 และ จ.3 โฉนดที่ดินพิพาทจึงมีชื่อโจทก์จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันแต่นั้นเป็นต้นมาเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2514 โจทก์จำเลยได้ทำบันทึกตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.5 และยังไม่มีการรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินพิพาทตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า คณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานครเป็นอนุญาโตตุลาการชี้ขาดข้อพิพาทของโจทก์จำเลยโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และจำเลยมีส่วนในที่ดินพิพาทตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.5 เท่าใด

ปัญหาที่ว่าคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานครเป็นอนุญาโตตุลาการชี้ขาดข้อพิพาทของโจทก์จำเลยโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น โจทก์มีหะยีอับดุลเราะห์มาน เพียรมานะ กรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานครเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า โจทก์จำเลยและสามีจำเลยตกลงมอบข้อพิพาทเรื่องนี้ให้คณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานครวินิจฉัยชี้ขาดและได้ลงลายมือชื่อให้ไว้เป็นหลักฐานดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.2 อันเป็นการนำสืบตามประเด็นข้อกล่าวอ้างของโจทก์ มิใช่โจทก์ไม่นำสืบในประเด็นข้อนี้ดังคำแก้ฎีกาของจำเลย ประกอบกับคำฟ้องของโจทก์กล่าวอ้างว่าสามีจำเลยโดยความเห็นชอบของจำเลยและโจทก์ตกลงมอบเรื่องให้คณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานครเป็นอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาด จำเลยมิได้ให้การถึง ถือได้ว่าเป็นการยอมรับ ข้อนำสืบปฏิเสธของจำเลยในเรื่องนี้ฟังไม่ขึ้น ปรากฏว่า การตกลงมอบเรื่องให้คณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานครวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทตามเอกสารหมาย จ.2สามีจำเลยโดยความเห็นชอบของจำเลยและโจทก์ได้ทำขึ้นเมื่อวันที่ 14มีนาคม 2516 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์และจำเลยทำบันทึกข้อตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.5 และจำเลยกับสามีจดทะเบียนสมรสตามเอกสารหมาย ล.2 ถึงหนึ่งปีเศษ โดยข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.2 มีความว่านายสุไลมาน มะขยัน หมายถึงสามีจำเลยและโจทก์คู่กรณีเกี่ยวกับที่ดินของนางแมะ มะขยัน ขอให้ถ้อยคำยืนยันต่อหะยีอับดุลเราะห์มาน เพียรมานะ กรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานครดังต่อไปนี้ ข้อ 1. ทั้งสองฝ่ายยินยอมปฏิบัติตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานครโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้นข้อ 2. ทั้งสองฝ่ายยินยอมให้นำเอกสารคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานครเป็นหลักในการตัดสินชี้ขาดของศาลสถิตยุติธรรม และถือเป็นสัญญายินยอมของทั้งสองฝ่ายด้วยความเต็มใจ ข้อ 3.ทั้งสองฝ่ายขอรบัรองว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 2669 (หมายถึงที่ดินพิพาท) และส่วนเกินจากโฉนดดังกล่าวอยู่ในความปกครองของนางแมะ มะขยัน มาแต่เดิม สามีจำเลยและโจทก์ได้ลงลายมือชื่อท้ายข้อความในเอกสารดังกล่าวในฐานะคู่กรณี และจำเลยลงลายมือชื่อในฐานะพยาน ซึ่งจำเลยก็เบิกความรับรองลายมือชื่อของสามีจำเลยและยอมรับว่าได้มีการอ่านข้อความในเอกสารหมาย จ.2 ให้จำเลยฟังโดยถูกต้อง ถือได้ว่า ข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.2 เป็นข้อตกลงตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานครเป็นอนุญาโตตุลาการชี้ขาดข้อพิพาทของโจทก์จำเลยเกี่ยวกับที่ดินพิพาททั้งหมดและข้อเท็จจริงได้ความตามคำเบิกความของหะยีอับดุลเราะห์มาน เพียรมานะ พยานโจทก์ว่า อาศัยการซักถามคู่กรณีประกอบกับเอกสารหมาย จ.1 จ.2 จ.4 และ จ.5 คณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานครได้ทำคำชี้ขาดระบุให้จำเลยมีส่วนในที่ดินพิพาทเป็นจำนวนเพียง 10 ไร่ ส่วนที่เหลือนอกจากนั้นซึ่งรวมทั้งที่ปรากฏในโฉนดและที่เกินจากโฉนดดังกล่าวให้เป็นของโจทก์และนางสาวอามีนะ (น่าจะหมายถึงนางนะ หรืออามีนะ มูฮัมหมัด ตอเฮม ซึ่งมีส่วนจำนวนเพียง 1 ไร่ตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.5) ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.6ซึ่งประธานและคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร ได้แจ้งให้จำเลยปฏิบัติตามคำชี้ขาดข้างต้นแล้วตามเอกสารหมาย จ.7 จ.8 และ จ.9เช่นนี้ จำเลยก็ต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานครผู้ทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการตามข้อตกลงของโจทก์และจำเลย กรณีจึงต้องบังคับให้เป็นไปตามคำชี้ขาดดังกล่าวนั้น คดีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นอีก”

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมรวมสามศาลให้เป็นพับ

Share