แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้คัดค้านได้ร่วมประกอบธุรกิจการค้ากับผู้ตายทรัพย์สินที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการดังกล่าวจึงเป็นของผู้ตายและผู้คัดค้านร่วมกันเมื่อกิจการนั้นยังคงดำเนินอยู่ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1713วรรคแรกมีสิทธิร้องคัดค้านการที่ผู้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกและมีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ ทรัพย์ใดจะเกิดจากการประกอบกิจการร่วมกันของผู้ตายกับผู้คัดค้านหรือไม่ไม่เป็นประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในคดีนี้ ผู้ร้องและผู้คัดค้านร่วมกันแถลงต่อศาลชั้นต้นว่าคดีตกลงกันได้โดยจะขอเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันไม่คัดค้านกันอีกต่อไปตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่26มิถุนายน2535ข้อตกลงของผู้ร้องและผู้คัดค้านดังกล่าวเป็นการตกลงกันในประเด็นแห่งคดีบางข้อแม้จะมีการสืบพยานผู้ร้องและผู้คัดค้านต่อไปก็เป็นเรื่องที่ศาลจะต้องวินิจฉัยถึงสิทธิในการเป็นผู้จัดการมรดกและคุณสมบัติของผู้จะเป็นผู้จัดการมรดกตามกฎหมายเมื่อฟังว่าผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นผู้มีสิทธิและคุณสมบัติในการเป็นผู้จัดการมรดกตามกฎหมายแล้วก็จะต้องตั้งให้ทั้งสองฝ่ายเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันไปตามที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา138วรรคแรกแม้จะได้ความจากคำเบิกความของผู้ร้องว่ายอมตกลงตามที่ผู้พิพากษาไกล่เกลี่ยก็ไม่ปรากฎว่าข้อตกลงนั้นฝ่าฝืนต่อกฎหมายการไกล่เกลี่ยของผู้พิพากษาเพื่อให้คู่ความตกลงกันเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของผู้พิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา20ซึ่งย่อมเป็นไปตามความสมัครใจของคู่ความ
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายนิพนธ์ ว่องวิศวกิจ ผู้ตาย กับนางมลธิรา แซ่เหลี่ยงเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2535 นายพิพนธ์ถึงแก่กรรมด้วยโรคถุงน้ำดีอักเสบและท่่อน้ำดีอักเสบที่โรงพยาบาลพญาไท 2โดยมิได้ทำพินัยกรรม ขณะถึงแก่กรรมผู้ตายมีทรัพย์มรดกเท่าที่ทราบขณะนี้คือ ที่ดิน 2 แปลง พร้อมบ้านบนที่ดินดังกล่าวและเงินฝากที่ธนาคารสหธนาคาร จำกัด สาขาบางรัก รวม 2 บัญชีผู้ร้องมีปัญหาขัดข้องในการจัดการมรดก ทายาทอื่นของผู้ตายให้ความยินยอมให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านและแก้ไขคำร้องคัดค้านว่าผู้คัดค้านเป็นน้องชายร่วมบิดามารดาเดียวกับผู้ตาย ผู้คัดค้านกับผู้ตายได้ร่วมกันทำมาหาได้ในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ตั้งแต่ปี 2498มาเป็นเวลาประมาณ 30 ปี ผู้ร้องไม่มีอาชีพมั่นคงจึงไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย นางมลธิรา แซ่เหลียงมารดาผู้ร้องเป็นภรรยาของผู้ตายโดยมิได้จดทะเบียนสมรสกัน ในการทำมาค้าขายผู้คัดค้านจึงเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ร่วมและเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ผู้คัดค้านไปขอรับโอนมรดก เจ้าพนักงานไม่ดำเนินการให้ อ้างว่าต้องมีคำสั่งศาลตั้งเป็นผู้จัดการมรดกก่อนผู้คัดค้านมิได้เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมาย ขอให้มีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องและตั้งผู้คัดค้านเป็นหรือร่วมกับผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นางสาวหัทยา ว่องวิศวกิจ ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายนิพนธ์ ว่องวิศวกิจ ผู้ตาย ให้ผู้ร้องมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายและให้ยกคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้าน อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
ผู้คัดค้าน ฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่า ผู้ร้องเป็นบุตรของนายนิพนธ์ ว่องวิศวกิจ ผู้ตายซึ่งผู้ตายได้รับรองแล้วส่วนผู้คัดค้านเป็นน้องร่วมบิดามารดาเดียวกับผู้ตาย ผู้ตายถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2535 ผู้ร้องและผู้คัดค้านได้ตกลงขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกันไม่คัดค้านกันอีกต่อไป ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 26 มิถุนายน 2535
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านข้อแรกว่า ผู้คัดค้านเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายหรือไม่ ผู้คัดค้านอ้างตนเองเบิกความเป็นพยานยืนยันว่า ผู้คัดค้านทำมาหาได้ร่วมกับผู้ตายตลอดมา โดยประกอบกิจการรับซ่อมเครื่องไฟฟ้า เครื่องยนต์ เครื่องทำความเย็น ตู้เย็น มอเตอร์ โดยใช้ชื่อร้านว่า “นำเจริญการช่าง”ตามนามบัตรเอกสารหมาย ค.17 เกิดทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันโดยผู้คัดค้านมีนายนิคม พันธ์มาดี มาเบิกความสนับสนุนว่าพยานเคยประกอบกิจการเกี่ยวกับการรับซ่อมไดนาโม แอร์ เป็นต้น ร่วมกับผู้ตายและผู้คัดค้านมาจนถึงปี 2507 ต่อมาพยานไปทำการค้าอื่น แต่ผู้ตายกับผู้คัดค้านก็ยังคงร่วมกันประกอบกิจการดังกล่าวดังกล่าวต่อไปนอกจากนั้นผู้คัดค้านยังมีนางผ่องศรี ชีวเลิศอนันต์ ซึ่งเป็นน้องร่วมบิดามารดาเดียวกับผู้ตายและผู้คัดค้าน กับนายไพฑูรย์ มหานามและนายบุญช่วย กุลโคคกกรวด ซึ่งเป็นลูกจ้างทำงานให้แก่ผู้ตายและผู้คัดค้านมาเบิกความสนับสนุนคำเบิกความของผู้คัดค้านเช่นเดียวกัน เห็นว่า พยานผู้คัดค้านต่างไม่มีส่วนได้เสียกับผู้คัดค้านและผู้ตาย โดยเฉพาะนายนิคมมีอายุถึง 76 ปี เป็นผู้สูงอายุ เคยประกอบกิจการร่วมกับผู้ตายและผู้คัดค้าน และนางผ่องศรี ก็เป็นน้องร่วมบิดามารดาเดียวกับกับผู้ตายและผู้คัดค้าน ย่อมรู้เห็นการดำเนินกิจการของผู้ตายและผู้คัดค้านตามที่เบิกความจริง คำเบิกความย่อมมีน้ำหนักแก่การรับฟังส่วนผู้ร้องคงมีแต่ตัวผู้ร้องคนเดียวเบิกความลอย ๆ ว่า ผู้ตายจะทำมาหาได้กับผู้คัดค้านหรือไม่ ไม่ทราบ ไม่เคยเห็นผู้คัดค้านช่วยเหลือกิจการของผู้ตาย ผู้ตายไม่ได้ประกอบกิจการร้านนำเจริญการช่างร่วมกับผู้คัดค้าน โดยไม่มีพยานอื่นใดสนับสนุน ย่อมมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานของผู้คัดค้าน จึงฟังได้ตามที่ ผู้คัดค้านนำสืบว่า ผู้คัดค้านได้ร่วมประกอบธุรกิจการค้ากับผู้ตาย ขณะที่ผู้ตายไปนอนป่วยรักษาตัวที่โรงพยาบาลก็ปรากฎว่าธุรกิจดังกล่าวยังดำเนินต่อไปจนกระทั่งผู้ตายถึงแก่กรรม ทรัพย์สินที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการดังกล่าวจึงเป็นของผู้ตายและผู้คัดค้านร่วมกัน ส่วนที่ผู้ร้องเบิกความว่าที่ดินและบ้านตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ร.4 และ ร.5มีชื่อเป็นของผู้ตาย ผู้ตายเคยบอกว่าซื้อมาคนเดียวทำนองว่าที่ดินและบ้านมิใช่ทรัพย์อันเกิดจากการทำมาหาได้ร่วมกันของผู้ตายกับผู้คัดค้านนั้น เห็นว่า ทรัพย์ใดจะเกิดจากการประกอบกิจการร่วมกันของผู้ตายกับผู้คัดค้านหรือไม่นั้นไม่เป็นประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในคดีนี้เมื่อฟังว่าผู้คัดค้านได้ร่วมประกอบธุรกิจการค้ากับผู้ตายและกิจการนั้นยังคงดำเนินอยู่ ผู้ค้านค้านจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713วรรคแรก ที่มีสิทธิจะยื่นคำร้องคัดค้านการที่ผู้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และมีสิทธิจะร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ ฎีกาของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต่อไปเห็นควรวินิจฉัยว่า สมควรที่จะตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้ร้องหรือไม่ เห็นว่าผู้ร้องและผู้คัดค้านร่วมกันแถลงต่อศาลชั้นต้นว่า คดีตกลงกันได้โดยจะขอเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน ไม่คัดค้านกันอีกต่อไป ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 26 มิถุนายน 2535ข้อตกลงของผู้ร้องและผู้คัดค้านดังกล่าวเป็นการตกลงกันในประเด็นแห่งคดีบางข้อซึ่งแม้จะมีการสืบพยานผู้ร้องและผู้คัดค้านต่อไป ก็เป็นเรื่องที่ศาลจะต้องวินิจฉัยถึงสิทธิในการเป็นผู้จัดการมรดกและคุณสมบัติของผู้จะเป็นผู้จัดการมรดกตามกฎหมายเมื่อฟังได้ว่าผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นผู้มีสิทธิและคุณสมบัติในการเป็นผู้จัดการมรดกตามกฎหมายแล้ว ก็จะต้องตั้งให้ทั้งสองฝ่ายเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันไปตามที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 วรรคแรกแม้จะได้ความจากคำเบิกความของผู้ร้องว่ายอมตกลงตามที่ผู้พิพากษาไกล่เกลี่ยก็ไม่ปรากฎว่าข้อตกลงนั้นฝ่าฝืนต่อกฎหมายอย่างไร การไกล่เกลี่ยของผู้พิพากษาเพื่อให้คู่ความตกลงปรองดองกันเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของผู้พิพากษาอยู่แล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 20 ซึ่งย่อมเป็นไปตามความสมัครใจของคู่ความทุกฝ่าย เมื่อฟังว่าผู้คัดค้านเป็นผู้มีส่วนได้เสีย และไม่ปรากฎว่าผู้คัดค้านเป็นผู้ขาดคุณสมบัติในการเป็นผู้จัดการมรดก ผู้คัดค้านจึงสมควรเป็นผู้จัดการมรดกมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้ร้อง ที่ศาลล่างทั้งสองตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเพียงคนเดียวไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาของผู้คัดค้านข้อนี้ต่อไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ตั้งให้นางสาวหัทยา ว่องวิศวกิจ และนายสุรพล ว่องวิศวกิจ ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของนายนิพนธ์ ว่องวิศวกิจ ผู้ตายนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์