คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5010/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ให้จำเลยกู้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน หรือเท่ากับร้อยละ 24 ต่อปี เกินกว่าอัตราตามกฎหมายย่อมเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3 (ก) เมื่อไม่ปรากฏว่าการสั่งจ่ายเช็คแต่ละฉบับตามฟ้องแยกเป็นการชำระเงินต้นเท่าใด ชำระดอกเบี้ยเท่าใด จึงถือว่าเช็คตามฟ้องทั้ง 7 ฉบับ ที่จำเลยสั่งจ่ายแก่โจทก์ได้รวมดอกเบี้ยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเอาไว้ทุกฉบับ แม้ธนาคารตามเช็คจะปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้ง 7 ฉบับจำเลยก็ไม่มีความผิดตามฟ้อง

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสามสำนวนว่าโจทก์และเรียกจำเลยทั้งสามสำนวนว่าจำเลย
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามสำนวนขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสามสำนวนไม่ได้ให้การ ถือว่าจำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 7 กระทง ลงโทษจำคุกกระทงละ 1 เดือน รวมจำคุก 7 เดือน
จำเลยทั้งสามสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามสำนวนฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คตามฟ้องรวม 7 ฉบับ ให้แก่โจทก์ เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์นำบัญชีของโจทก์เพื่อเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้ง 7 ฉบับ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จำเลยฎีกาประการแรกว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คทั้ง 7 ฉบับ แก่โจทก์ เพื่อชำระหนี้ค่าหวยใต้ดินที่โจทก์เป็นเจ้ามือรายใหญ่โดยจำเลยเป็นตัวแทนจำหน่าย ต้องนำเงินที่ขายหวยใต้ดินได้ส่งให้แก่โจทก์ ต่อมาเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายแก่โจทก์เป็นค่าขายหวยใต้ดินดังกล่าวเรียกเก็บเงินไม่ได้จำนวนมาก โจทก์จึงยุติการให้จำเลยเป็นตัวแทนจำหน่ายและมีการคิดสรุปยอดหนี้กัน ปรากฏว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ 450,000 บาท โจทก์ให้จำเลยสั่งจ่ายเช็คจำนวน 9 ฉบับ แก่โจทก์เป็นเงินฉบับละ 50,000 บาท ซึ่งจำเลยชำระเงินตามเช็ค 2 ฉบับแรกให้แก่โจทก์แล้ว คงเหลือเช็คตามฟ้องอีก 7 ฉบับ ที่เรียกเก็บเงินไม่ได้ ในปัญหาดังกล่าว โจทก์มีตัวโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2539 จำเลยมาขอกู้ยืมเงินจากโจทก์จำนวน 450,000 บาท โจทก์มอบเงินสดให้จำเลย และให้จำเลยลงชื่อเป็นผู้กู้ตามสัญญากู้ยืมเงิน จำเลยได้สั่งจ่ายเช็ค 2 ฉบับ ชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวแก่โจทก์ เช็คฉบับแรกสั่งจ่ายเงิน 300,000 บาท ฉบับที่สองสั่งจ่ายเงิน 150,000 บาท แต่เช็คทั้ง 2 ฉบับ เรียกเก็บเงินไม่ได้ จำเลยจึงสั่งจ่ายเช็คให้ใหม่รวม 9 ฉบับ จำนวนเงินฉบับละ 50,000 บาท ซึ่งรวมทั้งเช็คตามฟ้อง 7 ฉบับนี้ด้วย เห็นว่า โจทก์มีสัญญากู้ยืมเงินซึ่งจำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้มาแสดง สอดคล้องกับจำนวนเงินตามเช็ค 9 ฉบับ ที่จำเลยสั่งจ่ายให้แก่โจทก์ ซึ่งโจทก์นำมาฟ้อง 7 ฉบับ ส่วนที่จำเลยนำสืบว่าเช็คทั้ง 9 ฉบับ สั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้ค่าขายหวยใต้ดิน เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ มิได้มีพยานบุคคล พยานเอกสารหรือพยานแวดล้อมอื่นใดมาสนับสนุน ทั้งยังได้ความจากโจทก์ด้วยว่ามีการคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงิน 450,000 บาท กันด้วย ซึ่งถ้าจำเลยเป็นหนี้ค่าขายหวยใต้ดินกับโจทก์ดังที่กล่าวอ้างก็ไม่น่าจะมีการคิดดอกเบี้ยกันเช่นนั้นเพราะจำเลยมิได้รับเงินใดๆ ไปจากโจทก์ ประกอบกับจำเลยยินยอมชำระเงินตามเช็ค 2 ฉบับ จำนวน 100,000 บาท ให้แก่โจทก์ด้วย พยานหลักฐานจำเลยในส่วนนี้จึงมีน้ำหนักน้อย ไม่อาจรับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คตามฟ้อง 7 ฉบับ ชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์
จำเลยฎีกาในประการต่อมาว่า เช็คตามฟ้องทั้ง 7 ฉบับ ได้รวมดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ข้อนี้ได้ความจากตัวโจทก์ว่าโจทก์มีอาชีพปล่อยเงินกู้ด้วย คิดดอกเบี้ยจากผู้กู้ในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน สำหรับสัญญากู้ยืมเงินที่ทำกับจำเลยนั้น ระบุว่าจำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์จำนวน 450,000 บาท เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2539 กำหนดชำระเงินกู้ยืมคืนภายในวันที่ 7 ตุลาคม 2539 โดยโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ในวันทำสัญญากู้ยืมเงินได้หักดอกเบี้ยที่คิดจากจำเลยในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน เป็นเงิน 27,000 บาท ได้มอบเงินสดแก่จำเลย 450,000 บาท แล้วจำเลยคืนเงินค่าดอกเบี้ยแก่โจทก์ 27,000 บาท จำเลยคงได้รับเงินไปจากโจทก์ในวันนั้น 423,000 บาท ดังนี้เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ให้จำเลยกู้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน หรือเท่ากับร้อยละ 24 ต่อปี เกินกว่าอัตราตามกฎหมายย่อมเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) เมื่อไม่ปรากฏว่าการสั่งจ่ายเช็คแต่ละฉบับตามฟ้องแยกเป็นการชำระเงินต้นเท่าใด ชำระดอกเบี้ยเท่าใด จึงถือว่าเช็คตามฟ้องทั้ง 7 ฉบับ ที่จำเลยสั่งจ่ายแก่โจทก์ได้รวมดอกเบี้ยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเอาไว้ด้วยทุกฉบับ แม้ธนาคารตามเช็คจะปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้ง 7 ฉบับ จำเลยก็ไม่มีความผิดตามฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังขึ้น และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยต่อไป”
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

Share