คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 501-503/2525

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยปลอมใบสมัครสมาชิกประเภทสวัสดิการสงเคราะห์หนังสือรับรองวันมรณะ สำเนาใบมรณะ สำเนาทะเบียนบ้านและใช้เอกสารปลอมเหล่านั้น ก็โดยมีเจตนาที่จะใช้เป็นหลักฐานในการหลอกลวงบริษัทประกันชีวิต เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกันตั้งแต่จำเลยปลอมไปจนถึงวันที่ใช้เอกสารปลอมฉบับสุดท้ายเพื่อรับเงินจากบริษัท ไม่ว่าจะใช้เอกสารปลอมพร้อมกันครั้งเดียวหรือใช้คนละครั้ง จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามสำนวนมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268 จำเลยปลอมเอกสารและใช้เอกสารเอง จึงลงโทษตามมาตรา 268 ตามโทษที่กำหนดไว้ในมาตรา 265สำนวนที่หนึ่ง ความผิดฐานปลอมใบสมัครสมาชิกประเภทสวัสดิการสงเคราะห์จำคุก 8 เดือน ฐานปลอมสำนวนใบมรณบัตรและสำเนาทะเบียนบ้านจำคุก 8 เดือน ฐานปลอมหนังสือรับรองวันมรณะ จำคุก 8 เดือน สำนวนที่สอง ความผิดฐานปลอมใบสมัครสมาชิกฯ จำคุก 8 เดือน ฐานปลอมแบบขอเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสาร จำคุก 8 เดือน ฐานปลอมหนังสือรับรองวันมรณะ จำคุก 8 เดือน และฐานปลอมสำเนาเอกสารแสดงการตายของนางจันทร์ของสำนักทะเบียนตำบลและสำเนาทะเบียนบ้าน จำคุก8 เดือน สำนวนที่สามความผิดฐานปลอมใบสมัครสมาชิกฯ จำคุก 8เดือน ฐานปลอมแบบขอเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสาร จำคุก 8 เดือน ฐานปลอมหนังสือรับรองวันมรณะ จำคุก 8 เดือน ฐานปลอมสำเนาใบมรณะบัตรและทะเบียนบ้านจำคุก 8 เดือน รวมจำคุก 7 ปี 4 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามมาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 8 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้วางโทษจำคุกจำเลยสำนวนละ 8 เดือน รวมเป็นจำคุก 2 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี โจทก์ทั้งสามสำนวนฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปัญหามีว่า การที่จำเลยแต่ละสำนวนปลอมเอกสารหลายฉบับและใช้เอกสารปลอมเหล่านี้หลอกลวงบริษัทกรุงเทพประกันชีวิต จำกัด เพื่อรับเงินจากบริษัท เป็นการกระทำกรรมเดียวหรือต่างกรรมต่างวาระ เห็นว่า การที่จำเลยปลอมและใช้เอกสารปลอมก็โดยมีเจตนาที่จะใช้เป็นหลักฐานในการหลอกลวงบริษัทกรุงเทพประกันชีวิต จำกัด นั่นเอง มีลักษณะเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกันตั้งแต่จำเลยปลอมไปจนถึงวันที่จำเลยใช้เอกสารปลอมเหล่านั้นเพื่อรับเงินจากบริษัทไม่ว่าจำเลยจะใช้เอกสารปลอมเหล่านั้นพร้อมกันครั้งเดียวหรือใช้คนละครั้งดังที่โจทก์ฎีกา เพราะจุดประสงค์ในการหลอกลวงโดยการใช้เอกสารปลอมนี้ย่อมต่อเนื่องกันไปจนถึงวันใช้เอกสารปลอมฉบับสุดท้าย ฉะนั้น การกระทำของจำเลยแต่ละสำนวนจึงเป็นกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ศาลอุทธรณ์อ้างว่า คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้ถูกต้องแล้ว

ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าไม่ควรรอการลงโทษจำเลยนั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องพิจารณาสิทธิของคู่ความเป็นรายสำนวนว่าจะฎีกาในข้อเท็จจริงหรือไม่ สำหรับสำนวนที่หนึ่ง ศาลชั้นต้นเรียงกระทงลงโทษจำเลย เมื่อลดรับสารภาพให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก 1 ปี ศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำเลยไม่เกินกำหนดดังกล่าวและรอการลงโทษไว้ จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 219 ที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ในสำนวนแรก ส่วนสำนวนที่สองและสำนวนที่สามศาลชั้นต้นพิพากษาเรียงกระทงลงโทษจำเลยแต่ละสำนวน เมื่อลดรับสารภาพแล้วคงจำคุกจำเลยสำนวนละ 1 ปี 4 เดือน แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ลงโทษจำเลยแต่ละสำนวนเป็นกรรมเดียว ลดรับสารภาพแล้วคงจำคุกสำนวนละ 4 เดือนและรอการลงโทษจำเลยไว้ จึงเป็นการแก้ไขมาก โจทก์จึงฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 และศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยเคยดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านรู้ผิดชอบดี สภาพความผิดที่จำเลยกระทำไปแสดงว่ามีแผนการวางไว้ล่วงหน้า แล้วจึงดำเนินการไปตามขั้นตอน ที่จำเลยยอมใช้เงินคืนแก่บริษัทกรุงเทพประกันชีวิต จำกัด ก็เพื่อต้องการระงับความผิดฐานฉ้อโกงหาใช่สำนึกในความผิดที่จำเลยกระทำไปแต่อย่างเดียวไม่ไม่ใช่เหตุอันควรปรานี จึงไม่สมควรรอการลงโทษจำเลยในสำนวนที่สองและที่สาม ฎีกาบางส่วนของโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยในสำนวนที่สองและสำนวนที่สาม โดยไม่รอการลงโทษ นับโทษจำเลยในสำนวนที่สามต่อจากโทษในสำนวนที่สอง นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”

Share