คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5007/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ที่ดินที่โจทก์จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายต่อกันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินจำเลยมีจุดประสงค์สำคัญจะนำที่ดินที่ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์ไปขอออกโฉนดที่ดินขณะทำสัญญาโจทก์ครอบครองอาศัยอยู่ในที่ดินโดยปลูกสร้างอยู่อย่างถาวร มีสำเนาทะเบียนบ้านถูกต้องย่อมเป็นเหตุผลให้จำเลยเข้าใจได้ว่าที่ดินของโจทก์สามารถขอออกโฉนดได้ เมื่อจำเลยทำสัญญากับโจทก์โดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญ แห่งนิติกรรมสัญญาดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156โจทก์จำเลยปราศจากข้อผูกพันในอันจะต้องปฏิบัติตามสัญญาเสมือนหนึ่งไม่มีข้อสัญญาต่อกัน โจทก์ไม่อาจอาศัยผลบังคับของสัญญาข้อหนึ่งข้อใดที่ตกเป็นโมฆะแล้วมาริบเงินมัดจำหรือบังคับให้จำเลยชำระเงินมัดจำตามสัญญาได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยส่งมอบต้นฉบับแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 2 หมู่ที่ 4 ตำบลบางปู อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการฉบับลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2498 และสัญญาขายสิทธิครอบครองที่ดินระหว่างนางวิมล ศาลยาชีวิน กับโจทก์ ฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน 2503 จำนวน 2 ฉบับคืนแก่โจทก์ และให้จำเลยชำระเงินจำนวน 645,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 600,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยคืนต้นเงินฉบับแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 2 หมู่ที่ 4 ตำบลบางปู อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ฉบับลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2498 และสัญญาขายสิทธิครอบครองที่ดินระหว่างนางวิมล ศาลยาชีวิน กับโจทก์ ฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน 2503 จำนวน 2 ฉบับ แก่โจทก์ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 มกราคม 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องให้ไม่เกินจำนวน 45,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ แต่ให้จำเลยคืนแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 2 หมู่ที่ 4 ตำบลบางปู อำเภอเมืองสมุทรปราการจังหวัดสมุทรปราการ ฉบับลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2498 และสัญญาขายสิทธิครอบครองที่ดินระหว่างนางวิมล ศาลยาชีวิน กับโจทก์ ฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน 2503 จำนวน 2 ฉบับ แก่โจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อแรกว่า ที่ดินที่จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์ ตามสัญญาจะซื้อจะขายสิทธิการครอบครองที่ดินเอกสารหมาย จ.4หรือ ล.3 เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ จากคำเบิกความของนายธวัชชัยเปล่งสงวน ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ซึ่งเป็นบุตรชายของโจทก์ได้ความว่า ที่ดินที่โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับจำเลยเดิมเป็นของนายสวัสดิ์หรือเช็งหลี พึ่งสมบูรณ์นายสวัสดิ์ขายที่ดินดังกล่าวแก่นางวิมล ศาลยาชีวิน นางวิมลขายต่อให้โจทก์มีหลักฐานเป็น ส.ค.1 เลขที่ 2 เนื้อที่ 15 ไร่ 1 งาน 47 ตารางวา ตามหลักฐานเอกสารหมาย จ.3 หรือสำเนาเอกสารหมาย จ.5 นางวิมลมอบที่ดินให้โจทก์ดูแลตั้งแต่ก่อนซื้อขายกัน เห็นว่า โจทก์ซื้อสิทธิการครอบครองที่ดินตาม ส.ค.1เลขที่ 2 หมู่ที่ 4 ตำบลบางปู อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการมาจากนางวิมล แต่ปรากฏว่าที่ดินแปลงดังกล่าวศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2125/2517 ในคดีที่กรมชลประทานเป็นโจทก์ฟ้องขับไล่นางวิมลจำเลยเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2517 ตามเอกสารหมาย จ.8 ว่าเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเพื่อการชลประทาน ให้นางวิมลพร้อมบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินและไม่ให้เข้าเกี่ยวข้องอีกต่อไป ชั้นบังคับคดีต่อโจทก์ในฐานะบริวารของนางวิมล โจทก์ได้ยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลอ้างว่าโจทก์มิใช่บริวารของนางวิมลศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้ยกคำร้องของโจทก์ ปรากฏตามคำสั่งของศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เอกสารหมาย จ.16 และ จ.18 โดยศาลอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินจากนางวิมล ทั้งนางวิมลและโจทก์ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท โจทก์อยู่ในที่ดินพิพาทก็โดยอาศัยสิทธิของนางวิมล โจทก์จึงอยู่ในที่ดินพิพาทในฐานะบริวารของนางวิมลโจทก์ฎีกาต่อมา ศาลฎีกาเห็นว่าคดียังไม่มีการออกคำบังคับตามกฎหมายจะถือว่านางวิมลและบริวารไม่ปฏิบัติตามคำบังคับกล่าวคือ ไม่ยอมออกจากที่ดินพิพาทไม่ได้ให้ยกคำร้องของกรมชลประทานในฐานะโจทก์ จากพยานหลักฐานดังกล่าวข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินที่โจทก์จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายต่อกันตามเอกสารหมาย จ.4 นั้น เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน คดีมีข้อวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมหรือไม่ จำเลยเบิกความว่า จำเลยประกอบธุรกิจมีโรงงานผลิตไม้ปาร์เกต์ส่งขายต่างประเทศ ที่ดินที่ใช้ตั้งโรงงานจำเลยจะซื้อเฉพาะที่ดินมีโฉนดเท่านั้น จำเลยซื้อที่ดินพิพาทเพื่อทำโรงงานหรือโกดังเก็บสินค้า เมื่อพิจารณาคำเบิกความของจำเลยประกอบกับสัญญาจะซื้อจะขายสิทธิการครอบครองที่ดินเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 3ซึ่งระบุว่าเงินงวดสุดท้าย 10,000,000 บาท จำเลยจะชำระแก่โจทก์ภายใน 8 เดือนนับแต่เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินตามสัญญาเสร็จเรียบร้อยแล้ว แสดงว่าจำเลยมีจุดประสงค์สำคัญจะนำที่ดินที่ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์ไปขอออกโฉนดที่ดิน ปรากฏว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินบางส่วนของที่ ส.ค.1 เลขที่ 2หมู่ที่ 4 ตำบลบางปู อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ โดยมีหลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดินของกรมที่ดินเอกสารหมาย จ.5 ขณะทำสัญญาโจทก์ครอบครองอาศัยอยู่ในที่ดินโดยปลูกสร้างอยู่อย่างถาวร มีสำเนาทะเบียนบ้านถูกต้อง กรณีดังกล่าวย่อมเป็นเหตุผลทำให้จำเลยเข้าใจไปได้ว่าที่ดินของโจทก์สามารถขอออกโฉนดได้ จำเลยทำธุรกิจมีโรงงานผลิตไม้ปาร์เกต์ส่งขายต่างประเทศจำเลยตั้งใจซื้อที่ดินทำโรงงานหรือโกดังเก็บสินค้าที่ดินที่จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์มีเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ ราคาถึง 11,000,000 บาท แสดงว่าจำเลยคงไม่มีความประสงค์จะเสียเงินจำนวนมากเพื่อซื้อที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินอย่างแน่นอน แม้ตามสัญญาจะซื้อจะขายสิทธิการครอบครองที่ดินเอกสารหมาย จ.4 จะมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1652/2534 แนบท้ายสัญญาและถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาก็ตาม เพราะคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวเป็นคำพิพากษาที่วินิจฉัยว่ากรมชลประทานซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวไม่อาจบังคับคดีต่อผู้ร้อง (โจทก์ในคดีนี้)ในฐานะบริวารจำเลย (นางวิมล ศาลยาชีวิน) ได้ เนื่องจากศาลยังมิได้ออกคำบังคับแก่จำเลยและบริวาร การที่โจทก์นำคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1652/2534 มาแนบท้ายสัญญา คงจะเพื่อแสดงให้เห็นว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิในที่ดิน กรณีดังกล่าวมิได้เป็นข้อสนับสนุนว่าจำเลยได้ทราบถึงสภาพของที่ดินว่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้วน่าเชื่อว่าหากจำเลยทราบว่าที่ดินดังกล่าวเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งบุคคลทั่วไปไม่อาจอ้างสิทธิใด ๆ ในที่ดินได้แล้ว จำเลยก็คงจะไม่เข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายสิทธิการครอบครองที่ดินกับโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยทำสัญญาดังกล่าวกับโจทก์โดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมสัญญาดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156 โจทก์จำเลยปราศจากข้อผูกพันในอันจะต้องปฏิบัติตามสัญญาเสมือนหนึ่งไม่มีข้อสัญญาต่อกัน โจทก์ไม่อาจอาศัยผลบังคับของสัญญาข้อหนึ่งข้อใดที่ตกเป็นโมฆะไปแล้วมาริบเงินมัดจำหรือบังคับให้จำเลยชำระเงินมัดจำตามสัญญาได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share