แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 มาตรา 30 บัญญัติไว้อย่างกว้างมุ่งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจ่ายเงินค่าทดแทนตามความเป็นธรรมมีเจตนารมณ์เช่นเดียวกับ พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 จึงต้องนำวิธีการกำหนดเงินค่าทดแทนความเสียหายตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 มาใช้บังคับโดยอนุโลม โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเงินค่าทดแทนสำหรับอสังหาริมทรัพย์ส่วนที่เหลือจากถูกแนวเขตสายส่งไฟฟ้าอันมีราคาลดลงได้
พ.ร.บ. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 มาตรา 30 ทวิ วรรคสาม กำหนดให้คิดดอกเบี้ยของเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้น นับแต่วันที่ต้องมีการจ่าย วางหรือฝากเงินค่าทดแทนนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งโจทก์ให้มารับเงินในวันที่ 2 พฤษภาคม 2538 เวลา 10 นาฬิกา แต่โจทก์ไม่ไปรับเงินค่าทดแทนภายในกำหนดเวลาดังกล่าว จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องวางหรือฝากเงินค่าทดแทนโดยพลันในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 3 พฤษภาคม 2538 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2538
จำเลยที่ 2 เป็นผู้ว่าการของจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำการแทนจำเลยที่ 1 และการจ่ายเงินค่าทดแทนเป็นกิจการของจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่จ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างระบบไฟฟ้าสายส่งของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย แต่หาต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 6,710,889.86 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 5,362,600 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นอีกจำนวน 468,724.95 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินนับตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 22 กันยายน 2540) เป็นต้นไป ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นอีก 297,657.45 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย และเป็นผู้จัดการมรดกของนายชิตชัย จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ว่าการซึ่งมีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 นายชิดชัยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 5017 ถึง 5023 และ 5322 ถึง 5328 ตำบลมุกดาหาร อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร รวม 14 แปลง เนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 21 ตารางวา เมื่อปี 2536 จำเลยที่ 1 มีโครงการก่อสร้างระบบไฟฟ้าสายส่ง 115 กิโลโวลต์ มุกดาหาร – สุวรรณเขต ปี 2537 จำเลยที่ 1 ประกาศกำหนดเขตเดินสายไฟฟ้า ปี 2539 จำเลยที่ 1 ก่อสร้างเสาไฟฟ้าและเดินสายส่งไฟฟ้าโดยสายส่งไฟฟ้าพาดผ่านที่ดินของนายชิตชัยทั้ง 14 แปลง รวมเนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 60.30 ตารางวา จำเลยที่ 1 จ่ายเงินค่าทดแทนแก่นายชิตชัยตามที่คณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนฯ มีมติเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2537 ให้ใช้ราคาที่ดินตามบัญชีกำหนดจำนวนทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินจังหวัดมุกดาหารที่ประกาศใช้ในปี 2535 ถึงปี 2538 เป็นฐานในการคำนวณเงินค่าทดแทนและตามประเภทการทำประโยชน์ในที่ดินคือเป็นที่ตั้งเสาไฟฟ้า ที่บ้าน ที่สวน ที่นา สำหรับที่ดินนายชิตชัยเป็นที่บ้านจ่ายให้ร้อยละ 90 ของราคาประเมินที่ดินจึงกำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดิน 44,477.55 บาท และเงินค่าทดแทนสำหรับต้นไม้ 220 บาท รวมเป็นเงิน 44,697.55 บาท แต่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายชิตชัยไม่ยอมรับ จำเลยที่ 1 จึงนำเงินจำนวนดังกล่าวไปฝากธนาคารออมสิน สาขามุกดาหาร เพื่อให้นายชิตชัยรับไป ต่อมาวันที่ 18 กันยายน 2540 คณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนฯ มีมติให้จ่ายเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินแก่นายชิตชัยเพิ่มอีก 77,449.95 บาท แต่โจทก์ก็ยังไม่พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนดังกล่าว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ข้อแรกว่า เงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินที่คณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนกำหนดให้แก่โจทก์นั้นถูกต้องและเป็นธรรมหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจ่ายเงินค่าทดแทนตามความเป็นธรรมแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นในกรณีดังต่อไปนี้
(1) การใช้ที่ดินปักหรือตั้งเสาเพื่อเดินสายส่งไฟฟ้าหรือสายจำหน่ายไฟฟ้า
(2) การใช้ที่ดินปักหรือตั้งสถานีไฟฟ้าย่อยหรืออุปกรณ์อื่น
(3) การใช้ที่ดินที่ประกาศกำหนดเป็นเขตเดินสายไฟฟ้า
(4) การกระทำตามมาตรา 29 (3)
มาตรา 29 ในการส่งและการจ่ายพลังงานไฟฟ้า ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมีอำนาจ
(1)
(2)
(3) รื้อถอนโรงเรือนหรือทำลายสิ่งอื่นที่สร้างขึ้นหรือทำขึ้นหรือทำลายหรือตัดฟัน ตัดต้น กิ่ง หรือรากของต้นไม้หรือพืชผลในเขตเดินสายไฟฟ้า
จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า กฎหมายบัญญัติไว้กว้าง ๆ ว่าให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินค่าทดแทนตามความเป็นธรรมให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นเท่านั้น พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มีเจตนารมณ์เช่นเดียวกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ซึ่งต่างมุ่งประสงค์ที่จะให้มีการจ่ายเงินค่าทดแทนให้เป็นธรรมแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่น พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้กว้าง ๆ แต่เพียงว่าให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินค่าทดแทนตามความเป็นธรรมเท่านั้น ไม่ได้บัญญัติถึงรายละเอียดของหลักเกณฑ์ที่จะให้นำมาใช้คำนึงในการกำหนดและจ่ายเงินค่าทดแทนอย่างเป็นธรรมไว้เหมือนอย่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง
ดังนั้น การที่จะกำหนดและจ่ายเงินค่าทดแทนตามความเป็นธรรมตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง นั้น จึงควรคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ ในทำนองเดียวกันกับที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) เพื่อใช้เป็นฐานในการกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นด้วย ศาลจึงเห็นสมควรให้นำราคาซื้อขายที่ดินในท้องตลาดและหลักเกณฑ์อื่น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 21 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาประกอบการพิจารณาในการกำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้แก่โจทก์ด้วย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 เพิ่มเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์เป็นอัตราร้อยละ 90 ของที่ดินตารางวาละ 500 บาท คืออัตราตารางวาละ 450 บาท เนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 60.30 ตารางวา เป็นเงิน 342,135 บาท นั้น เหมาะสมและเป็นธรรมแล้ว
ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอค่าเสื่อมราคาของที่ดินที่เหลือจากถูกแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้านั้น เห็นว่า แม้พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มาตรา 30 จะมิได้บัญญัติให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่เหลือจากถูกแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้าไว้ก็ตามแต่จากบทบัญญัติมาตรานี้ได้บัญญัติไว้ว่า ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจ่ายเงินค่าทดแทนตามความเป็นธรรมแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นและศาลฎีกาได้นำพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 มาใช้ในการกำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้แก่โจทก์โดยอนุโลมแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าเสื่อมราคาของที่ดินส่วนที่เหลือจากถูกแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้าหรือราคาที่ลดลงของที่ดินดังกล่าวนี้ได้ ที่ดินส่วนที่เหลือจากถูกแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้านี้อยู่ติดต่อกับแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้าไปจนถึงส่วนที่อยู่ห่างที่สุดห่างจากแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้าประมาณ 25 เมตร ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ใกล้กับแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้าทำให้ศักยภาพและความเหมาะสมที่จะใช้ปลูกสร้างเป็นที่อยู่อาศัยน้อยลงกว่าเดิม ย่อมส่งผลให้ที่ดินดังกล่าวมีราคาลดลง เห็นสมควรกำหนดเงินค่าทดแทนส่วนนี้ตารางวาละ 200 บาท เนื้อที่ 2 ไร่ 3 งาน 60.70 ตารางวา เป็นเงิน 232,140 บาท ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อต่อไปว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยตั้งแต่เมื่อใด เห็นว่า พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มาตรา 30 ทวิ วรรคสาม บัญญัติว่า “ในกรณีที่ศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้น ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน ในจำนวนที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายเงิน วางหรือฝากเงินค่าทดแทนนั้น” ข้อเท็จจริงได้ความจากหนังสือของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งให้นายชิตชัยทราบว่าจำเลยที่ 1 จะจ่ายเงินค่าทดแทนในวันที่ 2 พฤษภาคม 2538 เวลา 10 นาฬิกา ให้นายชิตชัยไปติดต่อขอรับเงินค่าทดแทนในวันเวลาดังกล่าว ดังนั้น เมื่อฝ่ายโจทก์ไม่ไปรับเงินตามวันเวลาที่จำเลยที่ 1 นัดหมาย จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องวางหรือฝากเงินค่าทดแทนนั้นโดยพลัน จึงต้องดำเนินการวางเงินหรือฝากเงินดังกล่าวในวันรุ่งขึ้น คือ วันที่ 3 พฤษภาคม 2538 อันเป็นวันที่ต้องมีการวางหรือฝากเงินค่าทดแทน จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2538 ในเงินค่าทดแทนที่ศาลวินิจฉัยให้เพิ่มขึ้นนี้ด้วย ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2538 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อสุดท้ายว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าทดแทนแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง กำหนดให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ว่าการของจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำการแทนจำเลยที่ 1 และการจ่ายเงินค่าทดแทนแก่โจทก์อันเนื่องมาจากการก่อสร้างระบบไฟฟ้าสายส่ง 115 กิโลโวลต์ มุกดาหาร – สุวรรณเขต นั้น เป็นกิจการของจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่จ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างระบบไฟฟ้าสายส่งดังกล่าว ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าทดแทนแก่โจทก์ได้ แต่จำเลยที่ 2 หาต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวต่อโจทก์แต่อย่างใดไม่ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นจำนวน 529,797.45 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยตามอัตราที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 กำหนด โดยอัตราดอกเบี้ยก่อนวันฟ้องต้องไม่เกินร้อยละ 10.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอด้วย ส่วนวันเริ่มต้นคิดดอกเบี้ยให้คิดตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2538 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกา ส่วนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีเพิ่มขึ้นจากคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 โดยกำหนดค่าทนายความรวม 30,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4.