คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4997/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ในวันนัดจดทะเบียนขายฝากที่ดิน โจทก์ให้จำเลยที่ 1 พาโจทก์ไปดูที่ดินที่จะขายฝาก จำเลยที่ 1 กลับชี้ให้โจทก์ดูที่ดินของผู้อื่นซึ่งอยู่ติดถนนลาดยางแปลงเดียวกับที่จำเลยที่ 2 เคยพาบุคคลอื่นไปดู ซึ่งมิใช่ที่ดินของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 มีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 2 หลอกลวงโจทก์ให้รับซื้อฝากที่ดินต่อโจทก์ ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 2 เป็นเพียงนายหน้าของจำเลยที่ 1 หรือเป็นผู้ซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 แล้วนำไปขายต่อให้แก่โจทก์ และไม่ต้องคำนึงว่าโจทก์หวังผลกำไรจากการรับซื้อฝากที่ดินหรือไม่ เพราะมิใช่สาระสำคัญที่จะทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป การที่โจทก์หลงเชื่อและรับฝากที่ดินไว้จากจำเลยที่ 1 โดยเข้าใจว่าเป็นที่ดินแปลงที่อยู่ติดถนนลาดยางตามที่จำเลยที่ 1 นำชี้ ถือไม่ได้ว่าโจทก์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และเป็นกรณีที่โจทก์แสดงเจตนารับซื้อฝากที่ดินจากจำเลยที่ 1 โดยสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม อันเป็นสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 มีผลเท่ากับการขายฝากที่ดินมิได้เกิดมีขึ้น และไม่ก่อสิทธิใด ๆ แก่จำเลยที่ 1 ที่จะยึดถือเอาเงินของโจทก์ไว้ได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
โจทก์ตั้งเรื่องฟ้องจำเลยทั้งสองว่าร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองสมคบกันหลอกลวงโจทก์โดยนำชี้และอ้างว่าที่ดินของผู้อื่นซึ่งอยู่ติดถนนลาดยางเป็นที่ดินของจำเลยที่ 1 โจทก์หลงเชื่อ จึงรับซื้อฝากและมอบเงินให้แก่จำเลยทั้งสอง ความจริงแล้วที่ดินโฉนดดังกล่าวอยู่ห่างไกลถนนและมีราคาต่ำกว่าที่โจทก์รับซื้อฝากไว้มากหากโจทก์ทราบความจริงจะไม่รับซื้อฝาก การบรรยายฟ้องดังกล่าวเป็นการกล่าวถึงข้อเท็จจริงในลักษณะเล่าเรื่องให้เป็นที่เข้าใจตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องปรับข้อเท็จจริงเข้ากับตัวบทกฎหมายเพื่อวินิจฉัยคดี ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงและฟังว่าโจทก์แสดงเจตนารับซื้อฝากที่ดินจากจำเลยที่ 1 โดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สินตกเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 157 ก็ดี หรือศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยข้อเท็จจริงและฟังว่าโจทก์แสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 ก็ดี จึงเป็นการปรับข้อเท็จจริงที่ได้ความเข้ากับตัวบทกฎหมายเพื่อวินิจฉัยถึงสิทธิของคู่ความแต่ละฝ่าย ซึ่งหากจำเลยทั้งสองมิได้หลอกลวงโจทก์และโจทก์มิได้แสดงเจตนาโดยสำคัญผิดแล้ว จำเลยทั้งสองก็ไม่ต้องรับผิดคืนเงินให้แก่โจทก์ตามฟ้อง กรณีมิใช่เป็นการวินิจฉัยคดีนอกฟ้องหรือพิพากษาเกินไปกว่าคำฟ้อง
การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวงโจทก์ให้รับซื้อฝากที่ดินของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์หลงเชื่อและเสียเงินให้แก่จำเลยทั้งสองไป 1,500,000 บาท และมีคำขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์ 1,500,000 บาท เท่ากับราคาที่ดินที่ซื้อฝากซึ่งโจทก์ได้มอบให้แก่จำเลยทั้งสองไปนั้น มิใช่คำฟ้องในเรื่องละเมิดซึ่งมีอายุความ 1 ปี เพียงอย่างเดียว แต่มีลักษณะเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์สินของโจทก์คืนจากจำเลยทั้งสองผู้ไม่มีสิทธิที่จะยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ด้วย ซึ่งไม่มีกำหนดเวลาให้เจ้าของทรัพย์สินใช้สิทธิเช่นนี้ ส่วนดอกเบี้ยของเงินดังกล่าวซึ่งถือว่าเป็นค่าเสียหายนั้นคำฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาในความผิดฐานฉ้อโกง โจทก์ฟ้องคดีในระหว่างที่คดีอาญายังไม่เด็ดขาด จึงไม่ขาดอายุความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2539 จำเลยทั้งสองสมคบกันหลอกลวงโจทก์ โดยนำชี้และอ้างว่าที่ดินของผู้อื่นซึ่งอยู่ติดถนนลาดยางสายพุหวายห่างจากทางรถไฟสายใต้ ประมาณ 100 เมตร เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 19140 ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ (นายาง) จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ 9 ไร่ 1 งาน 11 ตารางวา ของจำเลยที่ 1 และเสนอขายฝากไว้แก่โจทก์ในราคา 1,950,000 บาท กำหนดไถ่คืนภายใน 1 ปี โจทก์หลงเชื่อ จึงรับซื้อฝากไว้และมอบเงิน 1,500,000 บาท ให้แก่จำเลยทั้งสอง ความจริงแล้วที่ดินโฉนดดังกล่าวอยู่ห่างไกลถนนและมีราคาต่ำกว่าที่โจทก์รับซื้อฝากมาก หากโจทก์ทราบความจริงจะไม่รับซื้อฝาก การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการจงใจละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย หากโจทก์นำเงินไปให้บุคคลอื่นกู้ยืมจะได้ดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยทั้งสองจึงต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 29 มีนาคม 2539 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 744,375 บาท โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีอาญาในความผิดฐานฉ้อโกงไว้แล้วเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2539 ตามคดีหมายเลขดำที่ 2125/2539 ของศาลชั้นต้น ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 2,244,375 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 1,500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ตกลงขายที่ดินโฉนดเลขที่ 19140 ให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 900,000 บาท มีข้อตกลงว่าจำเลยที่ 2 จะให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยที่ 2 หรือบุคคลใดตามความประสงค์ของจำเลยที่ 2 ก็ได้ ต่อมาวันที่ 29 มีนาคม 2539 ซึ่งเป็นวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน โจทก์และจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์โดยทำเป็นสัญญาขายฝาก เพื่อให้เสียค่าธรรมเนียมน้อยกว่าทำสัญญาซื้อขาย จำเลยที่ 1 ไม่เข้าใจเรื่องขายฝากและเห็นว่าคงไม่เสียหาย จึงจดทะเบียนขายฝากให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่เคยหลอกลวงโจทก์ให้รับซื้อฝากที่ดิน จำเลยที่ 1 ทราบว่าจำเลยที่ 2 นำที่ดินไปขายต่อให้แก่โจทก์ในราคา 1,500,000 บาท โจทก์มิได้ระมัดระวังตรวจสอบที่ดินให้ถูกต้องแน่ชัด จึงเป็นความประมาทเลินเล่อของโจทก์เอง จำเลยที่ 1 มีเจตนาสุจริตและมิได้คบคิดกับจำเลยที่ 2 ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง โจทก์หวังผลกำไรจากการรับซื้อฝากที่ดิน เมื่อที่ดินราคาตกต่ำเนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี โจทก์จะมาเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ไม่ได้ โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในข้อหาละเมิดและเรียกค่าเสียหาย เป็นฟ้องที่ขาดอายุความตามกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 มีนาคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้โจทก์จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 19140 ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ (นายาง) จังหวัดเพชรบุรี คืนแก่จำเลยที่ 1 ในวันที่โจทก์ได้รับชำระเงินครบถ้วน หากโจทก์ไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 15,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อประมาณกลางเดือนมีนาคม 2539 โจทก์ได้รับแจ้งจากนายนพรัตน์ เลาหพงษ์พันธ์ น้องชายโจทก์ว่า มีผู้ต้องการขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 19140 ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ (นายาง) จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ 9 ไร่ 1 งาน 11 ตารางวา ในราคา 1,500,000 บาท โดยนายนพรัตน์ได้รับการติดต่อจากนางปราณี นาคแสง ซึ่งทราบเรื่องจากจำเลยที่ 2 อีกต่อหนึ่ง ที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 1 ในการติดต่อเพื่อขายฝากที่ดิน จำเลยที่ 2 เคยพานายนพรัตน์และนางปราณีไปชี้ดูที่ดินของบุคคลอื่นซึ่งอยู่ติดถนนลาดยางสายพุหวายตามที่ดินแปลงหมายเลข 1 ในแผนที่สังเขปเอกสารหมาย จ.1 โดยอ้างว่าเป็นที่ดินที่ต้องการขายฝาก โจทก์สนใจรับซื้อฝากและมีการนัดหมายกัน จนในที่สุดเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2539 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 19140 ดังกล่าวให้แก่โจทก์มีกำหนด 1 ปี กำหนดสินไถ่เป็นเงิน 1,950,000 บาท ตามสำเนาหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินเอกสารหมาย จ.3 ต่อมาโจทก์ทราบความจริงว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 19140 ที่จำเลยที่ 1 ขายฝากให้แก่โจทก์มิได้อยู่ติดถนน แต่ต้องเดินเท้าเข้าไป และช่วงฤดูฝนไม่สามารถเข้าไปได้ ตามที่ดินแปลงหมายเลข 2 ในแผนที่สังเขปเอกสารหมาย จ.1 โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 คืนเงิน 1,500,000 บาท แต่จำเลยที่ 1 ไม่คืนให้ วันที่ 27 สิงหาคม 2539 โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีอาญาในความผิดฐานฉ้อโกง ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2125/2539 ของศาลชั้นต้น คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเนื่องจากคำฟ้องมิได้ลงลายมือชื่อผู้เรียงและพิมพ์ มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 หลอกลวงโจทก์ให้รับซื้อฝากที่ดิน และต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 คืนเงินให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยหรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ก่อนทำสัญญาขายฝากจำเลยที่ 1 ไม่เคยพาโจทก์หรือนายนพรัตน์หรือนางปราณีไปชี้ให้ดูที่ดินโฉนด 19140 แต่ดาบตำรวจประเสริฐ เทศลาภ สามีจำเลยที่ 1 เคยพานายหน้าไปดูที่ดิน 2 ครั้ง ครั้งแรกมีนายชาย สันตจิตติ์ และนายสมจิตร บุญเรือง ครั้งที่ 2 มีจำเลยที่ 2 และนางปราณีร่วมไปดูที่ดินด้วย พยานโจทก์เบิกความอย่างเลื่อนลอยและมีการซักซ้อมกันมา ไม่มีหลักฐานอื่นยืนยันได้ว่า จำเลยที่ 1 สมคบกับจำเลยที่ 2 หลวกลวงโจทก์ และเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ที่ไม่ตรวจสอบที่ดินให้ดีเสียก่อน เห็นว่า พยานโจทก์มีตัวโจทก์เบิกความว่า ในวันนัดจดทะเบียนขายฝากที่ดิน นางปราณีแนะนำให้โจทก์รู้จักกับจำเลยทั้งสอง โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 พาไปดูที่ดินก่อนทำสัญญาขายฝาก จำเลยที่ 1 แสดงท่าทีบ่ายเบี่ยง แต่ในที่สุดจำเลยที่ 1 ยอมพาโจทก์ไปดูที่ดินโดยมีจำเลยที่ 2 ร่วมเดิมทางไปด้วย ที่ดินที่จำเลยที่ 1 พาโจทก์ไปดูอยู่ติดถนนลาดยางสายพุหวาย ตรงกับที่ดินแปลงหมายเลข 1 ในแผนที่สังเขปเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งโจทก์มาทราบภายหลังว่าเป็นที่ดินของผู้อื่น นอกจากนี้โจทก์ยังมีนายนพรัตน์และนางปราณีเบิกความสนับสนุนว่าก่อนวันนัดจดทะเบียนขายฝากที่ดิน จำเลยที่ 2 เคยพาพยานทั้งสองไปดูที่ดิน ซึ่งก็คือที่ดินแปลงหมายเลข 1 ในแผนที่สังเขปเอกสารหมาย จ.1 เช่นเดียวกัน และต่อมาในวันนัดจดทะเบียนขายฝากที่ดิน จำเลยที่ 1 ยอมพาโจกท์ไปดูที่ดินอีกครั้งหนึ่งโดยพาโจทก์ไปดูที่ดินแปลงเดียวกับที่จำเลยที่ 2 เคยพาพยานทั้งสองไปดู ซึ่งสอดคล้องต้องกันกับคำเบิกความของโจทก์ และเมื่อพิเคราะห์ว่าโจทก์รับซื้อฝากที่ดินในราคาสูงถึง 1,500,000 บาท การที่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพาไปดูที่ดินด้วยตนเองก่อนทำสัญญาขายฝากย่อมเป็นเรื่องที่สมเหตุผลและน่าเชื่อถือว่าเป็นความจริง พยานจำเลยที่ 1 คือดาบตำรวจประเสริฐละนายสมจิตรก็เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านเจือสมกับคำเบิกความของพยานโจทก์ว่า ในวันนัดจดทะเบียนขายฝากที่ดินมีการพากันไปดูที่ดินอีกครั้งหนึ่งโดยจำเลยที่ 1 ร่วมเดินทางไปด้วย ซึ่งตามพฤติการณ์ไม่มีเหตุที่จะพากันไปดูที่ดินที่ไม่เกี่ยวข้องกับการขายฝากส่วนจำเลยที่ 1 คงเบิกความลอย ๆ เพียงว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยพาโจทก์ไปดูที่ดิน และในวันนัดจดทะเบียนขายฝากที่ดินไม่มีการไปชี้ที่ดินแปลงใด ๆ ซึ่งขัดกับคำเบิกความของพยานจำเลยที่ 1 ปากอื่นดังกล่าว พยานโจทก์จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อยิ่งกว่าพยานจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า ในวันนัดจดทะเบียนขายฝากที่ดิน โจทก์ให้จำเลยที่ 1 พาโจทก์ไปดูที่ดินที่จะขายฝาก จำเลยที่ 1 กลับชี้ให้โจทก์ดูที่ดินของผู้อื่นซึ่งอยู่ติดถนนลาดยางสายพุหวายแปลงเดียวกับที่จำเลยที่ 2 เคยพานายนพรัตน์ และนางปราณีไปดู ซึ่งมิใช่ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 19140 ของจำเลยที่ 1 พฤติการณ์แสดงว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 2 หลอกลวงโจทก์ให้รับซื้อฝากที่ดิน อย่างน้อยก็ในวันนัดจดทะเบียนขายฝากที่ดินอันเป็นการร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 2 เป็นเพียงนายหน้าของจำเลยที่ 1 ดังที่โจทก์นำสืบ หรือเป็นผู้ซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 แล้วนำไปขายต่อให้แก่โจทก์ดังที่จำเลยที่ 1 นำสืบ และไมต้องคำนึงว่าโจทก์หวังผลกำไรจากการรับซื้อฝากที่ดินดังที่จำเลยที่ 1 อ้างมาในฎีกาหรือไม่ เพราะมิใช่สาระสำคัญที่จะทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป การที่โจทก์หลงเชื่อและรับฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 19140 ไว้จากจำเลยที่ 1 โดยเข้าใจว่าเป็นที่ดินแปลงที่อยู่ติดถนนลาดยางพุหวายตามที่จำเลยที่ 1 นำชี้ ถือไม่ได้ว่าโจทก์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และเป็นกรณีที่โจทก์แสดงเจตนารับซื้อฝากที่ดินจากจำเลยที่ 1 โดยสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม อันเป็นสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม การขายฝากที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156 มีผลเท่ากับการขายฝากที่ดินมิได้เกิดมีขึ้น และไม่ก่อสิทธิใด ๆ แก่จำเลยที่ 1 ที่จะยึดถือเอาเงินของโจทก์ไว้ได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
มีปัญหาวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยคดีนอกฟ้องและพิพากษาเกินไปกว่าคำฟ้องไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 หรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะตั้งเรื่องฟ้องจำเลยทั้งสองว่าร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองสมคบกันหลอกลวงโจทก์โดยนำชี้และอ้างว่าที่ดินของผู้อื่นซึ่งอยู่ติดถนนลาดยางสายพุหวายเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 19140 ของจำเลยที่ 1 โจทก์หลงเชื่อ จึงรับซื้อฝากและมอบเงินให้แก่จำเลยทั้งสอง ความจริงแล้วที่ดินโฉนดดังกล่าวอยู่ห่างไกลถนนและมีราคาต่ำกว่าที่โจทก์รับซื้อฝากไว้มาก หากโจทก์ทราบความจริงจะไม่รับซื้อฝาก การบรรยายฟ้องดังกล่าวเป็นการกล่าวถึงข้อเท็จจริงในลักษณะเล่าเรื่องให้เป็นที่เข้าใจตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องมาเช่นนี้แล้ว เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องปรับข้อเท็จจริงเข้ากับตัวบทกฎหมายเพื่อวินิจฉัยคดี ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงและฟังว่าโจทก์แสดงเจตนารับซื้อฝากที่ดินจากจำเลยที่ 1 โดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สินตกเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 157 ก็ดี หรือศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยข้อเท็จจริงและฟังว่าโจทก์แสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156 ก็ดี จึงเป็นการปรับข้อเท็จจริงที่ได้ความเข้ากับตัวบทกฎหมายเพื่อวินิจฉัยถึงสิทธิของคู่ความแต่ละฝ่าย ซึ่งหากจำเลยทั้งสองมิได้หลอกลวงโจทก์และโจทก์มิได้แสดงเจตนาโดยสำคัญผิดแล้ว จำเลยทั้งสองก็ไม่ต้องรับผิดคืนเงินให้แก่โจทก์ตามฟ้อง กรณีหาใช่เป็นการวินิจฉัยคดีนอกฟ้องหรือพิพากษาเกินไปกว่าคำฟ้องดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกาไม่
ปัญหาวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวงโจทก์ให้รับซื้อฝากที่ดินของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์หลงเชื่อและเสียเงินให้แก่จำเลยทั้งสองไป 1,500,000 บาท และมีคำขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์ 1,500,000 บาท เท่ากับราคาที่ดินที่ซื้อฝากซึ่งโจทก์ได้มอบให้แก่จำเลยทั้งสองไปนั้นมิใช่คำฟ้องในเรื่องละเมิดซึ่งมีอายุความ 1 ปี เพียงอย่างเดียว แต่มีลักษณะเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์สินของโจทก์คืนจากจำเลยทั้งสองผู้ไม่มีสิทธิที่จะยึดถือไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ด้วย ซึ่งไม่มีกำหนดเวลาให้เจ้าของทรัพย์สินใช้สิทธิเช่นนี้ เว้นแต่จะถูกจำกัดด้วยอายุความได้สิทธิ ส่วนดอกเบี้ยซึ่งถือว่าเป็นค่าเสียหายนั้น คำฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาในความผิดฐานฉ้อโกง ได้ความว่าโจทก์ทราบเหตุเมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2539 อายุความซึ่งโจทก์มีสิทธิจะฟ้องคดีแพ่งย่อมสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 วรรคสอง โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2542 ในระหว่างที่อายุความสะดุดหยุดลงและคดีอาญายังไม่เด็ดขาด สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะฟ้องเรียกดอกเบี้ยจึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ทุกข้อฟังขึ้น
อนึ่ง จำเลยที่ 1 เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาเกินมาชั้นละ 9,305 บาท เห็นสมควรสั่งคืนแก่จำเลยที่ 1”
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 15,000 บาท แทนโจทก์ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาที่เสียเกินมาชั้นละ 9,305 บาท แก่จำเลยที่ 1.

Share