คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4993/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประเด็นในคดีก่อนมีว่า โจทก์ (จำเลยที่ 1 คดีนี้) หรือจำเลย(โจทก์คดีนี้) ครอบครองที่ดินพิพาท ส่วนประเด็นในคดีนี้มีว่าโจทก์ได้ซื้อและครอบครองที่ดินพิพาทจนเป็นเจ้าของแล้วจำเลยได้บุกรุกที่ดินของโจทก์หรือไม่ ซึ่งศาลจำต้องวินิจฉัยประเด็นทั้งสองว่าใครเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทเช่นเดียวกันจึงเป็นประเด็นอย่างเดียวกัน ปัญหาว่าโจทก์ไม่ฟ้องเรียกคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกรบกวนการครอบครองหรือถูกแย่งการครอบครองจึงขาดสิทธิที่จะฟ้องเรียกคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทนั้นแม้ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้และจำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้านไว้ก็ตามแต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยได้เพราะจำเลยให้การต่อสู้ไว้ตั้งแต่ต้น จำเลยเพิ่งเข้าไปครอบครองปลูกต้นมันสำปะหลังในที่ดินพิพาทเมื่อประมาณเดือนมีนาคม 2521 และต่อมาจำเลยที่ 1 ก็ได้ฟ้องโจทก์กับพวกเป็นจำเลยเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2521 ศาลฎีกาพิพากษาเมื่อปี 2526 การที่จำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาทในระหว่างที่ศาลพิจารณาคดีที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ขอให้ห้ามเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทโดยอ้างว่าเป็นของจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 1 จะยกเอาสิทธิแห่งการครอบครองมายันโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความในคดีนั้นหาได้ไม่การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2522 จึงยังไม่ขาดสิทธิฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองแต่อย่างใด.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองถอนและขนย้ายต้นมันสำปะหลังออกไปจากที่ดินของโจทก์ ห้ามเข้าเกี่ยวข้องอีกต่อไป ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหาย จำนวน 22,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีและค่าเสียหายอีกเดือนละ 2,000 บาทให้แก่โจทก์ นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะขนย้ายต้นมันสำปะหลังออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่า ที่ดินตามฟ้องจำเลยที่ 1ได้ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมาประมาณ 40 ปี ไม่เคยโอนขายให้แก่ผู้อื่น หากฟังว่าโจทก์ซื้อที่ดินดังกล่าวจริง แต่โจทก์ก็มิได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ จึงขาดอายุความสิทธิครอบครอง ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ปลูกต้นมันสำปะหลังลงในที่ดินของจำเลยที่ 1ไม่ได้บุกรุกที่ดินโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจำเลยที่ 1 ได้ฟ้องโจทก์กับพวกเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวต่อศาลชั้นต้นปรากฏตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 542/2521 หมายเลขแดงที่ 640/2521ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชนะคดีไปแล้ว คดีอยู่ ในระหว่างการขอพิจารณาคดีใหม่ของโจทก์ ขอให้พิพากษายกฟ้อง และห้ามมิให้โจทก์เกี่ยวข้องกับที่ดินของจำเลยที่ 1 อีกต่อไป
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ที่ดินตามฟ้องเป็นของจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นบิดาของจำเลยที่ 2 มันสำปะหลังเป็นของจำเลยที่ 1 และปลูกในที่ดินของจำเลยที่ 1 ไม่ได้ปลูกในที่ดินของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ที่ดินตามฟ้องเป็นของโจทก์โจทก์ครอบครองทำประโยชน์โดยให้ผู้อื่นเช่าปลูกต้นมันสำปะหลังและพืชอื่น ๆ ติดต่อกันมานับตั้งแต่โจทก์ซื้อมา จึงไม่ขาดสิทธิครอบครอง จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าจะไม่เข้ายุ่ง เกี่ยวกับที่ดินของโจทก์อีกและพิมพ์ลายนิ้วมือในบันทึกการตกลงเรื่องที่ดินโดยสมัครใจ ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 เป็นฟ้องซ้ำฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 542/2521 หมายเลขแดงที่ 640/2521 ของศาลชั้นต้นระหว่างนายเจือ เกตุแก้ว โจทก์ นางสาววลัย ดิลกวนิช กับพวก จำเลยขอให้ยกฟ้องแย้ง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองถอนและขนย้ายต้นมันสำปะหลังออกไปจากที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 177 หมู่ ที่ 6ตำบลนาเกลือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี และห้ามมิให้จำเลยทั้งสองกับบริวารเข้ายุ่ง เกี่ยวครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวข้างต้นต่อไป ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน3,900 บาท แก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายอีกเดือนละ 300 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะถอนและขนย้ายต้นมันสำปะหลังและเลิกยุ่ง เกี่ยวกับที่ดินแปลงดังกล่าว ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีสำหรับต้นเงิน 3,900 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เคยฟ้องโจทก์กับพวกเกี่ยวกับที่ดินพิพาทปรากฏตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 640/2521ของศาลชั้นต้น และคดีถึงที่สุดแล้วโดยศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโจทก์(จำเลยที่ 1 คดีนี้) โดยวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 (โจทก์คดีนี้)ได้ซื้อที่ดินพิพาทต่อจากผู้ที่ซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์โดยชอบแล้วจำเลยที่ 1 ให้ผู้อื่นครอบครองที่ดินพิพาทแทนตลอดมา ดังนั้นคำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์และจำเลยที่ 1 คดีนี้ซึ่งเป็นคู่ความ ในคดีดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145จึงฟังได้เป็นยุติว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทจำเลยทั้งสองจะฎีกาโต้แย้งว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหาได้ไม่ เมื่อจำเลยทั้งสองบุกรุกเข้าปลูกต้นมันสำปะหลังในที่ดินของโจทก์ อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองได้และวินิจฉัยปัญหาประเด็นในคดีดังกล่าวเป็นคนละประเด็นกับประเด็นในคดีนี้หรือไม่ ประเด็นในคดีดังกล่าวมีว่า โจทก์ (จำเลยที่ 1คดีนี้) หรือจำเลย (โจทก์คดีนี้) ครอบครองที่ดินพิพาท ประเด็นคดีนี้มีว่า โจทก์ได้ซื้อและครอบครองที่ดินพิพาทจนเป็นเจ้าของแล้วจำเลยได้บุกรุกที่ดินของโจทก์หรือไม่ ซึ่งศาลจำต้องวินิจฉัยประเด็นทั้งสองว่าใครเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทเช่นเดียวกันจึงเห็นได้ว่าประเด็นในคดีทั้งสองประเด็นอย่างเดียวกันหาใช่คนละประเด็นดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาไม่ ส่วนปัญหาว่าโจทก์ไม่ฟ้องเรียกคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกรบกวนการครอบครองหรือถูกแย่งการครอบครอง จึงขาดสิทธิที่จะฟ้องเรียกคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทนั้น แม้ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้และจำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้านไว้ก็ตามแต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยได้เพราะจำเลยให้การต่อสู้ ไว้ตั้งแต่ต้นและวินิจฉัยว่าจำเลยเพิ่งเข้าไปครอบครองปลูกต้นมันสำปะหลังในที่ดินพิพาทเมื่อประมาณเดือนมีนาคม 2521 และต่อมาจำเลยที่ 1ก็ได้ฟ้องโจทก์กับพวกเป็นจำเลยในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 640/2521ของศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2521 ศาลฎีกาพิพากษาเมื่อปี2526 ซึ่งการที่จำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาทในระหว่างที่ศาลพิจารณาคดีที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ขอให้ห้ามเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท โดย อ้างว่าเป็นของจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 1 จะยกเอาสิทธิแห่งการครอบครองมายันโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความในคดีนั้นหาได้ไม่ดังนั้นการที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2522 จึงยังไม่ขาดสิทธิฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษานั้น ศาลฎีกาเห็นฟ้องด้วยเหตุผล ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share