แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องคดีละเมิดเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้วโจทก์ก็ไม่จำต้องบรรยายฟ้องว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความเพราะเหตุใด เพราะอายุความมิใช่สภาพแห่งข้อหาที่จำเป็นต้องบรรยายในฟ้อง โจทก์ติดต่อจำเลยเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดจากมูลละเมิดจำเลยยอมชดใช้ค่าเสียหายเพียงบางส่วนจำนวน10,000 บาท แก่โจทก์ ไม่ได้ยกอายุความขึ้นปฏิเสธความรับผิดแม้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความแล้ว ก็ถือเป็นการแสดงออกโดยปริยายว่าได้ละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความนั้นแล้ว การละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความไม่จำต้องแสดงเจตนาโดยชัดแจ้งเพียงอย่างเดียว จำเลยจึงไม่อาจอ้างอายุความมาปฏิเสธความรับผิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 192 เดิม และการนับอายุความต้องเริ่มนับต่อไปใหม่เสมือนไม่เคยนับอายุความมาก่อนโดยถืออายุความแห่งมูลหนี้เดิม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2527 เวลากลางวันจำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขับรถโดยสารประจำทางสาย 3หมายเลขทะเบียน 10-3794 กรุงเทพมหานคร ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที 2 บรรทุกคนโดยสารเต็มคันรถไปตามถนนจักรพงษ์จากสถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม มุ่งหน้าไปทางกรมสรรพากรเพื่อรับส่งคนโดยสารถึงสุดถนนจักรพงษ์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนครกรุงเทพมหานคร เป็นทางโค้งหน้ากรมสรรพากร จำเลยที่ 1 ขับรถเข้าทางโค้งที่เป็นทางแคบเพื่อเลี้ยวเข้าถนนเจ้าฟ้าด้วยความเร็วสูงทำให้ล้อรถด้านขวาไปชนขอบถนนแล้วปีนขึ้นบนเกาะกลางถนน เป็นเหตุให้เกิดแรงกระแทกกระเทือนและแรงเหวี่ยง จนโจทก์ซึ่งยืนอยู่บนรถตรงประตูท้ายพลัดตกจากรถลงไปกระแทกกับพื้นถนนได้รับบาดเจ็บสาหัส กะโหลกศีรษะด้านซ้ายร้าว สมองช้ำ แขนและขาอ่อนกำลังจนใช้การไม่ได้ตามปกติต้องใช้เวลารักษาประมาณ 6 เดือนเหตุเกิดขึ้นจากความประมาทของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 150,000 บาท ค่าพาหนะไปกลับจากบ้านที่จังหวัดสมุทรสาครไปโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานครเป็นเงิน 20,000 บาท ค่าเสียหายจากการที่เสียความสามารถประกอบการงานและเสียประโยชน์ทำมาหาได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคตเป็นเงิน300,000 บาท ค่าเสียหายเป็นค่าเสียสุขภาพอนามัย เป็นเงิน200,000 บาท รวมทั้งสิ้น 670,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์ โจทก์ทวงถามมาตลอด แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมชดใช้ให้ตามที่โจทก์เรียกร้องและในที่สุดจำเลยที่ 2 จะชดใช้ให้เพียง10,000 บาท โจทก์ไม่ตกลง ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 670,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2527 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ฟ้องโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 570,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2527 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถโดยสารประจำทางสาย 3หมายเลขทะเบียน 10-3794 กรุงเทพมหานคร โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างขับรถคันดังกล่าว เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2527 เวลากลางวันโจทก์โดยสารคันดังกล่าวซึ่งจำเลยที่ 1 ขับไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ไปตามถนนจักรพงษ์โฉมหน้าไปทางสนามหลวงคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์ตกจากรถลงไปที่พื้นถนนหรือไม่คดีโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ขาดอายุความหรือไม่ และโจทก์เสียหายเพียงใด ข้อเท็จจริงฟังตามพยานหลักฐานโจทก์ได้ว่าจำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความเร็วสูงไปถึงที่เกิดเหตุซึ่งเป็นทางโค้งและแคบ เป็นเหตุให้ล้อรถด้านหลังขวาปืนเกาะกลางถนนทำให้เกิดแรงเหวี่ยงจนเป็นเหตุให้โจทก์ตกลงจากรถลงไปที่พื้นถนนได้รับบาดเจ็บ ดังนี้ ที่โจทก์ตกลงรถลงไปที่พื้นถนนได้รับบาดเจ็บจึงเกิดจากจำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทเลินเล่อ หาใช่โจทก์กระโดดลงจากรถไปเองไม่
ปัญหาเรื่องอายุความนั้น แม้ตามฟ้องจะปรากฏว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อพ้น 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้วก็ตาม โจทก์ก็ไม่จำเป็นต้องบรรยายหรือกล่าวในฟ้องด้วยว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความเพราะเหตุใด เพราะอายุความมิใช่สภาพแห่งข้อหาที่จำเป็นต้องบรรยายหรือกล่าวในฟ้อง แต่อย่างไรก็ดีโจทก์ได้กล่าวในวันฟ้องด้วยว่าโจทก์ทวงถามค่าเสียหายตลอดมา จำเลยทั้งสองไม่ยอมชดใช้ให้ตามที่โจทก์เรียกร้อง แต่ในที่สุดจำเลยที่ 2 จะชดใช้ให้เพียง 10,000 บาทโจทก์ไม่ตกลง จำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ในข้อนี้ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับว่าหลังเกิดเหตุละเมิดแล้วจำเลยที่ 2ยอมชดใช้ค่าเสียหาย 10,000 บาท แก่โจทก์ แต่โจทก์ไม่ตกลงที่จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ โจทก์จึงนำสืบได้ว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความเพราะเหตุใด ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่า โจทก์ทำหนังสือลงวันที่ 2 สิงหาคม 2530 ถึงจำเลยที่ 2 ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 200,000 บาท จำเลยที่ 2 มีหนังสือลงวันที่ 14 กันยายน 2530 แจ้งให้โจทก์ไปพบที่สำนักงานกฎหมายของจำเลยที่ 2 เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง ตามหนังสือหัวหน้าสำนักงานกฎหมายของจำเลยที่ 2 เอกสารหมาย จ.12 วันที่ 21 กันยายน 2530 โจทก์ไปที่สำนักงานกฎหมายของจำเลยที่ 2 พบนายบุญเพ็ง พัดน้อย หัวหน้ากองอุบัติเหตุของจำเลยที่ 2 ซึ่งได้นำคำสั่งรองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารของจำเลยที่ 2 ที่มีข้อความว่า กรณีโจทก์ได้เรียกร้องค่าเสียหายเมื่อขาดอายุความแล้ว แต่กรณีเป็นที่น่าเห็นใจด้วยมนุษยธรรมและเพื่อรักษาภาพพจน์ของจำเลยที่ 2เห็นควรให้มีการต่อรองก่อนมาให้โจทก์ดูและต่อรองค่าเสียหายเหลือ100,000 บาท ต่อมาวันที่ 18 พฤศจิกายน 2530 นายบุญเพ็งแจ้งโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 จะชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ 10,000 บาท เพราะจำเลยที่ 1 ยอมชดใช้ค่าเสียหาย 10,000 บาท ตามสำเนาบันทึกข้อความของจำเลยที่ 2 เอกสารหมาย จ.14 โจทก์จึงทำหนังสือลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2530 ร้องเรียนไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมตามสำเนาหนังสือของโจทก์เอกสารหมาย จ.15 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมส่งเรื่องให้จำเลยที่ 2 พิจารณา จำเลยที่ 2 แจ้งโจทก์ว่าจำเลยที่ 2 ยอมชดใช้ค่าเสียหายภายในวงเงินที่จำเลยที่ 1ยอมชดใช้เป็นเงิน 10,000 บาท หากโจทก์ยอมตกลงก็ให้ไปรับเช็คจากจำเลยที่ 2 ได้ โดยแจ้งเรื่องดังกล่าวเมื่อเดือนกันยายน 2532เห็นว่า คำเบิกความของโจทก์ประกอบกับเอกสารดังกล่าวแสดงถึงพฤติการณ์ที่โจทก์ติดต่อกับจำเลยที่ 2 เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายตั้งแต่ปี 2530 ตลอดมาจนในที่สุดเมื่อเดือนกันยายน 2532 จำเลยที่ 2 ยอมชดใช้ค่าเสียหายเพียง 10,000 บาท แก่โจทก์ จำเลยที่ 2ไม่ได้นำพยานมาสืบหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ดังกล่าวแต่อย่างใดเลย อีกทั้งที่ได้วินิจฉัยมาแล้วว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับว่าหลังเกิดเหตุละเมิดแล้ว จำเลยที่ 2 ยอมชดใช้ค่าเสียหาย 10,000 บาท แก่โจทก์ ดังนี้ ที่ตามคำเบิกความของโจทก์ว่าในที่สุดเมื่อเดือนกันยายน 2532 จำเลยที่ 2 ยอมชดใช้ค่าเสียหายเพียง 10,000 บาทแก่โจทก์ จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อ หาใช่เป็นคำเบิกความของโจทก์ลอย ๆ ดังฎีกาจำเลยที่ 2 ไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อเดือนกันยายน 2532 จำเลยที่ 2 ยอมชดใช้ค่าเสียหาย 10,000 บาท แก่โจทก์แสดงว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้ยกอายุความขึ้นปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ตามที่เรียกร้องแต่อย่างใด ดังนี้ แม้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวย่อมถือเป็นการแสดงออกโดยปริยายว่าได้ละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความนั้นแล้ว การละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความหาจำต้องแสดงเจตนาโดยชัดแจ้งเพียงอย่างเดียวดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกาไว้ไม่จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจอ้างอายุความมาเป็นข้อตัดฟ้องเพื่อปฏิเสธความรับผิด ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 192 เดิม (มาตรา 193/24 ใหม่) การนับอายุความจึงเริ่มนับต่อไปใหม่เสมือนไม่เคยนับอายุความมาก่อนโดยถือลอายุความแห่งมูลหนี้เดิม คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิด โจทก์ยื่นคำฟ้องเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2532 นับอายุความเริ่มต่อไปใหม่ตั้งแต่เดือนกันยายน 2532 จนถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 1 ปีคดีโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ”
พิพากษายืน