คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4989/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งให้ขายทอดตลาดที่ดินพิพาทแก่ผู้ซื้อ โดยไม่งดการขายทอดตลาดไว้รอพิจารณาคำขอประนอมหนี้ตามคำขอของจำเลย จำเลยยื่นคำร้องว่า คำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าจำเลยประวิงคดี ขอให้ยกคำร้องของจำเลยระหว่างการพิจารณาของศาล ผู้ซื้อที่ดินพิพาทได้จากการขายทอดตลาด จำเลยและ ส.ผู้ซื้อรายใหม่ตกลงกันว่า ผู้ซื้อรายใหม่ตกลงวางเงิน 100,000 บาทให้ผู้ซื้อที่ดินพิพาทได้จากการขายทอดตลาดรับไปเป็นค่าเสียหาย เพื่อจะได้ไม่คัดค้านที่จะมีการขายทอดตลาดใหม่ มิใช่เป็นการตกลงว่าผู้ซื้อที่ดินพิพาทได้จากการขายทอดตลาดสละสิทธิในที่ประมูลซื้อได้ในครั้งก่อน เพราะการที่ผู้ซื้อรายใหม่ตกลงจะเข้าประมูลซื้อที่ดินพิพาทครั้งใหม่ในราคาไม่ต่ำกว่า 18,000,000 บาทนั้น จะต้องจัดหาธนาคารมาค้ำประกันจำนวน 2,000,000 บาท เพื่อเป็นประกันค่าเสียหายแก่กองทรัพย์สินหากผู้ซื้อรายใหม่เข้าสู้ราคาต่ำกว่า 18,000,000 บาท ซึ่งเป็นอีกเงื่อนไขหนึ่งที่ผู้ซื้อรายใหม่ต้องปฏิบัติก่อน เมื่อผู้ซื้อรายใหม่ไม่สามารถหาธนาคารมาค้ำประกันได้ จึงเป็นฝ่ายผิดข้อตกลงศาลต้องจำหน่ายคำร้องของจำเลยตามสัญญาที่ตกลงไว้

ย่อยาว

จำเลยยื่นคำร้องว่า จำเลยได้ยื่นคำขอประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และขอให้งดการขายทอดตลาดไว้ชั่วคราวจนกว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และศาลจะได้พิจารณาคำขอประนอมหนี้ดังกล่าวเสร็จสิ้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งรับคำขอประนอมหนี้ แต่สั่งให้ขายทอดตลาดตามกำหนดเดิมต่อไปโดยไม่งดต่อมาได้มีการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึด คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่สั่งไม่อนุญาตให้งดการขายทอดตลาดและคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่สั่งอนุมัติขายทรัพย์รายนี้เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนหรือยกเลิกคำสั่งดังกล่าวเสีย
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยคัดค้านการขายเป็นการประวิงคดี อีกทั้งการยื่นคำขอประนอมหนี้ดังกล่าวกฎหมายล้มละลายมิได้บังคับให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องงดการขายทอดตลาดทรัพย์สิน และมิใช่เป็นเหตุทุเลาการบังคับคดีที่จะให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์งดการขายทอดตลาดตามกฎหมายล้มละลายขอให้ยกคำร้องของจำเลย
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น คู่ความทุกฝ่ายตลอดจนผู้ซื้อที่ดินพิพาทได้จากการขายทอดตลาด นายประสารซึ่งเป็นผู้ซื้อรายใหม่และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มาศาลและตกลงกันว่า
1. ผู้เสนอซื้อรายใหม่ยอมให้เงินที่วางไว้ 100,000 บาทแก่ผู้ซื้อรับไปเป็นค่าเสียหายโดยเด็ดขาดนับแต่วันนี้และผู้เสนอซื้อรายใหม่จะเข้าสู่ราคาในการขายทอดตลาดครั้งใหม่ในราคาขั้นต่ำตั้งแต่ 18,000,000 บาท โดยจะจัดหาธนาคารมาค้ำประกันเป็นจำนวน 2,000,000 บาท เป็นค่าเสียหายแก่กองทรัพย์สิน หากไม่สู้ราคาดังกล่าวข้างต้น
2. ผู้ซื้อพอใจหากผู้ซื้อรายใหม่ปฏิบัติตามข้อ 1 ได้ก็ไม่ติดใจคัดค้านคำร้องขอให้ขายทอดตลาดใหม่ แต่สงวนสิทธิที่จะเข้าสู้ราคาด้วย
3. เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พอใจและหากผู้ซื้อรายใหม่ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อ 1 ได้ครบถ้วน ก็ไม่ติดใจคัดค้านการขายทอดตลาดรายนี้เช่นกัน ให้ศาลจำหน่ายคำร้องคัดค้านของจำเลย และเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์โดยถือว่าไม่ติดใจและขอถอนคำร้อง
เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2530 ผู้ซื้อได้รับเงินประกันค่าเสียหายจำนวน 100,000 บาท จากศาล เมื่อถึงวันนัดที่ผู้ซื้อรายใหม่จะต้องหาธนาคารมาค้ำประกัน 2,000,000 บาท ผู้ซื้อรายใหม่ยื่นคำร้องว่า ได้ติดต่อกับธนาคารแล้วปรากฏว่าในการออกหนังสือค้ำประกันจะต้องเสียค่าธรรมเนียมประมาณ 30,000 บาท ซึ่งเป็นเงินจำนวนมาก หากใช้บุคคลที่มีหลักทรัพย์ในวงเงินดังกล่าวมาเป็นผู้ค้ำประกันจะเป็นผลดีต่อทุกฝ่ายเช่นเดียวกัน ผู้ซื้อรายใหม่จึงขอเสนอบุคคลเป็นผู้ค้ำประกันแทนในวงเงิน 2,000,000 บาท โดยมีสลากออมสินและเงินสดไม่น้อยกว่า 2,000,000 บาทมาวางศาลเป็นหลักประกันด้วย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ตามคำร้องดังกล่าวเท่ากับผู้ซื้อรายใหม่ไม่อาจปฏิบัติตามข้อตกลง ถือว่าผู้ซื้อรายใหม่ผิดข้อตกลง มีคำสั่งให้ยกคำร้องของเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์และจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามข้อตกลงในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 17 ธันวาคม 2530 ข้อ 1 ที่ว่าผู้ซื้อรายใหม่ตกลงวางเงินจำนวน 100,000 บาท ให้แก่ผู้ซื้อรับไปนั้น เป็นการวางเงินให้ผู้ซื้อรับไปเป็นค่าเสียหายโดยเด็ดขาดในวันนั้น เพื่อให้ผู้ซื้อไม่คัดค้านที่จะมีการขายทอดตลาดใหม่ แต่มิใช่เป็นการตกลงว่าผู้ซื้อสละสิทธิในที่ประมูลซื้อได้ในครั้งก่อน เพราะผู้ซื้อรายใหม่จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขอีกกรณีหนึ่งว่าผู้ซื้อรายใหม่จะต้องจัดหาธนาคารมาค้ำประกันจำนวน 2,000,000 บาทเป็นค่าเสียหายแก่กองทรัพย์สิน หากผู้ซื้อรายใหม่สู้ราคาต่ำกว่า 18,000,000 บาท ดังนั้นการขายทอดตลาดใหม่จะเกิดขึ้นต่อเมื่อผู้ซื้อรายใหม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขทั้งสองประการแล้ว การที่ผู้ซื้อรับเงินไป 100,000 บาท จึงไม่อาจถือได้ว่าผู้ซื้อสละสิทธิการซื้อไปแล้วตามที่จำเลยฎีกา ปัญหาต่อไปมีว่า การที่ผู้ซื้อรายใหม่ไม่นำธนาคารมาค้ำประกันจำนวน 2,000,000 บาท ในวันที่ 1 มีนาคม 2531 ถือว่าเป็นผิดข้อตกลงหรือไม่ เห็นว่าตามข้อตกลงระบุไว้โดยแจ้งชัดว่า ผู้ซื้อรายใหม่จะจัดหาธนาคารมาค้ำประกันจำนวน 2,000,000 บาท ไม่มีข้อตกลงว่าอาจจะหาบุคคลหรือทรัพย์สินนอกจากธนาคารมาค้ำประกันแทนได้ ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2531 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดที่จะต้องทำสัญญาค้ำประกัน ผู้ซื้อรายใหม่จึงได้ยื่นคำร้องขอนำบุคคลและทรัพย์สินมาค้ำประกันแทนตามคำร้องของผู้ซื้อรายใหม่หาได้ระบุไม่ว่าหากศาลไม่อนุญาตก็จะนำธนาคารมาค้ำประกันต่อไป จึงถือได้ว่าผู้ซื้อรายใหม่ไม่สามารถหาธนาคารมาค้ำประกันได้ผู้ซื้อรายใหม่จึงเป็นฝ่ายผิดข้อตกลงโดยศาลชั้นต้นไม่จำเป็นต้องสั่งยกคำร้องก่อนตามที่จำเลยฎีกา เมื่อฟังว่าผู้ซื้อรายใหม่เป็นฝ่ายผิดข้อตกลง ศาลชั้นต้นชอบที่จะจำหน่ายคำร้องของจำเลยเสียตามข้อตกลงในข้อ 3 ซึ่งจำเลยยอมให้จำหน่ายคำร้องได้โดยถือว่าไม่ติดใจและขอถอนคำร้อง คำสั่งของศาลชั้นต้นชอบแล้ว ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในข้ออื่นต่อไป ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share