คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4983/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้ได้รับ ใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถ (ผู้ขับรถ) เสพเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ขณะขับขี่รถยนต์บรรทุก เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามฟ้องว่าจำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไม่ใช่เสพวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิต และประสาท พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิบัญญัติห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพหรือรับเข้าร่างกายไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ ซึ่งวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทกลุ่ม แอมเฟตามีนหรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทอย่างอื่นที่อธิบดีกำหนดซึ่งผู้ฝ่าฝืนมีความผิด ตามมาตรา 157 ทวิ นั้น เมื่อตามข้อกำหนดกรมตำรวจ เรื่องกำหนดชื่อและประเภทของวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯ ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2537 กำหนดให้ห้ามเสพแอมเฟตามีนและเมทแอมเฟตามีน แสดงว่า บทบัญญัติดังกล่าวประสงค์ที่จะเอาผิด และลงโทษผู้ขับขี่ที่เสพหรือรับวัตถุออกฤทธิ์ เข้าร่างกายเท่านั้น มิได้ประสงค์ที่จะเอาผิดและลงโทษผู้ขับขี่ที่เสพหรือรับยาเสพติดให้โทษ ในประเภท 1 เข้าร่างกายด้วย ประกอบกับ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคแรกบัญญัติให้บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะนั้นบัญญัติ เป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ ดังนั้น เมื่อปรากฏว่า ขณะที่จำเลยขับรถโดยเสพเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 97(พ.ศ. 2539) และฉบับที่ 135(พ.ศ. 2539)ออกมาใช้บังคับอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งมีผลทำให้เมทแอมเฟตามีนไม่เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 อีกต่อไป และระบุให้เมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ขับขี่ เสพเมทแอมเฟตามีนจึงเป็นการกระทำที่ไม่ครบองค์ประกอบความผิดตาม มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติ จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ศาลจึงไม่อาจพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามบทบัญญัติ มาตราดังกล่าว และไม่อาจลงโทษจำเลย หรือมีคำสั่งให้พักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต ขับขี่รถยนต์ของจำเลยตามมาตรา 157 ทวิ วรรคหนึ่งได้ ทั้งกรณีมิได้เป็นเรื่องที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุขทั้งสองฉบับยกเลิกความผิดตาม พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง เนื่องจากความผิดตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวยังคงมีอยู่ กล่าวคือ ผู้ขับขี่ที่เสพหรือรับเข้าร่างกาย ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์กลุ่มแอมเฟตามีน หรือวัตถุออกฤทธิ์อย่างอื่นที่อธิบดีกรมตำรวจกำหนดนอกจากแอมเฟตามีนและเมทแอมเฟตามีนยังคง ต้องมีความผิดตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว อีกทั้งการเสพเมทแอมเฟตามีนก็ยังคงเป็นความผิดตามกฎหมายอื่นอยู่ และมิได้ถูกยกเลิก ไปโดยประกาศกระทรวงสาธารณสุข ทั้งสองฉบับดังกล่าว การพักใช้ใบอนุญาตขับขี่หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ไม่ใช่โทษตามกฎหมาย เมื่อการเสพเมทแอมเฟตามีนของผู้ขับรถในขณะขับรถไม่อาจถือเป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง ศาลจึงไม่อาจสั่งให้พักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต ขับขี่รถยนต์ได้อยู่ในตัว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2540 เวลา 5.55 นาฬิกาจำเลยซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับรถได้เสพเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1ในขณะปฏิบัติหน้าที่ขับรถโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7,8, 57, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 43 ทวิ, 157 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90พักใช้ใบอนุญาตขับขี่มีกำหนดไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ของจำเลย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 57, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ, 157 ทวิ ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปีปรับ 40,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี และปรับ20,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปีให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 2 เดือนต่อครั้งกับให้ทำงานบริการสังคมตามที่จำเลยและพนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร เป็นเวลา 12 ชั่วโมง มีกำหนด 1 ปีห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษ วัตถุออกฤทธิ์และสารระเหย ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยมีกำหนด 6 เดือน
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุก 1 ปีลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน ไม่รอการลงโทษ ไม่ลงโทษปรับ และไม่คุมความประพฤติ ยกฟ้องข้อหาตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ, 157 ทวิ คำขอพักใช้ใบอนุญาตขับขี่หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยให้ยกนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาข้อกฎหมายว่าประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 97 (พ.ศ. 2539)และฉบับที่ 135 (พ.ศ. 2539) ที่ระบุให้เมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 ไม่มีผลยกเลิกกฎหมายฉบับอื่น ดังนั้นพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิและ 157 ทวิ จึงยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ซึ่งผู้ฝ่าฝืนระวางโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลต้องสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ด้วยนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถ (ผู้ขับรถ) เสพเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 ขณะขับขี่รถยนต์บรรทุก เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามฟ้องว่า จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไม่ใช่เสพวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ส่วนความผิดฐานฝ่าฝืนพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ ซึ่งลงโทษตามมาตรา 157 ทวิ นั้นบัญญัติห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพหรือรับเข้าร่างกายไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆซึ่งวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทกลุ่มแอมเฟตามีนหรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทอย่างอื่นที่อธิบดีกำหนดซึ่งตามข้อกำหนดกรมตำรวจ เรื่อง กำหนดชื่อและประเภทของวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2537กำหนดให้ห้ามเสพแอมเฟตามีนและเมทแอมเฟตามีน แสดงว่าบทบัญญัติดังกล่าวประสงค์ที่จะเอาผิดและลงโทษผู้ขับขี่ที่เสพหรือรับวัตถุออกฤทธิ์เข้าร่างกายเท่านั้น มิได้ประสงค์ที่จะเอาผิดและลงโทษผู้ขับขี่ที่เสพหรือรับยาเสพติดให้โทษในประเภท 1เข้าร่างกายด้วยประกอบกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคแรกบัญญัติว่า “บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้”ดังนั้น เมื่อปรากฏว่า ขณะที่จำเลยขับรถโดยเสพเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 97 (พ.ศ. 2539)และฉบับที่ 135 (พ.ศ. 2539) ออกมาใช้บังคับอยู่ก่อนแล้วซึ่งมีผลทำให้เมทแอมเฟตามีนไม่เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 อีกต่อไปและระบุให้เมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนจึงเป็นการกระทำที่ไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ศาลย่อมไม่อาจพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว และไม่อาจลงโทษจำเลยหรือมีคำสั่งให้พักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ของจำเลยตามมาตรา 157 ทวิ วรรคหนึ่ง ได้ ทั้งกรณีมิได้เป็นเรื่องที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุขทั้งสองฉบับยกเลิกความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่งแต่อย่างใด เนื่องจากความผิดตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวยังคงมีอยู่กล่าวคือ ผู้ขับขี่ที่เสพหรือรับเข้าร่างกายซึ่งวัตถุออกฤทธิ์กลุ่มแอมเฟตามีนหรือวัตถุออกฤทธิ์อย่างอื่นที่อธิบดีกรมตำรวจกำหนดนอกจากแอมเฟตามีน และเมทแอมเฟตามีนยังคงต้องมีความผิดตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวอีกทั้งการเสพเมทแอมเฟตามีนก็ยังคงเป็นความผิดตามกฎหมายอื่นอยู่ มิได้ถูกยกเลิกไปโดยประกาศกระทรวงสาธารณสุขทั้งสองฉบับดังกล่าวแต่อย่างใด ส่วนการพักใช้ใบอนุญาตขับขี่หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ไม่ใช่โทษตามกฎหมาย เมื่อการเสพเมทแอมเฟตามีนของผู้ขับรถในขณะขับรถ ไม่อาจถือเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง กรณีย่อมไม่อาจสั่งให้พักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ได้อยู่ในตัว
พิพากษายืน

Share