แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
หลังจากจำเลยทั้งสองร่วมกันทำหนังสือร้องเรียนครอบครัวของโจทก์ทั้งสองต่อผู้บังคับบัญชาอันเป็นมูลละเมิดในคดีนี้แล้ว โจทก์ที่ 1 ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนขอให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 ในข้อหาหมิ่นประมาท และโจทก์ที่ 2 ก็ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ขอให้เปิดทางระบายน้ำที่หน้าบ้านของจำเลยทั้งสองต่อศาลจังหวัดมีนบุรีในที่สุดคดีดังกล่าวได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ มีข้อความข้อแรกว่าจำเลยที่ 1จะทำการดัดแปลงซีเมนต์ที่ก่อไว้หน้าบ้านจำเลยที่ 1 ให้เป็นร่องตรงท่อระบายน้ำให้พอทำความสะอาดได้และเอาเหล็กตะแกรงวางตรงร่องนั้น ข้อสอง จำเลยที่ 2 ไปถอนคำร้องเรียนโจทก์ที่ 1 ต่อกองทัพบกและขอโทษโจทก์ที่ 1 ต่อหน้าผู้บังคับบัญชา ข้อสามโจทก์ที่ 1 ไปถอนคำร้องทุกข์ที่กล่าวหาจำเลยที่ 2 ในข้อหาหมิ่นประมาท โดยตอนท้ายสัญญาประนีประนอมยอมความคู่ความตกลงกันว่าจะไม่กล่าวร้ายกันอีก เห็นได้ว่าในข้อแรกเป็นข้อที่จำเลยที่ 1 จะต้องปฏิบัติเพื่อระงับข้อพิพาทในคดีแพ่งดังกล่าว แต่ในข้อสองเป็นข้อที่จำเลยทั้งสองจะต้องปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องที่จำเลยที่ 2 ร้องเรียนโจทก์ที่ 1 ต่อกองทัพบก โดยฝ่ายโจทก์ก็จะถอนคำร้องทุกข์ที่ได้กล่าวหาว่าจำเลยที่ 2 หมิ่นประมาทเป็นการตอบแทนตามข้อสาม อันเป็นการยุติข้อพิพาทเฉพาะคดีอาญา โดยในสัญญาดังกล่าวไม่มีข้อความตอนใดเลยที่ระบุว่าคู่ความจะไม่ดำเนินคดีหรือฟ้องร้องต่อกันในทางแพ่งอีก คงมีข้อความเพียงว่าคู่ความจะไม่กล่าวร้ายกันอีกเท่านั้น ซึ่งหมายความเพียงว่าจะไม่ทะเลาะด่าว่ากันอีกต่อไป ไม่รวมถึงการฟ้องร้องคดีอันเป็นการใช้สิทธิทางศาลตามกฎหมาย ดังนั้นจึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความระงับข้อพิพาทในทางแพ่งอันเป็นมูลละเมิดในคดีนี้ด้วย โจทก์ทั้งสองจึงยังมีสิทธิฟ้องคดีนี้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันใส่ความโจทก์โดยจำเลยที่ 2 ทำหนังสือร้องเรียนต่อรองผู้บัญชาการทหารบกว่าจำเลยที่ 2 ได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำของครอบครัวของโจทก์ที่ 1 ในการชำระล้างอุปกรณ์หรือภาชนะที่ใช้บรรจุสารเคมีหรือสิ่งปฏิกูลอื่น ๆ ลงท่อระบายน้ำทำให้เกิดความสกปรกโดยไม่รับผิดชอบ ซึ่งข้อความในหนังสือร้องเรียนดังกล่าวไม่เป็นความจริง เป็นการจงใจหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ทั้งสองมีพฤติการณ์ตามหนังสือร้องเรียน ทำให้ผู้บังคับบัญชาของโจทก์ที่ 1 ตั้งกรรมการสอบสวนโจทก์ที่ 1 โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง เกียรติคุณ เกียรติยศ ทางทำมาหาได้และอาชีพ ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง โจทก์ที่ 1 เสียประวัติการทำงานและมีมลทินต่อชีวิตทางราชการ ซึ่งโจทก์ที่ 1 ขอคิดค่าเสียหาย 700,000 บาท และโจทก์ที่ 2 คิดค่าเสียหาย 300,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายดังกล่าวให้โจทก์ทั้งสอง พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จและชำระค่าเสียหายเป็นรายเดือนเดือนละ 100,000 บาท จนกว่าจำเลยทั้งสองจะขอโทษโจทก์ทั้งสองและชำระหนี้ทั้งหมด กับให้จำเลยทั้งสองประกาศโฆษณาคำพิพากษาทางหนังสือพิมพ์จำนวน 6 ฉบับ คือ ไทยรัฐ เดลินิวส์ เดลิมิเรอร์ บ้านเมือง ดาวสยาม มติชน ฉบับละ 15 วัน โดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น
จำเลยทั้งสองให้การว่า หนังสือร้องเรียนของจำเลยที่ 2 เป็นความจริง มิได้เป็นการใส่ความโจทก์ทั้งสอง และเป็นการร้องเรียนตามปกติธรรมดา คณะกรรมการสอบสวนและผู้บังคับบัญชาของโจทก์ที่ 1 มีคำสั่งยุติเรื่องโดยเห็นว่าเป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคลไม่เกี่ยวข้องกับทางราชการและไม่ทำให้ทางราชการเสียหาย มิใช่เพราะโจทก์ที่ 1 มิได้มีพฤติการณ์ตามที่ร้องเรียน โจทก์ทั้งสองไม่ได้รับความเสียหาย ฟ้องของโจทก์ทั้งสองเกี่ยวกับค่าเสียหายเคลือบคลุม และโจทก์ทั้งสองเคยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 1 ที่ศาลจังหวัดมีนบุรีแล้วจึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีอีก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน200,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 1 และจำนวน 100,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2533เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 150,000 บาท และโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 50,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2533เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกาจำเลยทั้งสองในประเด็นที่ว่าจำเลยทั้งสองได้กล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายอันเป็นเท็จเป็นที่เสียหายหรือไม่ และประเด็นเรื่องค่าเสียหายคงรับฎีกาของจำเลยทั้งสองในประเด็นเรื่องฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายเคลือบคลุมหรือไม่ และประเด็นที่ว่าโจทก์ทั้งสองเคยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 1 ทำให้มูลละเมิดระงับไปหรือไม่…
ส่วนฎีกาของจำเลยทั้งสองในประเด็นที่ว่าโจทก์ทั้งสองเคยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 1 ทำให้มูลละเมิดระงับไปนั้น ได้ความว่า หลังจากจำเลยทั้งสองร่วมกันทำหนังสือร้องเรียนครอบครัวของโจทก์ทั้งสองต่อผู้บังคับบัญชาอันเป็นมูลละเมิดในคดีนี้แล้ว โจทก์ที่ 1 ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลดุสิต ขอให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 ในข้อหาหมิ่นประมาท และโจทก์ที่ 2 ก็ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ขอให้เปิดทางระบายน้ำที่หน้าบ้านของจำเลยทั้งสองต่อศาลจังหวัดมีนบุรีในที่สุดคดีดังกล่าวได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามเอกสารหมาย จ.3 หรือ ล.6 มีข้อความว่า ข้อแรก จำเลยที่ 1 จะทำการดัดแปลงซีเมนต์ที่ก่อไว้หน้าบ้านจำเลยที่ 1 โดยทำเป็นร่องตรงท่อระบายน้ำให้พอทำความสะอาดได้ และเอาเหล็กตะแกรงวางตรงร่องนั้น ข้อสอง จำเลยที่ 1 จะนำจำเลยที่ 2 ไปถอนคำร้องเรียนที่จำเลยที่ 2 ร้องเรียน โจทก์ที่ 1 ต่อกองทัพบก และขอโทษโจทก์ที่ 1 ต่อหน้าผู้บังคับบัญชา ข้อสาม โจทก์ที่ 2 จะนำโจทก์ที่ 1 ไปถอนคำร้องทุกข์ที่โจทก์ที่ 1 กล่าวหาจำเลยที่ 2 ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยตอนท้ายสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวคู่ความตกลงกันว่าจะไม่กล่าวร้ายกันอีก จากสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวเห็นได้ว่าในข้อแรกเป็นข้อที่จำเลยที่ 1 จะต้องปฏิบัติเพื่อระงับข้อพิพาทในคดีแพ่งดังกล่าว แต่ในข้อสองเป็นข้อที่จำเลยทั้งสองจะต้องปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องที่จำเลยที่ 2 ร้องเรียนโจทก์ที่ 1ต่อกองทัพบก โดยฝ่ายโจทก์ก็จะถอนคำร้องทุกข์ที่ได้ร้องทุกข์กล่าวหาว่าจำเลยที่ 2 หมิ่นประมาทเป็นการตอบแทนตามข้อสาม อันเป็นการยุติข้อพิพาทเฉพาะคดีอาญา โดยในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวไม่มีข้อความตอนใดเลยที่ระบุว่าคู่ความจะไม่ดำเนินคดีหรือฟ้องร้องต่อกันในทางแพ่งอีก คงมีข้อความเพียงว่าคู่ความจะไม่กล่าวร้ายกันอีกเท่านั้น ซึ่งหมายความเพียงว่าจะไม่ทะเลาะด่าว่ากันอีกต่อไป ไม่รวมถึงการฟ้องร้องคดีอันเป็นการใช้สิทธิทางศาลตามกฎหมาย ดังนั้นจึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความระงับข้อพิพาทในทางแพ่งอันเป็นมูลละเมิดในคดีนี้ด้วย โจทก์ทั้งสองจึงยังมีสิทธิฟ้องคดีนี้ ฎีกาจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน