คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 498/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยกับพวกร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อ พ. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานว่า อ. ซึ่งเป็นคนเชื้อชาติลาว สัญชาติลาว คือ ศ ซึ่งเป็นภริยาของจำเลย หลังจากนั้นในวันเดียวกันจำเลยกับพวกร่วมกันแสดงตนต่อ พ. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองมีหน้าที่ในการออกบัตรประจำตัวประชาชนว่า อ. คือ ศ และบัตรประจำตัวประชาชนสูญหาย ทำให้ พ. สั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาจดข้อความลงในบันทึกการรับแจ้งเอกสารเกี่ยวกับบัตรประจำตัวประชาชนสูญหายหรือถูกทำลายอันเป็นเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานแสดงสถานะของบุคคลหรือถิ่นที่อยู่ของบุคคลประกอบการพิจารณาอนุญาตทำบัตรประจำตัวประชาชนของพวกของจำเลย แล้วร่วมกันนำบันทึกดังกล่าวเสนอต่อ พ. เพื่อขอมีบัตรประจำตัวประชาชนฉบับใหม่ การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการกระทำต่อเนื่องกัน โดยมีเจตนาเดียวกันที่จะให้ทางราชการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้พวกของจำเลยเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267, 83, 91 พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 4, 14
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267 ประกอบมาตรา 83 พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 4, 14 (1) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ฐานร่วมกันแจ้งข้อความหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานในการขอมีบัตรประจำตัวประชาชน จำคุก 2 ปี และปรับ 30,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี และปรับ 15,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือน ภายในกำหนดเวลาคุมประพฤติ หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน จำคุก 6 เดือน ฐานร่วมกันแจ้งข้อความหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานในการขอมีบัตรประจำตัวประชาชนกับฐานร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันแจ้งข้อความหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานในการขอมีบัตรประจำตัวประชาชนซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 9 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า การกระทำของจำเลยในความผิดฐานร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานกับความผิดฐานร่วมกันแจ้งข้อความหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานในการขอมีบัตรประจำตัวประชาชนและฐานร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทนั้น เห็นว่า การที่จำเลยกับพวกร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อนายเพชรรัฐ เจ้าพนักงานว่า นางสาวอำไพวัน เชื้อชาติลาว สัญชาติลาว คือนางศิริพร ภริยาของจำเลย หลังจากนั้นในวันเดียวกันและเวลาต่อเนื่องกันจำเลยกับพวกร่วมกันแสดงตนต่อนายเพชรรัฐ เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองซึ่งทำหน้าที่ฝ่ายทะเบียนราษฎร์ของที่ว่าการอำเภอปะนาเระซึ่งมีหน้าที่ในการออกบัตรประจำตัวประชาชนว่า นางสาวอำไพวัน คือนางศิริพร และบัตรประจำตัวประชาชนสูญหาย ทำให้นายเพชรรัฐสั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาจดข้อความลงในบันทึกการรับแจ้งเอกสารเกี่ยวกับบัตรประจำตัวประชาชนสูญหายหรือถูกทำลายอันเป็นเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานแสดงสถานะของบุคคลหรือถิ่นที่อยู่ของบุคคลประกอบการพิจารณาอนุญาตทำบัตรประจำตัวประชาชนของพวกของจำเลย แล้วร่วมกันนำบันทึกดังกล่าวแสดงต่อนายเพชรรัฐ เพื่อขอมีบัตรประจำตัวประชาชนฉบับใหม่ การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการกระทำต่อเนื่องกัน โดยมีเจตนาเดียวกันที่จะให้ทางราชการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้พวกของจำเลยเท่านั้น ความผิดฐานร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน กับความผิดฐานร่วมกันแจ้งข้อความหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานในการขอมีบัตรประจำตัวประชาชน และฐานร่วมกันแจ้งให้พนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการจึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาลงโทษจำเลยสองกรรมนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติบัตรประจำประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share