แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เจ้ามฤดกจะตัดทายาทมิให้รับมฤดกได้ก็ต้องแสดงเจตนาด้วยการทำเป็นพินัยกรรม์หรือทำเป็นหนังสือจะตัดด้วยปากเปล่าไม่ได้ คดีที่ฎีกาได้ฉะเพาะข้อกฎหมายนั้น แม้เขียนฎีกาฟุ่มเฟือยแต่พอเก็บหัวข้อเป็นข้อกฎหมายได้แล้ว ศาลฎีการับพิจารณาให้
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๓ กรมหมื่นพงษาฯ ได้ขอพะรบรมราชานุญาตให้หนังสือต่างพินัยกรรม์เป็นอันใช้ได้ตามกฎหมายเพื่อยกทรัพย์ให้แก่ ภ.พระมงกุฏเกล้าฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้หนังสือนั้นเป็นใบแทนพินัยกรรม์ตามพระประสงค์ ต่อมากรมหมื่นพงษาฯ ได้ประกาศตัดญาติแลถอนพินัยกรรม์ฉะบับเดิมโดยทรงทำขึ้นใหม่ แต่เอกสารที่ถอนพินัยกรรม์ได้ศูนย์หายไป ต่อมากรมหมื่นพงษาฯ สิ้นพระชนม์ จำเลยได้นำหนังสือพินัยกรรม์ฉะบับเดิมซึ่งได้ถูกถอนแล้วออกอ้างสิทธิรับมฤดกแต่ผู้เดียว โจทก์เป็นธิดาของกรมหมื่นพงษาฯ จึงขอให้ศาลแสดงว่า กรมหมื่นพงษาฯ ได้ทรงทำหนังสือพินัยกรรม์เพิกถอนพินัยกรรม์ที่มีอยู่เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๓ เสียแล้วทั้งสิ้น แลขอให้แสดงว่าจำเลยไม่มีสิทธิได้รับมฤดกโดยได้ถูกตัดทายาทเสียแล้ว
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีพะยานรู้เห็นในเวลาที่กรมหมื่นพงษาฯ ทรงทำพินัยกรรม์มีแต่พะยานที่ได้รับบอกเล่าจากรมหมื่นพงษาฯ ว่าได้รับสั่งว่าได้ทรงทำพินัยกรรม์ใหม่เท่านั้นเอง แลโจทก์ไม่มีพะยานที่ได้เห็นพินัยกรรม์ ฉะบับใหม่แลทำถูกต้องตามแบบส่วนข้อที่ว่าจำเลยถูกตัดทายาทก็ปรากฎว่าเพียงแต่รับสั่งด้วยพระโอษฐเท่านั้น ยังไม่มีผลตามประมวลแพ่งฯ ม.๑๖๐๘ จึงพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกาว่า โจทก์กล่าวในฟ้องว่าหนังสือหรือใบแทนต่างพินัยกรรม์ที่จำเลยนำมาอ้างนั้น ไม่ใช่หนังสือพินัยกรรม์ตามกฎหมายแลว่าโจทก์ได้นำสืบแล้วว่ากรมหมื่นพงษา ฯได้ทำพินัยกรรม์ใหม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อที่โจทก์คัดค้านว่า คดีนี้ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง จำเลยเขียนฎีกาไม่ชัดแจ้งไม่ต้องด้วยประมวลวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าฎีกาฟุ่มเฟือยจริง แต่เก็บใจความเป็นข้อกฎหมายได้จึงรับพิจารณาต่อไปว่า คดีนี้โจทก์จะฎีกาข้อเท็จจริงไม่ได้ แลเห็นว่าคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ ศาลถือเป็นประเด็นสำคัญในการพิจารณา เมื่อไม่มีคำขอให้ศาลแสดงว่าเอกสารที่จำเลยอ้างนั้นไม่เป็นพินัยกรรม์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ศาลจะตั้งประเด็นพิจารณาเกินไปไม่ได้ เห็นว่าตามคำขอของโจทก์ประกอบกับที่โจทก์รับในฎีกาว่า “ได้ทรงบันทึกไว้ว่าในฟังหนังสือตามพินัยกรรม์เป็นพินัยกรรม์เป็นข้อยืนยันอยู่ในตัวแล้วว่าเอกสารใช้ได้ตามกฎหมาย จึงไม่ต้องวินิจฉัยว่าจะเป็นพินัยกรรม์ใช้ได้ตามกฎหมายหรือไม่ จึงพิพากษายืนตามศาลล่างทั้ง ๒ ที่ให้ยกฟ้องโจทก์