คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 496/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หุ้นส่วนคนหนึ่งไม่ทำบัญชีรับจ่าย ไม่แบ่งผลกำไร และอ้างว่าโจทก์ไม่ได้เป็นหุ้นส่วนโจทก์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งขอเลิกและชำระบัญชีได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2496 โจทก์จำเลยทั้งสองได้ตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญ โดยไม่จดทะเบียน ซึ่งตั้งอยู่ตำบลบ้านไทรโรงโขน อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร โดยทำกิจการเป็นโรงสีข้าว รับจ้างสีข้าวเพื่อหารายได้แบ่งผลกำไรซึ่งกันและกันระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสอง ห้างหุ้นส่วนนี้โจทก์ลงทุนเป็นเงิน 32,500 บาท นายพลอยจำเลยลงทุนเป็นเงิน 11,464 บาท นายเยื้อนจำเลยลงทุนเป็นเงิน 2,184 บาท ในการดำเนินกิจการของห้างหุ้นส่วนนี้จำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดการ และตกลงให้จำเลยทำสมุดบัญชีแสดงรายการรับจ่ายและแบ่งเงินกำไรให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนทุก ๆ เดือน นับแต่ดำเนินงานมาจำเลยไม่เคยทำบัญชีรับจ่ายและไม่เคยแบ่งผลกำไรแก่ผู้หุ้นส่วนเลย และในขณะนี้เครื่องยนต์ก็ชำรุดทรุดโทรมไม่สามารถดำเนินกิจการได้ ครั้นจะดำเนินไปก็มีแต่จะขาดทุนอย่างเดียวยิ่งกว่านั้นจำเลยที่ 1 ยังเที่ยวพูดว่าโจทก์ไม่มีหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนรายนี้ โจทก์พยายามติดต่อกับจำเลยขอเลิกหุ้นส่วนและชำระบัญชี แต่จำเลยไม่ยอม โจทก์ได้แนบสัญญาห้างหุ้นส่วนมาพร้อมกับฟ้องด้วย จึงขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์มีหุ้นส่วนกับจำเลยเป็นเงิน 32,500 บาท และให้ห้างหุ้นส่วนระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นอันเลิกกันกับตั้งผู้ชำระบัญชีห้างหุ้นส่วน

จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่าจำเลยไม่เคยตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญกับโจทก์ดังฟ้องเลย ความจริงโรงสีตามฟ้องเป็นของนายพลอยจำเลยแต่ผู้เดียว โดยนายพลอยจำเลยซื้อมาจากนายถวิล ศรีพงษ์สุทธิเมื่อซื้อมาแล้วนายพลอยจำเลยคิดตั้งโรงสีเพื่อรับจ้างทำการสีข้าวโดยขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และขออนุญาตประกอบการค้าข้าวในนามของนายพลอยจำเลย โจทก์ไม่เคยเข้าเกี่ยวข้อง ส่วนนายเยื้อนจำเลยเป็นเพียงลูกจ้างของนายพลอยจำเลย สัญญาเข้าหุ้นส่วนที่โจทก์เสนอมาท้ายฟ้องเป็นเอกสารซึ่งโจทก์ได้ทำปลอมขึ้น

ศาลชั้นต้นพิจารณาเชื่อว่าโจทก์จำเลยเป็นหุ้นส่วนกันจริงแต่กิจการดำเนินไปไม่เรียบร้อย และปรากฏว่าขณะนี้โรงสีหยุดทำการโดยเครื่องยนต์เสีย จึงพิพากษาว่าโจทก์จำเลยเป็นหุ้นส่วนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ฟ้อง ให้โจทก์จำเลยเลิกหุ้นส่วนกันและให้ตั้งผู้ชำระบัญชีสำหรับห้างหุ้นส่วนรายนี้

นายพลอยจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์คงฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นหุ้นส่วนกับจำเลยตั้งโรงสีตามส่วนจำนวนเงินดังฟ้องจริง และกรณีมีเหตุที่โจทก์จะร้องขอให้เลิกห้างหุ้นส่วนได้ตามกฎหมาย จึงพิพากษายืน

นายพลอยจำเลยฎีกาต่อมา

ศาลฎีกาตรวจปรึกษาทางพิจารณาคดีได้ความตามคำพยานหลักฐานโจทก์ว่าโรงสีข้าวรายพิพาทนี้เดิมเป็นของนายถวิล ศรีพงษ์สุทธิชั้นแรกนายพลอยจำเลยตกลงซื้อโรงสีนี้จากนายถวิล เป็นราคาเงิน 43,500 บาท โดยเอามาติดตั้งที่ตำบลไทรโรงโขน อำเภอตะพานหินจังหวัดพิจิตร แต่นายพลอยไม่มีเงินชำระให้นายถวิล จึงชวนโจทก์นี้มาเข้าหุ้นส่วนด้วย และให้โจทก์เป็นคนวางเงินชำระให้นายถวิลค่าโรงสีนี้ครั้งแรกเป็นจำนวนเงิน 15,000 บาท นายถวิลได้ทำเป็นหนังสือสัญญาซื้อขายโรงสีรับเงินรายนี้ให้ไว้แก่โจทก์ ตามเอกสารลงวันที่ 1 กันยายน 2496 (หมาย จ.1) ส่วนที่เหลือนอกนั้นสัญญาจะชำระให้ภายใน 1 เดือน ต่อมาโจทก์และนายพลอยจำเลยได้นำเงินมาชำระให้นายถวิลอีก โดยโจทก์ชำระ 16,000 บาทเศษ นายพลอยจำเลยชำระ 11,464 บาท นายถวิลได้ออกใบรับให้ในนามของนายพลอยจำเลย ทั้งนี้เพื่อความสะดวกเนื่องจากโจทก์และนายพลอยจำเลยตกลงกันให้นายพลอยจำเลยเป็นผู้จัดการห้างหุ้นส่วนรายนี้ และเป็นผู้จดทะเบียนการค้าในนามของนายพลอยจำเลย พร้อมกันนี้นายถวิลได้ร่างสัญญาเข้าหุ้นส่วนระหว่างโจทก์จำเลยให้ด้วย ต่อมาโจทก์ได้ให้นายสังเวียนบุตรนายพลอยจำเลยเขียนสัญญาเข้าหุ้นส่วนรายนี้ โดยแสดงจำนวนหุ้นของโจทก์จำเลยไว้ ตามเอกสารลงวันที่ 9 ตุลาคม 2496 (หมาย จ.2) โดยโจทก์จำเลยได้เซ็นชื่อไว้เป็นหลักฐาน ครั้นต่อมานายพลอยจำเลยไม่ได้แบ่งเงินผลกำไรให้โจทก์และเที่ยวพูดว่าโจทก์ไม่มีหุ้นส่วนด้วย โจทก์จึงไปร้องต่ออำเภอ นายปิ่น สหัสโชติ นายอำเภอได้เรียกจำเลยไปทำการเปรียบเทียบ นายพลอยจำเลยยอมรับว่าโจทก์จำเลยได้เข้าหุ้นส่วนรายนี้กันจริงตามจำนวนเงินหุ้น ดังที่โจทก์ฟ้องนายอำเภอได้บันทึกให้โจทก์จำเลยลงชื่อไว้ดังปรากฏตามสัญญาประนีประนอมของจำเลยลงวันที่ 19 เมษายน 2497 พยานโจทก์ทั้งนี้นอกจากตัวโจทก์ก็มีนายถวิลผู้เป็นเจ้าของโรงสีเดิม นายสวยซึ่งเป็นพยานโจทก์ในเอกสารหมาย จ.1 และนายปิ่นนายอำเภอกับเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ประกอบมีน้ำหนักควรเชื่อได้ว่าโจทก์จำเลยได้เข้าหุ้นส่วนกันจริงดังฟ้อง ที่จำเลยนำสืบว่าโรงสีเป็นของนายพลอยแต่ผู้เดียว โจทก์ไม่ได้เกี่ยวข้องเข้าหุ้นส่วนด้วย ตลอดจนว่าสัญญาประนีประนอมซึ่งทำที่อำเภอเกิดขึ้นจากการข่มขู่นั้น ไม่มีน้ำหนักควรรับฟังดังที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดแล้วศาลทั้งสองฟังข้อเท็จจริงต้องกันว่าโจทก์จำเลยเข้าหุ้นส่วนตั้งโรงสีรายนี้ตามจำนวนเงินหุ้นดังฟ้องนั้นชอบด้วยทางพิจารณาแล้วและตามพฤติการณ์ที่จำเลยไม่ทำบัญชีรับจ่าย และไม่แบ่งผลกำไรในการตั้งห้างหุ้นส่วนทำโรงสีนี้ให้โจทก์กลับอ้างว่าโจทก์ไม่ได้เป็นหุ้นส่วนด้วย ประกอบกับที่โจทก์จำเลยมีข้อขัดแย้งกันในกรณีนี้ตลอดมา ถือได้ว่ามีเหตุทำให้หุ้นส่วนรายนี้เหลือวิสัยที่จะดำรงอยู่ต่อไปได้ ตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1057(3) โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เลิกห้างหุ้นส่วนได้ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา ข้อฎีกาของจำเลยต่าง ๆ ฟังไม่ขึ้น จึงพิพากษายืนยกฎีกาจำเลย ให้จำเลยเสียค่าทนายชั้นฎีกา 500 บาทแทนโจทก์

Share