คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4946/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 44 วรรคหนึ่ง ซึ่งใช้บังคับขณะเกิดเหตุจะบัญญัติให้บุคคลมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธก็ตาม แต่ก็มิได้หมายความว่าประชาชนจะสามารถใช้เสรีภาพของตนโดยปราศจากขอบเขตหรือไปละเมิดต่อสิทธิของประชาชนผู้อื่นด้วย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องไม่ใช้เสรีภาพดังกล่าวถึงขั้นเป็นการละเมิดหรือกระทำความผิดต่อกฎหมายบ้านเมือง เพราะกฎหมายที่ตราออกมาใช้บังคับต่อประชาชนทุกคนย่อมมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อจัดระเบียบและรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและประชาชนเป็นสำคัญ ดังนั้น หากมีการกระทำอันเป็นการละเมิดต่อกฎหมาย ก็จะอ้างว่าเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญโดยถือเป็นการชุมนุมโดยสงบหาได้ไม่ การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กับพวกใช้ไหล่ทางของถนนเพชรเกษมอันเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงเป็นที่ตั้งเต็นท์รวมทั้งวางสิ่งของต่าง ๆ จึงเป็นการกีดขวางและอาจเป็นอันตรายแก่บุคคลหรือยานพาหนะที่สัญจรไปมาในทางหลวงแล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จะอ้างว่าไม่มีเจตนาเนื่องจากถูกเจ้าพนักงานตำรวจขัดขวางมิให้เดินต่อไปหาได้ไม่ เพราะจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ย่อมเล็งเห็นผลจากการกระทำของตนว่าการตั้งสิ่งของเหล่านั้นกีดขวางและอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลและยานพาหนะที่สัญจรไปมาบนทางหลวงได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กระทำไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการทางหลวง การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จึงเป็นความผิดตามฟ้อง
แม้ไหล่ทางถนนเพชรเกษมจะเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ก็ตาม แต่การใช้ประโยชน์ของประชาชนย่อมต้องกระทำไปตามปกติวิสัย เช่นการใช้สัญจรไปมาอย่างบุคคลทั่วไป แต่การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กับพวกกางเต็นท์และวางสิ่งของไว้บริเวณไหล่ทางของถนนตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม ถึงวันที่ 6 มิถุนายน 2547 เป็นเวลาเกือบสามเดือน จึงไม่ใช่เป็นการใช้ประโยชน์จากที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 38, 71 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีดังกล่าว
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง, 71 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกคนละ 2 เดือน และปรับคนละ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้คนละ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในคดีรับฟังได้เป็นยุติว่า ระหว่างวันที่ 15 มีนาคม 2547 ถึงวันที่ 6 มิถุนายน 2547 เวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกัน จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กับพวกได้ติดตั้งกางเต็นท์พักอาศัย วางโต๊ะ เก้าอี้ เสื่อ และเครื่องครัว ที่บริเวณไหล่ทางข้างถนนเพชรเกษมขาล่องด้านทิศตะวันออกระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 218 ถึง 219 เป็นระยะทางยาวประมาณ 30 เมตร อันเป็นเขตทางหลวงในลักษณะกีดขวางหรืออาจเป็นอันตรายแก่ยานพาหนะ ตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 4 ประการแรกว่า เหตุที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กับพวกกระทำการดังกล่าว เนื่องจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ต้องการคัดค้านการที่รัฐบาลจะดำเนินการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยให้เป็นบริษัทมหาชน จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กับพวกจึงต้องการเดินเท้าจากกรุงเทพมหานครเพื่อทูลเกล้าฯถวายฎีการ้องทุกข์ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน แต่เนื่องจากเจ้าพนักงานตำรวจตรึงกำลังสกัดที่ค่ายนเรศวรมิให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กับพวกเดินทางต่อไป จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กับพวกจึงต้องกางเต็นท์และวางสิ่งของต่าง ๆ บนไหล่ทางเพื่อรอเดินทางต่อไป การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จึงไม่เป็นความผิดเพราะเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น เห็นว่า แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 44 วรรคหนึ่ง ซึ่งใช้บังคับขณะเกิดเหตุจะบัญญัติให้บุคคลมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธก็ตาม แต่ก็มิได้หมายความว่าประชาชนจะสามารถใช้เสรีภาพของตนโดยปราศจากขอบเขตหรือไปละเมิดต่อสิทธิของประชาชนผู้อื่นด้วย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องไม่ใช้เสรีภาพดังกล่าวถึงขั้นเป็นการละเมิดหรือกระทำความผิดต่อกฎหมายบ้านเมือง เพราะกฎหมายที่ตราออกมาใช้บังคับต่อประชาชนทุกคนย่อมมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อจัดระเบียบและรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและประชาชนเป็นสำคัญ ดังนั้น การอ้างว่ามีเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ แต่มีการกระทำอันเป็นการละเมิดต่อกฎหมาย จะถือว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบหาได้ไม่ การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กับพวกใช้ไหล่ทางของถนนเพชรเกษมอันเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงเป็นที่ตั้งเต็นท์รวมทั้งวางสิ่งของต่าง ๆ จึงเป็นการกีดขวางและอาจเป็นอันตรายแก่บุคคลหรือยานพาหนะที่สัญจรไปมาในทางหลวงแล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กับพวกจะอ้างว่าไม่มีเจตนาเนื่องจากถูกเจ้าพนักงานตำรวจขัดขวางมิให้เดินต่อไปหาได้ไม่ เพราะจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ย่อมเล็งเห็นผลจากการกระทำของจำเลยว่า การตั้งสิ่งของเหล่านั้นกีดขวางและอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลและยานพาหนะที่สัญจรไปมาบนทางหลวงได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กับพวกกระทำไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการทางหลวง การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จึงเป็นความผิดตามฟ้อง ส่วนปัญหาที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฎีกาว่า ไหล่ทางของถนนเพชรเกษมเป็นเขตทางหลวงเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน จึงเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4มีสิทธิที่จะใช้ประโยชน์ในไหล่ทางดังกล่าวได้นั้น เห็นว่า แม้ไหล่ทางถนนเพชรเกษมจะเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ก็ตาม แต่การใช้ประโยชน์ของประชาชนย่อมต้องกระทำไปตามปกติวิสัย เช่น การใช้สัญจรไปมาอย่างบุคคลทั่วไปก็สามารถกระทำได้ แต่การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กับพวกกางเต็นท์และวางสิ่งของไว้บริเวณไหล่ทางของถนนตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม ถึงวันที่ 6 มิถุนายน 2547 เป็นเวลาเกือบสามเดือน จึงไม่ใช่เป็นการใช้ประโยชน์จากที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยชอบดังที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 อ้างมา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 4 เป็นความผิดตามฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share