คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4944/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ในการวินิจฉัยปัญหาเรื่องฟ้องซ้ำของศาลชั้นต้นจะเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายก่อนมีคำพิพากษา และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267ก็ตาม แต่ผลจากคำวินิจฉัยในเรื่องฟ้องซ้ำนั้นย่อมทำให้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาดังกล่าวอีกไม่ได้ตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) แม้ศาลชั้นต้นจะใช้คำว่าจำหน่ายคดีเฉพาะข้อหาดังกล่าวซึ่งไม่ถูกต้องก็ตาม ก็มีผลเท่ากับเป็นการยกฟ้องโจทก์ ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 220 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532 มาตรา 13

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๘๐,๒๖๗, ๘๓, ๙๑
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
ในวันนัดสอบคำให้การจำเลยและนัดสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๗ เป็นฟ้องซ้ำกับข้อหาในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๑๓๘๓๗/๒๕๒๕ ของศาลชั้นต้นให้จำหน่ายคดี ส่วนข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๘๐ เห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงสั่งงดสืบพยานและพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีคงมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาเฉพาะที่เกี่ยวกับข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๗ ตามฟ้องของโจทก์เท่านั้นในปัญหาข้อนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๖๗ คดีนี้ เป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๑๓๘๓๗/๒๕๒๕ของศาลชั้นต้น ซึ่งถึงที่สุดไปแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในข้อหานี้ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙(๔)และต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายืนในปัญหาข้อนี้โดยเห็นว่าเป็นการฟ้องซ้ำเช่นเดียวกับศาลชั้นต้น เห็นว่าแม้ในการวินิจฉัยปัญหาเรื่องฟ้องซ้ำดังกล่าวของศาลชั้นต้นเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายก่อน มีคำพิพากษา และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๗ ก็ตาม แต่ผลจากคำวินิจฉัยในเรื่องฟ้องซ้ำนั้น ย่อมทำให้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาดังกล่าวอีกไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙(๔) แม้ศาลชั้นต้นจะใช้คำว่าจำหน่ายคดีเฉพาะข้อหาดังกล่าวซึ่งไม่ถูกต้องก็ตาม ก็เท่ากับมีผลเป็นการยกฟ้องโจทก์นั่นเอง ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษา โจทก์จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๐ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๑๗)พ.ศ. ๒๕๓๒ มาตรา ๑๓ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายกฎีกาโจทก์.

Share