คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4940/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติประกันสังคมฯ ไม่ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “บุตร” ว่ามีความหมายอย่างไร เมื่อพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกมาใช้บังคับเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างซึ่งเป็นผู้มีฐานะด้อยในทางสังคมเพื่อให้สวัสดิการแก่ลูกจ้างและครอบครัว ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนส่วนใหญ่มักจะอยู่กินฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ดังนั้น คำว่า “บุตร” ตามมาตรา 73 จึงต้องหมายถึงบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและรวมถึงบุตรอันแท้จริงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตนด้วยเมื่อโจทก์เป็นบุตรอันแท้จริงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของ ส. ผู้ประกันตนซึ่งถึงแก่ความตายโจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ในกรณี ส. ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายตามพระราชบัญญัติประกันสังคมฯ มาตรา 73(2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์กรณีตาย

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของผู้อำนวยการสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 6 หนังสือที่ รส 0725/19576 ลงวันที่ 22 กันยายน 2543 และคำวินิจฉัยคณะกรรมการอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ที่ 164/2544 ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2544 และให้จำเลยจ่ายเงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตายให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า นายสมบูรณ์ ศรีชัย ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2542 ด้วยโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ ผู้ประกันตนอยู่กินกับนางสาวเพ็ญจันทร์ อุส่าห์ โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรหนึ่งคนคือโจทก์ สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 6 สั่งจ่ายเงินค่าทำศพ30,000 บาท แต่ปฏิเสธการจ่ายเงินสงเคราะห์กรณีตาย เพราะโจทก์มิใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตน โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ คณะกรรมการอุทธรณ์พิจารณาแล้วให้ยกอุทธรณ์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์ซึ่งมิใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตนจะเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ในกรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตายหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 73 บัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายโดยมิใช่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน ถ้าภายในระยะเวลาหกเดือนก่อนถึงแก่ความตายผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งเดือน ให้จ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีตายดังนี้… (2) เงินสงเคราะห์กรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย ให้จ่ายแก่บุคคลซึ่งผู้ประกันตนทำหนังสือระบุให้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์นั้น แต่ถ้าผู้ประกันตนมิได้มีหนังสือระบุไว้ก็ให้นำมาเฉลี่ยจ่ายให้แก่สามีภริยา บิดามารดา หรือบุตรของผู้ประกันตนในจำนวนที่เท่ากัน” เห็นว่า พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ไม่ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “บุตร” ว่ามีความหมายอย่างไร ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวก็เขียนคำว่าบุตรไว้สองแบบคือ ตามมาตรา 73(2) ที่กล่าวมาใช้คำว่า “บุตร”ส่วนในมาตรา 75 ตรี เกี่ยวกับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร และในมาตรา 77จัตวา (1) เกี่ยวกับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพใช้คำว่า “บุตรชอบด้วยกฎหมาย”เมื่อใช้คำต่างกันในพระราชบัญญัติเดียวกันเช่นนี้ แสดงว่ามีความประสงค์จะให้ความหมายของคำว่า “บุตร” แตกต่างไปจากคำว่า “บุตรชอบด้วยกฎหมาย” โดยคำว่าบุตรนั้นถือเอาบุตรตามสภาพความเป็นจริง ซึ่งรวมถึงบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยเมื่อพิจารณาประกอบเหตุผลว่าบทกฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่ออกมาใช้บังคับเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างซึ่งเป็นผู้มีฐานะด้อยในทางสังคม เพื่อให้สวัสดิการแก่ลูกจ้างและครอบครัว ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนส่วนใหญ่มักจะอยู่กินฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส ดังนั้น ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติประกันสังคมดังกล่าวคำว่า “บุตร”ตามมาตรา 73 จึงต้องหมายถึงบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย และรวมถึงบุตรอันแท้จริงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตนด้วย เมื่อโจทก์เป็นบุตรอันแท้จริงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของนายสมบูรณ์ ศรีชัย ผู้ประกันตน ซึ่งถึงแก่ความตาย โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ในกรณีนายสมบูรณ์ ศรีชัย ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 73(2) ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้วอุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share