แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์หยุดงานโดยยื่นใบลาย้อนหลังอันเป็นการผิดระเบียบของจำเลย จำเลยจึงออกหนังสือเตือนและให้โจทก์ลงชื่อรับทราบ โจทก์ไม่ยอมลงชื่อ ผู้จัดการฝ่ายโรงงานของจำเลยจึงพูดกับโจทก์ว่า “ถ้าคุณไม่ยอมเซ็นผมปลดคุณ” โจทก์พากันกลับไปและไม่มาทำงานอีกพฤติการณ์ดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยได้รับค่าจ้างวันละ ๖๑ บาทกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ ๑๕ และวันสิ้นเดือนของทุกเดือน เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๒๔ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค้างจ่ายค่าจ้างตั้งแต่วันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๒๔ ถึงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๒๔ ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ ๑ จำนวน ๕,๔๙๐ บาท โจทก์ที่ ๒ จำนวน ๑๐,๙๘๐ บาท จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์คนละ ๑,๓๔๒ บาท และค่าจ้างค้างจ่ายอีกคนละ ๔๘๘ บาท
จำเลยให้การว่า โจทก์หยุดงานเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๒๔ โดยปฏิบัติไม่ถูกต้องตามระเบียบการลา โจทก์ที่ ๑ อ้างว่าป่วยซึ่งความจริงไม่ได้ป่วย โจทก์ที่ ๒ลากิจ โดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยตักเตือนก็ไม่เชื่อฟังและพากันกลับไป ไม่มาทำงานอีก โจทก์หยุดงานเองจำเลยมิได้เลิกจ้าง จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหากโจทก์มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าก็ไม่เกินคนละ ๖๗๑ บาท และค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน ๓๖๖ บาทขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงยังไม่พอฟังว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์คนละ ๔๘๘ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปี ตั้งแต่วันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๒๔ จนกว่าจะชำระแก่โจทก์เสร็จคำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า หนังสือของจำเลยที่นายสมชายนำไปให้โจทก์ลงชื่อรับทราบเป็นเพียงหนังสือเตือนโจทก์ เนื่องจากโจทก์ปฏิบัติผิดระเบียบการลาของจำเลย ไม่มีข้อความใดแสดงว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ ถึงแม้หนังสือเตือนจะมีข้อความว่า “ผลเสียหายที่บริษัทฯ (จำเลย) ได้รับเนื่องจากการกระทำของข้าพเจ้าในครั้งนี้ ข้าพเจ้ารู้สำนึกในความผิดจึงขอรับสารภาพว่าข้าพเจ้าได้กระทำผิดจริงและยินดีให้บริษัทฯลงโทษข้าพเจ้าดังต่อไปนี้ ๑. ตักเตือน ๒. ชดใช้ค่าเสียหาย ๓. ปลดออกทันทีโดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้ด้วยก็ตามแต่ก็มีข้อความต่อไปว่า ทั้งนี้ข้าพเจ้าขอรับรองว่านับแต่นี้เป็นต้นไปจะไม่กระทำผิดใด ๆ ให้เป็นที่เสื่อมเสียหรือเสียหายแก่บริษัทฯ อีกต่อไปหากข้าพเจ้าฝ่าฝืนด้วยการกระทำความผิดใด ๆ ก็ตามยินยอมให้บริษัทฯ ลงโทษแก่ข้าพเจ้าโดยไม่เรียกร้องใด ๆ ทั้งสิ้น ก็เพียงประสงค์ให้โจทก์ลุแก่โทษตนเองและสังวรถึงโทษที่จะได้รับภายหน้าเท่านั้น และปรากฏว่าลูกจ้างของจำเลยอื่นซึ่งทำผิดอย่างเดียวและคราวเดียวกับโจทก์ที่ลงชื่อรับทราบหนังสือเตือนก็ยังคงทำงานอยู่ต่อไป ส่วนคำพูดของนายสมชายที่ว่า “ถ้าคุณไม่ยอมเซ็นผมปลดคุณ” นั้น ก็มิได้พูดเป็นกิจจะลักษณะว่าเลิกจ้างโจทก์อาจเพียงคำขู่ให้โจทก์ลงชื่อรับทราบคำเตือนก็ได้ พฤติการณ์ดังกล่าวจึงยังถือไม่ได้ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์
พิพากษายืน