แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมถึงที่สุดแล้ว คำพิพากษาตามยอมย่อมมีผลผูกพันคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 จะมากล่าวอ้างในภายหลังว่า จำเลยที่ 2 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความไปโดยสำคัญผิดหาได้ไม่
กรณีที่จะต้องมีการตีความข้อความในเอกสารใดก็แต่เฉพาะเมื่อข้อความในเอกสารนั้นมีข้อสงสัยเท่านั้น
ข้อความตามตัวอักษรในสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 2 แปลความได้ว่าจำเลยทั้งสองตกลงชำระเงินให้แก่โจทก์ภายในกำหนด 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน2540 เป็นต้นไป อันเป็นเงื่อนเวลาสิ้นสุด สัญญาดังกล่าวย่อมสิ้นผลเมื่อถึงเวลาที่กำหนดนั้น หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดย่อมต้องตกเป็นผู้ผิดสัญญาและโจทก์มีสิทธิบังคับคดีได้ทันทีตามข้อความในสัญญา ข้อ 4 ส่วนข้อความในสัญญาข้อ 2.1 ที่ว่า จำเลยทั้งสองจะชำระเงินต่อเมื่อได้ขายคอนโดมิเนียมของจำเลยที่ 1 ได้แล้วแต่ไม่เกิน 1 ปี ดังกล่าวในข้อ 2 มีความหมายชัดเจนถึงว่า หากจำเลยทั้งสองขายคอนโดมิเนียมของจำเลยที่ 1 ได้ก่อนครบกำหนด 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2540 เมื่อใดจำเลยทั้งสอง ก็จะชำระเงินให้แก่โจทก์เมื่อนั้น แต่หากจำเลยทั้งสองขายคอนโดมิเนียมของจำเลยที่ 1 ไม่ได้ จำเลยทั้งสองก็ยังจะต้องชำระเงินให้แก่โจทก์ภายในกำหนดเวลา 1 ปีนับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2540 อันเป็นเงื่อนเวลาสิ้นสุดที่กำหนดไว้ตามสัญญาข้อ 2นั่นเอง
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองโดยมีข้อความตามสัญญาประนีประนอมยอมความว่า ข้อ 1 ตามที่โจทก์ได้ลงเงินที่จำเลยที่ 1 เป็นจำนวนเงินสุทธิ 5,600,000 บาท มีค่าเท่ากับ 50 หุ้น ของจำเลยที่ 1 ตามทะเบียนหุ้น ข้อ 2 จำเลยทั้งสองสัญญาว่าจะชำระเงิน 5,600,000 บาท ภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ 1 กันยายน 2540 เป็นต้นไป ข้อ 2.1 จำเลยทั้งสองจะชำระเงิน 5,600,000 บาทต่อเมื่อได้ขายคอนโดมิเนียมของจำเลยที่ 1 แล้ว แต่ไม่เกิน 1 ปี ดังกล่าวในข้อ 2 ข้อ 2.2โจทก์สัญญาว่าเมื่อได้รับเงิน 5,600,000 บาท แล้วจะโอนที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 4669 ตำบลวังผาง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เนื้อที่ 11 ไร่ 2 งาน 20 ตารางวา คืนให้จำเลยที่ 2ข้อ 2.3 โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงกันว่า เมื่อขายคอนโดมิเนียมของจำเลยที่ 1 แล้วถ้ามีกำไรจะแบ่งกำไรตามหุ้นที่จดทะเบียน ถ้าไม่มีกำไรโจทก์ก็จะได้รับเงิน 5,600,000บาท เหมือนเดิมและคดีถึงที่สุดแล้ว วันที่ 7 เมษายน 2542 โจทก์ขอให้ออกหมายบังคับคดี และศาลชั้นต้นได้ออกหมายบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองแล้ว ต่อมาวันที่ 18 มิถุนายน2542 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้งดการบังคับคดีและยกเลิกการบังคับคดี ศาลชั้นต้นสั่งว่า โจทก์มีสิทธิขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีได้ ไม่มีเหตุงดการบังคับคดี ให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า ในวันทำสัญญายอม จำเลยที่ 2 ได้ทักท้วงไว้แล้วว่า หากขายคอนโดมิเนียมไม่ได้ภายในกำหนดตามสัญญา ผลจะเป็นอย่างไร ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนได้ชี้แจงว่า หากไม่ระบุข้อความตามสัญญายอมเช่นนี้ก็จะตกลงกันไม่ได้และเป็นเรื่องพูดคุยกันได้ว่า เงินที่ต้องชำระให้แก่โจทก์ต้องเป็นเงินที่ได้จากการขายคอนโดมิเนียมเมื่อจำเลยทั้งสองไม่สามารถขายคอนโดมิเนียมได้ภายในกำหนด โจทก์ก็ไม่ได้รับความเสียหายจึงไม่มีสิทธิบังคับคดี คำสั่งของศาลที่ให้โจทก์บังคับคดีจึงผิดระเบียบ ขอให้นัดพร้อมและเพิกถอนคำสั่งที่ผิดระเบียบดังกล่าว
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยทั้งสองมิได้ชำระเงินให้แก่โจทก์ภายในระยะเวลาที่กำหนดตามยอม จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิบังคับคดี ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า โจทก์ไม่มีสิทธิบังคับตามยอมเพราะเหตุที่จำเลยที่ 2 ยังไม่เป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่นั้น เห็นว่า ข้อความตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมข้อ 2 มีความว่า “จำเลยทั้งสองสัญญาว่าจะชำระเงิน 5,600,000 บาท ภายในกำหนด 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2540 เป็นต้นไป 2.1 จำเลยทั้งสองจะชำระเงิน5,600,000 บาท ต่อเมื่อได้ขายคอนโดของบริษัทเชียงใหม่ วี.ไอ.พี. ทาวเวอร์จำกัด ได้แล้ว แต่ไม่เกิน 1 ปี ดังกล่าวในข้อ 2…” และข้อ 4 มีความว่า “ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความนอกจากที่ศาลสั่งคืนให้เป็นพับ หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา ยอมให้บังคับคดีทันที” ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 แสดงเจตนาทำสัญญายอมไปโดยสำคัญผิดว่าหากผิดสัญญาข้อ 2 แล้ว โจทก์จะไม่ยึดทรัพย์เอาจากจำเลยที่ 2 เป็นการส่วนตัว โดยโจทก์จะเอาชำระจากเงินที่ได้จากการขายคอนโดมิเนียมของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ก็ได้ทักท้วงในขณะที่ศาลชั้นต้นนั่งพิจารณาแล้ว แต่ได้รับคำชี้แจงจากโจทก์กับผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนว่า หากไม่ระบุตามสัญญาเช่นนี้ก็ตกลงกันไม่ได้ และก็ตีความกันว่าจะต้องเอาชำระจากเงินที่ขายคอนโดมิเนียมของจำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 2หลงสำคัญผิดไปนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2540 ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานจำเลยว่า โจทก์ ทนายโจทก์จำเลยที่ 2 และทนายจำเลยทั้งสองมาศาล คู่ความได้แถลงต่อศาลชั้นต้นร่วมกันว่า คดีตกลงกันได้และยื่นสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาล เพื่อขอให้ศาลพิพากษาตามยอม เมื่อศาลชั้นต้นตรวจพิเคราะห์สัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว เห็นว่าไม่ขัดต่อกฎหมายจึงได้พิพากษาให้คดีเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ดังนั้น หากจำเลยที่ 2 เห็นว่า ข้อความแห่งสัญญาประนีประนอมยอมความที่ได้ยื่นต่อศาลดังกล่าวไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันหรือไม่ถูกต้องประการใดก็ชอบที่จะขอให้แก้ไขเพื่อให้ถูกต้องและเป็นไปตามที่ตกลงกันหรือปฏิเสธที่จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นเสียหรืออาจใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาตามยอมดังกล่าวภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมาย การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมถึงที่สุดแล้วเช่นนี้ คำพิพากษาตามยอมย่อมมีผลผูกพันคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 จะมากล่าวอ้างในภายหลังว่า จำเลยที่ 2 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความไปโดยสำคัญผิดหาได้ไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น จำเลยที่ 2 ฎีกาต่อมาว่าข้อความในสัญญาประนีประนอมยอมความขัดกันและสับสน กล่าวคือ ตามสัญญาข้อ 2 จำเลยทั้งสองสัญญาว่าจะชำระเงินภายในกำหนด 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2540 เป็นต้นไป แต่สัญญาข้อ 2.1 จำเลยทั้งสองจะชำระต่อเมื่อได้ขายคอนโดมิเนียมของจำเลยที่ 1 ได้แล้ว แต่ไม่เกิน 1 ปี ดังกล่าวในข้อ 2 จึงต้องตีความสัญญาตามเจตนาว่าเงินที่จำเลยทั้งสองจะนำมาชำระแก่โจทก์นั้น จะต้องได้มาจากการขายคอนโดมิเนียมของจำเลยที่ 1 มิใช่เงิน ส่วนตัวของจำเลยที่ 2 ศาลฎีกาเห็นว่า กรณีที่จะต้องมีการตีความแห่งข้อความในเอกสารใดก็แต่เฉพาะเมื่อข้อความในเอกสารนั้นมีข้อสงสัยเท่านั้น คดีนี้ข้อความตามตัวอักษรในสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2 ข้างต้น มีความหมายชัดเจนแปลความได้โดยนัยเดียวว่า จำเลยทั้งสองตกลงชำระเงินให้แก่โจทก์ภายในกำหนด 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2540 เป็นต้นไป อันเป็นเงื่อนเวลาสิ้นสุดที่กำหนดไว้ตามสัญญา สัญญาดังกล่าวย่อมสิ้นผลเมื่อถึงเวลาที่กำหนดนั้น กล่าวคือ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดย่อมต้องตกเป็นผู้ผิดสัญญา และโจทก์มีสิทธิบังคับคดีได้ทันทีตามข้อความในสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 4 ส่วนข้อความในสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2.1 ที่ว่า จำเลยทั้งสองจะชำระเงินต่อเมื่อได้ขายคอนโดมิเนียมของจำเลยที่ 1 ได้แล้ว แต่ไม่เกิน 1 ปีดังกล่าวในข้อ 2 มีความหมายชัดเจนถึงว่า หากจำเลยทั้งสองขายคอนโดมิเนียมของจำเลยที่ 1 ได้ก่อนครบกำหนด 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2540เมื่อใด จำเลยทั้งสองก็จะชำระเงินให้แก่โจทก์เมื่อนั้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหากจำเลยทั้งสองขายคอนโดมิเนียมของจำเลยที่ 1 ไม่ได้ จำเลยทั้งสองก็ยังจะต้องชำระเงินให้แก่โจทก์ภายในกำหนดเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2540 อันเป็นเงื่อนเวลาสิ้นสุดที่กำหนดไว้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2 นั่นเอง ข้อความแห่งสัญญาประนีประนอมยอมความทั้งสองข้อดังกล่าวจึงมิได้ขัดกันหรือสับสน ถึงกับต้องนำสัญญาข้อ 2.2 ที่โจทก์ต้องโอนที่ดินคืนแก่จำเลยที่ 2 หรือสัญญาข้อ 2.3 ที่จำเลยทั้งสองตกลงว่า ถ้ามีกำไรจากการขายคอนโดมิเนียมของจำเลยที่ 1 ก็จะแบ่งกำไรตามหุ้นที่จดทะเบียน ถ้าไม่มีกำไรโจทก์ก็จะได้รับเงิน 5,600,000 บาท เหมือนเดิม ซึ่งล้วนเป็นเรื่องภายหลังเมื่อจำเลยทั้งสองได้ชำระเงินแก่โจทก์ภายในกำหนดเวลาตามสัญญาข้อ 2 และ ข้อ 2.1 แล้ว มาพิจารณาประกอบการตีความข้อสัญญาดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา ศาลฎีกาเห็นต่อไปว่าการตีความดังเช่นที่จำเลยที่ 2 ฎีกามานั้น เป็นที่เห็นได้ชัดว่านอกจากจะขัดกับข้อความตามตัวอักษรของสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว ยังจะมีผลทำให้เงื่อนเวลาสิ้นสุดที่กำหนดไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2 เพื่อให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่โจทก์ซึ่งนับเป็นข้อสำคัญของสัญญาไม่มีผลใช้บังคับ ดังนั้น เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมโจทก์จึงมีสิทธิบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยที่ 2 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน