คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4930/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันออกจดที่ดอนไม่ได้จดแม่น้ำที่ดินของโจทก์ก็ไม่ได้เกิดที่งอกริมตลิ่งหากแต่เป็นที่งอกที่เกิดจากที่ดอนนอกแนวเขตที่ดินของโจทก์ที่งอกดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1308 จำเลยให้การว่าที่พิพาทเป็นที่ดินซึ่งอยู่ในเขตโฉนดที่ดินของจำเลยซึ่งเท่ากับปฎิเสธว่าที่พิพาทมิใช่ที่งอกริมตลิ่งการที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า”โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่งอกริมตลิ่งหรือไม่”และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าที่พิพาทมิใช่ที่งอกริมตลิ่งโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องถือว่าเป็นการวินิจฉัยตรงตามประเด็นข้อพิพาทแล้วหาใช่เป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นไม่ ฟ้องโจทก์มิได้กล่าวอ้างว่าที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและจำเลยก็มิได้ให้การต่อสู้ไว้จึงเป็นเรื่องนอกประเด็นปัญหาดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงและไม่ใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา142(5)ศาลฎีการับวินิจฉัยให้ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3133 ที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศตะวันออกซึ่งจดแม่น้ำน้อยได้เกิดที่งอกริมตลิ่ง เป็นเนื้อที่กว้างประมาณ 15 วายาวประมาณ 12 วา เดิมนายสุก โกศลวรรณธนะ ซึ่งเป็นบิดาของจำเลยทั้งสี่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศเหนือ เมื่อประมาณปี 2498 นายสุกได้ขออนุญาตโจทก์ปลูกกอไผ่จำนวน 4 กอ ในที่งอกริมตลิ่งของโจทก์ทางด้านทิศเหนือซึ่งติดกับที่ตอนหน้าที่ดินของนายสุก ต่อมาเมื่อปี 2522 นายสุกได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมทั้งกอไผ่ 4 กอดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสี่ ต่อมาจำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันปลูกกอไผ่ขึ้นในที่ดินของจำเลยทั้งสี่บริเวณติดต่อกับที่ดินของโจทก์ด้านทิศเหนือยาวตลอดแนวและจำเลยทั้งสี่ได้ทำการขุดลอกคูขึ้นในที่ดินของจำเลยทั้งสี่เป็นแนวยาวกั้นระหว่างกอไผ่กับที่ดินของจำเลยทั้งสี่ห่างจากที่ดินของโจทก์ประมาณ 1 เมตร ลึกประมาณ 2 เมตร ยาวตลอดแนวที่ดินของโจทก์ เป็นเหตุให้กอไผ่ซึ่งจำเลยทั้งสี่ปลูกขึ้นรุกล้ำเข้ามาในที่ดินโฉนดเลขที่ 3113 ของโจทก์เป็นเนื้อที่กว้างประมาณ2 เมตร ยาวตลอดแนวที่ดินของโจทก์ที่ติดกับที่ดินของจำเลยทั้งสี่ทางด้านทิศเหนือและเมื่อประมาณกลางปี 2533 จำเลยทั้งสี่ได้บุกรุกเข้ามาในที่งอกริมตลิ่งของโจทก์ และได้ร่วมกันปิดกั้นรั้วสังกะสีและสร้างรั้วด้วยหนามไผ่ขวางกั้นระหว่างที่ดินของโจทก์กับที่งอกริมตลิ่ง ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์บางส่วนเป็นเนื้อที่กว้างประมาณ 5 วา ยาวประมาณ 12 วา เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่งอกริมตลิ่งในส่วนดังกล่าว และทำให้โจทก์ไม่สามารถผ่านทางลงสู่แม่น้ำน้อยได้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ฐานละเมิดในอัตราเดือนละ 4,000บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสี่จะรื้อถอนกอไผ่ทั้งหมดออกไปจากที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันรื้อถอนตัดฟันก่อไผ่ในส่วนที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ทั้งหมดและให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันรื้อถอนรั้วสังกะสีกับรั้วหนามไผ่ที่จำเลยทั้งสี่นำมาปิดกั้นในที่งอกริมตลิ่งของโจทก์และขนย้ายรั้วดังกล่าวออกไปจากที่ดินของโจทก์ พร้อมทั้งตัดฟันรื้อถอนกอไผ่ 4 กอ ที่นายสุกปลูกในที่งอกริมตลิ่งของโจทก์ออกไปหากจำเลยทั้งสี่ไม่ดำเนินการ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเข้าดำเนินการ โดยให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าใช้จ่ายเองทั้งสิ้น และห้ามมิให้จำเลยทั้งสี่เข้าเกี่ยวข้องในที่ดินและที่งอกริมตลิ่งของโจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3133 และที่งอกหน้าที่ดินโฉนดดังกล่าวหรือมิฉะนั้นโจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินมาจากเจ้าของกรรมสิทธิ์เดิมโดยไม่สุจริตที่ดินบริเวณที่โจทก์กล่าวอ้างว่าเป็นที่งอกริมตลิ่งของโจทก์นั้นเป็นที่ดินอยู่ในโฉนดของจำเลยทั้งสี่ซึ่งเดิมเป็นของนายสุกบิดาของจำเลยทั้งสี่ โดยนายสุกได้ใช้ประโยชน์และครอบครองด้วยการเข้าไปปลูกกอไผ่และทำสวนเก็บผลประโยชน์มาตลอดจนตกทอดมาถึงจำเลยทั้งสี่ก็ยังใช้ประโยชน์และครอบครองที่ดินส่วนที่โจทก์กล่าวอ้างมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 50 ปีแล้ว หากที่ดินที่โจทก์กล่าวอ้างเป็นที่งอกริมตลิ่งโจทก์ไม่มีสิทธิในที่ดินดังกล่าวแล้วเพราะจำเลยทั้งสี่ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเป็นเวลากว่า 50 ปีแล้ว ที่ดินส่วนดังกล่าวจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 ความจริงแล้วที่ดินที่กอไผ่ปลูกอยู่เป็นที่ดินของจำเลยทั้งสี่ จำเลยทั้งสี่หาได้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ไม่ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า ห้ามมิให้จำเลยทั้งสี่เข้าเกี่ยวข้องในที่ดินและที่งอกริมตลิ่งของโจทก์ ตามหมายสีแดงและหมายสีเหลืองในแผนที่พิพาท ซึ่งให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษานี้และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันรื้อถอนตัดฟันกอไผ่ในส่วนที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ทั้งหมด และรื้อถอนรั้วสังกะสี รั้วหนามไผ่ที่จำเลยทั้งสี่นำมาปิดกั้นไว้ในที่งอกริมตลิ่งของโจทก์ และให้ขนย้ายรั้วออกไปจากที่ดินของโจทก์พร้อมตัดฟันรื้อถอนกอไผ่ 4 กอ ที่นายสุก โกศลวรรณธนะ นำมาปลูกในที่งอกริมตลิ่งของโจทก์ออกไป แต่ที่โจทก์ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าหากจำเลยทั้งสี่ไม่ยอมรื้อถอนตัดฟันกอไผ่และรั้วที่จำเลยทั้งสี่นำมาปิดกั้นที่งอกริมตลิ่งของโจทก์ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเข้าดำเนินการรื้อถอนตัดฟัน ขนย้ายรั้วและกอไผ่ของจำเลยทั้งสี่ออกไปจากที่ดินและที่งอกริมตลิ่งของโจทก์ โดยให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าใช้จ่ายเองทั้งสิ้นนั้นเห็นว่า เป็นเรื่องในชั้นบังคับคดี ไม่จำต้องสั่งคำขอในส่วนนี้ของโจทก์ คำขออื่นให้ยกเสีย
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันรื้อถอน ตัดฟันกอไผ่ในส่วนที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินโฉนดเลขที่ 3133 ของโจทก์ทางด้านทิศเหนือให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสี่ คำขออื่นให้ยกนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่พิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่งของที่ดินโจทก์โฉนดเลขที่ 3133 ตำบลบ้านเกาะ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยาดังที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ โจทก์นำสืบโดยมีตัวโจทก์เองและนายหาญ จิตศรี ผู้เคยทำนาในที่ดินของโจทก์เบิกความยืนยันว่าที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นด้านที่เกิดที่งอกพิพาทจดแม่น้ำน้อย ที่พิพาทย่อมเป็นที่งอกริมตลิ่งของที่ดินโจทก์โจทก์จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่งอกริมตลิ่งพิพาท แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าข้อนำสืบของโจทก์ดังกล่าวขัดแย้งกับพยานเอกสารของโจทก์เองจนยากที่จะเชื่อถือคำเบิกความของโจทก์และของนายหาญได้ กล่าวคือ ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1ซึ่งเป็นสำเนาโฉนดที่ดินของโจทก์ระบุโดยมีรูปแผนที่ดินประกอบว่าที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันออกจดที่ดอน หาได้ระบุว่าจดแม่น้ำน้อยดังที่โจทก์และนายหาญเบิกความไม่ และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้จำเลยทั้งสี่ก็นำสืบเช่นเดียวกันว่า ที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันออกจดที่ดอนมีลักษณะเป็นชะโงกดินจดแม่น้ำน้อยตามภาพถ่ายหมายเลข ล.4 ที่พิพาทจึงมิใช่ที่งอกริมตลิ่งของโจทก์เมื่อคำเบิกความพยานบุคคลของโจทก์ขัดแย้งกับพยานเอกสารของโจทก์เองและหลักฐานที่ปรากฎในพยานเอกสารของโจทก์กลับไปเจือสมกับข้อนำสืบของจำเลยทั้งสี่เช่นนี้ก็ต้องฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันออกจดที่ดอนตามที่ระบุไว้ในสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งเป็นเอกสารราชการ หาได้จดแม่น้ำน้อยดังที่โจทก์นำสืบไม่ เมื่อที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันออกจดที่ดอนไม่ได้จดแม่น้ำน้อยที่ดินของโจทก์ก็ไม่ได้เกิดที่งอกริมตลิ่งหากแต่เป็นที่งอกที่เกิดจากที่ดอนนอกแนวเขตที่ดินของโจทก์ที่งอกดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินของโจทก์ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1308 โจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยทั้งสี่รื้อถอนหรือตัดฟันกอไผ่จำนวน 4 กอที่บิดาของจำเลยทั้งสี่ปลูกไว้บนที่พิพาทออกไป รวมทั้งไม่อาจบังคับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันรื้อถอนรั้วสังกะสีและรั้วหนามไผ่ที่จำเลยทั้งสี่รวมกันกั้นระหว่างที่ดินของโจทก์กับที่พิพาทด้วยที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า ที่พิพาทมิใช่ที่งอกริมตลิ่ง แต่เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าบุคคลใดจะครอบครองและได้มาต้องปฎิบัติตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1308 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นจึงเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) นั้น เห็นว่าจำเลยทั้งสี่ให้การต่อสู้คดีว่า ที่พิพาทเป็นที่ดินซึ่งอยู่ในเขตโฉนดที่ดินของจำเลยทั้งสี่ซึ่งเท่ากับปฎิเสธว่าที่พิพาทมิใช่ที่งอกริมตลิ่ง การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่งอกริมตลิ่งหรือไม่ และศาลอุทธรณ์ภาค 2วินิจฉัยว่า ที่พิพาทมิใช่ที่งอกริมตลิ่งโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยทั้งสี่เช่นนี้ จึงถือได้ว่าเป็นการวินิจฉัยตรงตามประเด็นข้อพิพาทแล้ว หาใช่เป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นไม่ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เช่นนี้แล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่ว่า จำเลยทั้งสี่ได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไปส่วนที่โจทก์ฎีกาข้อต่อมาว่า แม้ฟังว่าที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินการกระทำของจำเลยทั้งสี่ก็ทำให้โจทก์ไม่สามารถใช้ที่พิพาทเป็นที่สัญจรทางน้ำได้ โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสี่นั้น เห็นว่าแม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าที่พิพาทเป็นบริเวณที่ชาวบ้านทั่วไปนำกระบือมาลงน้ำ และได้ใช้ที่พิพาทเป็นทางขึ้นลงสู่แม่น้ำเป็นที่สัญจรทางเรือ ตามสภาพดังกล่าวที่พิพาทจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช่ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(2)ก็ตาม แต่เมื่อฟ้องโจทก์มิได้กล่าวอ้างว่าที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและจำเลยก็มิได้ให้การต่อสู้ไว้ จึงเป็นเรื่องนอกประเด็นปัญหาดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องพิสูจน์กันในทางพิจารณาและไม่ใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ศาลฎีการับวินิจฉัยให้ไม่ได้”
พิพากษายืน

Share