คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4926/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สินค้ายากานาไมซิน ซัลเฟตและเจนตาไมซิน ซัลเฟต แม้จะมีคุณสมบัติในการรักษาโรคโดยไม่ต้องใส่ยาตัวอื่นเติมเข้าไป แต่เมื่อจะใช้ต้องไปทำตามกรรมวิธีด้วยเครื่องจักรในสถานที่ปราศจากเชื้อ ตลอดจนภาชนะและตัวผู้ทำก็ต้องปราศจากเชื้อด้วย เป็นการเอาไปผลิตใหม่เพื่อให้เป็นยาสำเร็จรูปใช้ได้ทันที จึงไม่เป็นยาซึ่งแพทย์หรือประชาชนนำไปใช้ได้โดยตรง ตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 54) พ.ศ.2517 บัญชีที่ 3 หมวด 2 (1) โจทก์จึงได้รับยกเว้นภาษีการค้าสำหรับการขายสินค้านั้นตามมาตรา 5 (8) แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว
ตามมาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากร และกฎกระทรวง ฉบับที่ 161(พ.ศ.2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรข้อ 1 (2) ให้เริ่มคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันถัดจากวันครบระยะเวลาสามเดือน นับแต่วันยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร ดังนั้น เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2529 จึงครบระยะเวลาสามเดือนในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2530 และต้องเริ่มคิดดอกเบี้ยให้โจทก์ตั้งแต่วันที่ 1มีนาคม 2530 เป็นต้นไป
แม้ว่าตามมาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จะมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน ซึ่งเป็นอัตรามากกว่าอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ขอให้จำเลยทั้งสองรับผิดใช้ดอกเบี้ยเพียงอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ศาลจึงพิพากษาให้เท่าที่โจทก์ขอ แต่ไม่เกินกว่าจำนวนเงินภาษีอากรที่ได้รับคืนตามมาตรา 4 ทศ วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๒๔ ถึงวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๒๙โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลสำหรับการขายยากานาไมซิน ซัลเฟตและเจนตาไมซิน ซัลเฟต ให้แก่จำเลยทั้งสองทุก ๆ เดือน เป็นจำนวนทั้งสิ้น ๙๙๔,๕๓๒ บาท โดยสำคัญผิดว่ามีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าดังกล่าว ทั้ง ๆ ที่ตามกฎหมายโจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้า เพราะผลิตภัณฑ์ยาของโจทก์ทั้งสองชนิดดังกล่าวซึ่งโจทก์ผลิตขึ้นในราชอาณาจักรได้รับยกเว้นภาษีการค้าตามมาตรา ๕ (๘) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า(ฉบับที่ ๕๔) พ.ศ.๒๕๑๗ ทั้งนี้เพราะผลิตภัณฑ์ยาทั้งสองชนิดดังกล่าวไม่ใช่สินค้าตามบัญชีที่ ๓หมวด ๒ (๑) ท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว เนื่องจากเป็นยาซึ่งแพทย์หรือประชาชนไม่อาจนำไปใช้ได้โดยตรง โจทก์จึงได้ยื่นคำร้องขอคืนภาษีจากจำเลยทั้งสองแล้ว แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมคืน ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินค่าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล จำนวน ๙๙๔,๕๓๒ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย๑๑๖,๖๘๗.๒๑ บาท ให้แก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินค่าภาษีดังกล่าวแก่โจทก์ นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า ยากานาไมซิน ซัลเฟต และยาเจนตาไมซิน ซัลเฟต ที่โจทก์ผลิตขึ้นจำหน่ายนั้น มีลักษณะเป็นผง เป็นยาที่อยู่ในสภาพที่สามารถนำไปใช้ในการรักษาโรคได้ทันทีเพราะมีส่วนผสมประกอบผสมเสร็จแล้ว และมีสูตรส่วนผสมครบบริบูรณ์พร้อมที่จะนำไปใช้รักษาโรคเข้าลักษณะเป็นสินค้ายา ซึ่งแพทย์หรือประชาชนนำไปใช้ได้โดยตรง เมื่อโจทก์ผลิตขายในราชอาณาจักรจึงต้องเสียภาษีการค้าในอัตราร้อยละ ๑.๕ของรายรับ ตามบัญชีที่ ๓ หมวด ๒ (๑) แห่งบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ ๕๔) พ.ศ.๒๕๑๗ และมาตรา ๗ (๓) แห่งพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวและเสียภาษีบำรุงเทศบาลร้อยละ ๑๐ ของภาษีการค้าตามเทศบัญญัติของเทศบาลนครกรุงเทพมหานคร ฯเรื่อง การจัดเก็บภาษีอากรและค่าธรรมเนียมบางประเภท (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๔๙๗ ข้อ ๓ สินค้ายาทั้งสองชนิดของโจทก์ไม่เข้าเกณฑ์ได้รับยกเว้นภาษีการค้าตามมาตรา ๕(๘) แห่งพระราชกฤษฎีกา ฯ(ฉบับที่ ๕๔) พ.ศ.๒๕๑๗ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องคืนเงินค่าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลตามฟ้องให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินภาษีจำนวน ๙๙๔,๕๓๒ บาทคืนแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ ๒ รับผิดเฉพาะภาษีบำรุงเทศบาลพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินที่จำเลยแต่ละคนจะต้องรับผิด นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสินค้ายากานาไมซินซัลเฟต และเจนตาไมซิน ซัลเฟต แม้จะมีคุณสมบัติในการรักษาโรคโดยไม่ต้องใส่ยาตัวอื่นเติมเข้าไปแต่เมื่อจะใช้ต้องไปทำตามกรรมวิธีด้วยเครื่องจักร ในสถานที่ปราศจากเชื้อ ตลอดจนภาชนะและตัวผู้ทำก็ต้องปราศจากเชื้อด้วย เป็นการเอาไปผลิตใหม่เพื่อให้เป็นยาสำเร็จรูปใช้ได้ทันที จึงถือไม่ได้ว่ายาทั้งสองของโจทก์ดังกล่าวเป็นยาซึ่งแพทย์หรือประชาชนนำไปใช้ได้โดยตรง ตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า ( ฉบับที่ ๕๔) พ.ศ.๒๕๑๗บัญชีที่ ๓ หมวด ๒ (๑) การขายสินค้ายาทั้งสองชนิดของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการขายสินค้าตามประเภทการค้า ๑ ชนิด ๑ (ก) ของบัญชีอัตราภาษีการค้าท้ายหมวด ๔ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากรและเป็นสินค้าที่ผลิตในราชอาณาจักร กับเป็นสินค้าที่มิได้ระบุในบัญชีที่ ๑ บัญชีที่ ๒ และบัญชีที่ ๓ ท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวด้วย โจทก์จึงได้รับยกเว้นภาษีการค้าสำหรับการขายสินค้ายาทั้งสองชนิดนั้นตามมาตรา ๕(๘) แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว เมื่อเป็นเช่นนี้โจทก์ก็ไม่ต้องเสียภาษีบำรุงเทศบาลด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๐นั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ได้ขอคืนภาษีในวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๙ การคืนเงินภาษีอากรมาตรา ๔ ทศ แห่งประมวลรัษฎากรให้ผู้ที่ได้รับคืนเงินภาษีอากรได้รับดอกเบี้ยด้วย ในอัตราร้อยละ ๑ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีอากรที่ได้รับคืนโดยไม่คิดทบต้น ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง แต่มิให้เกินกว่าจำนวนเงินภาษีอากรที่ได้รับคืน และตามกฎกระทรวงฉบับที่๑๖๑ (พ.ศ.๒๕๒๖) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรข้อ ๑ (๒) กรณีคืนเงินภาษีอากรที่ชำระตามแบบแสดงรายการ ให้เริ่มคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันถัดจากวันครบระยะเวลาสามเดือน นับแต่วันยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอคืนในวันที่ ๒๘พฤศจิกายน ๒๕๒๙ จึงครบระยะเวลาสามเดือน นับแต่วันยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร วันที่ ๒๘กุมภาพันธ์ ๒๕๓๐ และต้องเริ่มคิดดอกเบี้ยให้โจทก์ในวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๓๐ เป็นต้นไป และแม้ว่าตามมาตรา ๔ ทศ แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จะมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑ ต่อเดือนซึ่งเป็นอัตราที่มากกว่าอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ขอให้จำเลยทั้งสองรับผิดใช้ดอกเบี้ยเพียงอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ศาลจึงพิพากษาให้เท่าที่โจทก์ขอ แต่ไม่เกินจำนวนเงินภาษีอากรที่โจทก์ได้รับคืนตามมาตรา ๔ ทศ วรรคสอง อุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองชดใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินที่จำเลยแต่ละคนต้องรับผิด ตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๓๐ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน ๑๑๖,๖๘๗.๒๑ บาท และดอกเบี้ยทั้งหมดต้องไม่เกินจำนวนเงินภาษีอากรที่โจทก์ได้รับคืนด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง.

Share