แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การที่จำเลยร่วมอุทธรณ์ว่า ผู้ตายเป็นผู้ขับรถโดยประมาทเลินเล่อแต่เพียงผู้เดียว เป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นที่ฟังว่า ย. ลูกจ้างจำเลยที่ 1 มีส่วนประมาทเลินเล่อด้วย อุทธรณ์ของจำเลยร่วมจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เมื่อทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์สำหรับโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ในสำนวนที่ 2 มีเพียงคนละไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยร่วมในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ให้เป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 242 (1) และถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ฎีกาของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 จึงไม่มีสิทธิฎีกา แม้ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นจะรับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริง ศาลฎีกาก็ไม่อาจพิจารณาฎีกาของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ได้ และสมควรแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้ถูกต้อง เหตุที่รถยนต์บรรทุกที่ ย. ขับเสียหลักแล่นไปชนรถยนต์โดยสารของโจทก์ที่ 1 เป็นเพราะผู้ตายขับรถยนต์เก๋งแล่นล้ำเส้นกึ่งกลางของทางเดินรถเข้าไปชนรถยนต์บรรทุกก่อน ดังนั้น ย. จึงไม่ได้ขับรถประมาท เหตุที่รถยนต์ชนกันเกิดความประมาทเลินเล่อของผู้ตายฝ่ายเดียว มิใช่เป็นผลโดยตรงที่เกิดจากการที่ ย. ขับรถด้วยความเร็วสูง หรือขับรถยนต์บรรทุกที่บรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดแต่อย่างใด
โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นโจทก์ในสำนวนแรก และโจทก์ที่ 2 ถึงโจทก์ที่ 4 ที่เป็นโจทก์ในสำนวนที่สองบรรยายฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์เก๋งรับผิดในฐานะเป็นตัวการรับผิดร่วมกับผู้ตายซึ่งเป็นบุตรและเป็นตัวแทนขับรถไปตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 โดยโจทก์ทั้งสี่มิได้ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในฐานะทายาทโดยธรรมของผู้ตายที่กระทำละเมิด แม้โจทก์ที่ 1 จะแก้ไขคำฟ้องโดยระบุชื่อจำเลยที่ 2 ว่าในฐานะส่วนตัวและในฐานะทายาทของ อ. แต่ในคำฟ้องก็มิได้ขอให้จำเลยที่ 2 รับผิดในฐานะทายาทด้วย การที่ศาลล่างพิพากษาให้จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 ผู้เข้าเป็นคู่ความแทนรับผิดต่อโจทก์ทั้งสี่ในฐานะทายาทโดยธรรมของ อ. ผู้ตาย จึงเป็นการพิพากษาเกินกว่าที่กล่าวมาในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 และเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 2 ไม่อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้
ย่อยาว
คดีสองสำนวนนี้เดิมศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณากับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 147/2541 ของศาลชั้นต้น โดยให้เรียกโจทก์ในสำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 เรียกโจทก์ทั้งสามในสำนวนที่สองว่า โจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ตามลำดับ เรียกจำเลยที่ 1 ในคดีทั้งสองสำนวนว่า จำเลยที่ 1 เรียกจำเลยที่ 2 ในคดีทั้งสองสำนวนและจำเลยที่ 1 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 147/2541 ของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นสำนวนที่สามว่าจำเลยที่ 2 เรียกจำเลยที่ 2 ในสำนวนที่สามว่า จำเลยที่ 3 และเรียกจำเลยร่วมของทั้งสองสำนวนและโจทก์ในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 147/2541 ของศาลชั้นต้นว่า จำเลยร่วม แต่คดีสำนวนหมายเลขแดงที่ 147/2541 ของศาลชั้นต้นยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะสองสำนวนนี้
สำนวนแรก โจทก์ที่ 1 ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80 – 8861 ราชบุรี มีนายยิ้วซวง เซียงฉิน ลูกจ้างจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์คันดังกล่าว จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์เก๋งหมายเลขทะเบียน ก-5024 ราชบุรี มีนายอนันต์ชัย อยู่ชมบุญ บุตรจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขับ ตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2534 นายยิ้วซวงและนายอนันต์ชัยขับรถยนต์ดังกล่าวโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้พุ่งเข้าชนรถยนต์โดยสารหมายทะเบียน 10-0473 เพชรบุรี ของโจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 500,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ขอให้เรียกบริษัทพิพัทธ์ประกันภัย จำกัด เข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การ ขอให้ยกฟ้อง
สำนวนที่สอง โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาว่า ผู้ขับรถยนต์เก๋งหมายเลขทะเบียน ก-5024 ราชบุรี และผู้ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-8861 ราชบุรี ได้ขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้รถยนต์ทั้งสองคันชนกัน ทำให้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งโดยสารมาในรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 10-0473 เพชรบุรี ได้รับอันตรายสาหัส ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 694,287 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 664,368 บาท และโจทก์ที่ 4 จำนวน 669,857 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยร่วมให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 ถึงแก่กรรม โจทก์ทั้งสี่ยื่นคำร้องขอให้เรียกจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นภริยาของจำเลยที่ 2 เข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 ผู้เข้าเป็นคู่ความแทนในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายอนันต์ชัย อยู่ชมบุญ ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 156,525 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 281,624.25 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 273,242.25 บาท และโจทก์ที่ 4 จำนวน 278,388.75 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องในแต่ละสำนวนจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 52,175 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 93,878.75 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 91,080.75 บาท และโจทก์ที่ 4 จำนวน 92,796.25 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวตามลำดับนับแต่วันฟ้องในแต่ละสำนวนเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยร่วมร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในส่วนที่จำเลยที่ 1 จะร้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสี่ โดยรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 ไม่เกิน 250,000 บาท รับผิดต่อโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่เกินคนละ 50,000 บาท ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายอนันต์ชัยชำระเงินแก่จำเลยร่วมจำนวน 223,110 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องในสำนวนที่สามจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมของทุกฝ่ายให้เป็นพับ
จำเลยร่วมสำนวนที่หนึ่งและที่สองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 ผู้เข้าเป็นคู่ความแทนในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายอนันต์ชัย อยู่ชมบุญ ชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 208,700 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 375,499 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 364,323 บาท และโจทก์ที่ 4 จำนวน 371,185 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวตามลำดับนับแต่วันฟ้องในแต่ละสำนวนเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายอนันต์ชัยชำระเงินแก่จำเลยร่วมจำนวน 297,480 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องในสำนวนที่สามเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสี่ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ในวันและเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง นายยิ้วซวงลูกจ้างจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-8861 ราชบุรี ซึ่งจำเลยที่ 1 เอาประกันภัยไว้กับจำเลยร่วม แล่นไปตามถนนพระราม 2 (สายธนบุรี-ปากท่อ) มุ่งหน้าไปจังหวัดสมุทรสาคร นายอนันต์ชัยผู้ตายซึ่งเป็นบุตรจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ขับรถยนต์เก๋งหมายเลขทะเบียน ก-5024 ราชบุรี ของจำเลยที่ 2 แล่นสวนทางมา โจทก์ที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 10-0473 เพชรบุรี ของโจทก์ที่ 1 แล่นมาทางเดียวกันกับผู้ตาย เมื่อรถยนต์ดังกล่าวแล่นมาถึงตำบลบางขันแตก อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุดสงคราม ผู้ตายขับรถโดยประมาทเลินเล่อแซงรถคันอื่นแล่นล้ำเส้นกึ่งกลางของทางเดินรถเข้าไปในช่องเดินรถของรถยนต์บรรทุก เป็นเหตุให้รถยนต์เก๋งและรถยนต์บรรทุกชนกันและรถยนต์บรรทุกเสียหลักแล่นไปชนรถยนต์โดยสารของโจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหาย เช่นนี้ การที่จำเลยร่วมอุทธรณ์ว่า ผู้ตายเป็นผู้ขับรถโดยประมาทเลินเล่อแต่เพียงฝ่ายเดียว เป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นที่ฟังว่า นายยิ้วซวงลูกจ้างจำเลยที่ 1 มีส่วนประมาทเลินเล่อด้วย อุทธรณ์ของจำเลยร่วมจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเมื่อทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์สำหรับโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ในสำนวนที่ 2 มีเพียงคนละไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยร่วมในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ให้เป็นการไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 242 (1) และถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ฎีกาของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 จึงไม่มีสิทธิฎีกา แม้ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นจะรับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริง ศาลฎีกาก็ไม่อาจพิจารณาฎีกาของโจทก์ที่ 2 ถึง 4 ได้ และสมควรแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้ถูกต้อง คงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 ว่า นายยิ้วซวงขับรถโดยประมาทเลินเล่อด้วยหรือไม่ เห็นว่า เหตุที่รถยนต์บรรทุกที่นายยิ้วซวงขับเสียหลักแล่นไปชนรถยนต์โดยสารของโจทก์ที่ 1 เป็นเพราะผู้ตายขับรถยนต์เก๋งแล่นล้ำเส้นกึ่งกลางของทางเดินรถเข้าไปชนรถยนต์บรรทุกก่อน ทั้งนายยิ้วซวงก็ได้เบิกความว่าเมื่อเห็นรถยนต์เก๋งแล่นแซงรถคันอื่นล้ำเส้นกึ่งกลางของทางเดินรถเข้ามาในช่องเดินรถของตนนั้น รถยนต์เก๋งอยู่ห่างจากรถยนต์ของตนประมาณ 10 เมตร คำเบิกความของนายยิ้วซวงสอดคล้องกับแผนที่สังเขปประกอบคดีเอกสารหมาย ป.จ.2 (ศาลจังหวัดเพชรบุรี) ที่พนักงานสอบสวนจัดทำไว้ โดยแผนที่ดังกล่าวได้แสดงแนวเดินรถของรถยนต์ที่ผู้ตายขับแล่นล้ำเส้นกึ่งกลางของทางเดินรถเข้ามาในระยะกระชั้นชิดซึ่งระยะห่างเพียงเท่านี้รถยนต์บรรทุกย่อมไม่อาจห้ามล้อได้ทัน ผู้ตายขับรถยนต์เก๋งเข้าไปชนรถยนต์บรรทุกที่นายยิ้วซวงขับโดยกระทันหัน นายยิ้วซวงจึงไม่ได้ขับรถประมาท เหตุที่รถยนต์ชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้ตายฝ่ายเดียว มิใช่เป็นผลโดยตรงที่เกิดจากการที่นายยิ้วซวงขับรถด้วยความเร็วสูง หรือขับรถยนต์บรรทุกที่บรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดตามที่โจทก์ที่ 1 ฎีกาแต่อย่างใด คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ในส่วนนี้ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ที่ 1 ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 ผู้เข้าเป็นคู่ความแทนในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายอนันต์ชัย อยู่ชมบุญ ชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสี่นั้น เห็นว่า โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นโจทก์ในสำนวนแรกและโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ที่เป็นโจทก์ในสำนวนที่สองบรรยายฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์เก๋ง หมายเลขทะเบียน ก-5024 ราชบุรี รับผิดในฐานะเป็นตัวการรับผิดร่วมกับผู้ตายซึ่งเป็นบุตรและเป็นตัวแทนขับรถไปตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 โดยโจทก์ทั้งสี่มิได้ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในฐานะทายาทโดยธรรมของผู้ตายที่กระทำละเมิดแต่อย่างใด แม้โจทก์ที่ 1 จะแก้ไขคำฟ้องโดยระบุชื่อจำเลยที่ 2 ว่าในฐานะส่วนตัวและในฐานะทายาทของนายอนันต์ชัย แต่ในคำฟ้องก็มิได้ขอให้จำเลยที่ 2 รับผิดในฐานะทายาทด้วย การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 ผู้เข้าเป็นคู่ความแทนรับผิดต่อโจทก์ทั้งสี่ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายอนันต์ชัย ผู้ตาย จึงเป็นการพิพากษาเกินกว่าที่กล่าวมาในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 และเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 2 ไม่อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วม โดยมิได้พิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 1 นั้นไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขเสียด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 สำหรับจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมและให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสี่สำหรับจำเลยที่ 2 กับให้ยกอุทธรณ์จำเลยร่วมสำหรับโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 และให้ยกฎีกาโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ให้บังคับคดีระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมกับโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดในชั้นอุทธรณ์และฎีกาเฉพาะที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ให้แก่จำเลยร่วมและโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมนอกจากที่สั่งคืนในส่วนนี้ให้เป็นพับ ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วม และระหว่างโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยที่ 2 ทั้งสามศาลให้เป็นพับ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกานอกจากนี้ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7