คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4911/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ความผิดฐานบุกรุกตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(2)(3) ประกอบมาตรา 362 กฎหมายมุ่งลงโทษผู้ที่บุกรุกเข้าไปใน อสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น ไม่ใช่เป็นบทบัญญัติที่จะลงโทษผู้บุกรุก ที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินแต่อย่างใด ส่วนการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9(1) และมีโทษตามมาตรา 108 ทวิ วรรคสอง นั้นจะต้องเป็นการฝ่าฝืนนับแต่วันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 96ใช้บังคับ คือวันที่ 4 มีนาคม 2515 เป็นต้นไป เมื่อพยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะฟังว่า จำเลยที่ 1 ได้เข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์ภายหลังวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 มีผลใช้บังคับ จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9(1) ประกอบมาตรา 108 ทวิ วรรคสอง ได้ โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องด้วยว่าพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายได้แจ้งเป็นหนังสือให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดแล้วจำเลยที่ 1 เพิกเฉย หรือไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบ และพนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่งเป็นหนังสือให้จำเลยที่ 1 ออกจากที่ดินภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้วจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ฟ้องของโจทก์จึงขาดสาระสำคัญไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดินตามมาตรา 9(1),108 ที่จะลงโทษจำเลยที่ 1 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365 และ 83 ประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9 และ 108 ทวิ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 96 (พ.ศ. 2515) ข้อ 11 กับสั่งให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากที่ดินที่บุกรุก
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362 และ 365(3) ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9(1) และ108 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นในเวลากลางคืนอันเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90จำคุก 1 ปี และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 1ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29และ 30 ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 แต่ให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกไปจากทางสาธารณะพิพาท
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามฟ้องและลงโทษจำเลยทั้งสองในสถานหนักกับไม่รอการลงโทษให้จำเลยทั้งสอง ส่วนจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 เสียด้วย และให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้สั่งจำเลยทั้งสองและบริวารออกจากทางสาธารณะพิพาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นกับให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองเพิงสังกะสีซึ่งปลูกสร้างรุกล้ำเข้าไปในทางสาธารณะ และอยู่ในความดูแลของเทศบาลตำบลหัวหิน คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 365(2)(3) ประกอบมาตรา 362 หรือไม่ เห็นว่าความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าว กฎหมายมุ่งประสงค์จะลงโทษผู้ที่บุกรุกเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเท่านั้นไม่ใช่บทบัญญัติที่จะลงโทษผู้ที่บุกรุกที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 บุกรุกที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน การกระทำของจำเลยที่ 1จึงไม่อาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(2)(3)ประกอบมาตรา 362 ได้ มีปัญหาว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9(1) และมาตรา 108 ทวิ วรรคสองหรือไม่ เห็นว่า การกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 9(1) และ มีโทษตามมาตรา 108 ทวิ วรรคสอง นั้น จะต้องเป็นการฝ่าฝืนนับแต่วันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวใช้บังคับคือวันที่ 4 มีนาคม 2515 เป็นต้นไป โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 บุกรุกเข้าไปปลูกเพิงพักอาศัยในที่ดินสาธารณประโยชน์ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2532 แต่พันตำรวจโทเจริญ อุชุภาพพนักงานสอบสวน พยานโจทก์ เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่าวันที่ 30 มีนาคม 2532 ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นวันเกิดเหตุคดีนี้นั้นเป็นวันที่พนักงานเจ้าหน้าที่เทศบาลผู้เสียหายตรวจพบว่า มีการก่อสร้างรุกล้ำทางสาธารณะเท่านั้น ส่วนจำเลยที่ 1 จะบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองตั้งแต่เมื่อใด โจทก์ก็ไม่มีพยานรู้เห็นและพยานโจทก์ทุกคนก็ไม่ทราบว่าใครเป็นคนก่อสร้างเพิงพักอาศัยและรั้วอิฐบล็อกทั้งนายสอาด นามประสิทธิ์ ผู้ทำหนังสือร้องเรียนผู้บุกรุกทางสาธารณะพยานโจทก์ก็เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่าเมื่อปี 2525 พยานและภริยาได้ปลูกบ้านพยานก็เห็นมีการปลูกสร้างรั้วอิฐบล็อกรุกล้ำทางสาธารณะแล้ว ข้อนำสืบของโจทก์จึงเจือสมกับทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ที่ว่า บ้านเลขที่ 152 ถนนชมสินธุ์ซึ่งมีเพิงต่อเติมออกไปทางด้านหลังนั้น เดิมเป็นของนายเซียมน้องชายจำเลยที่ 1 ต่อมานายเซียมได้รื้อบ้านหลังเดิมออกแล้วปลูกเป็นอาคารพาณิชย์ 2 ชั้น 2 คูหา โดยทำรั้วอิฐบล็อกล้อมรอบกับปลูกเพิงต่อจากอาคารออกไป และสร้างเสร็จเมื่อปลายปี 2512 ต่อมากลางปี 2514 นายเซียมจึงโอนอาคารดังกล่าวให้จำเลยที่ 1เพื่อชำระหนี้และจำเลยที่ 1 ได้ครอบครองอาคารดังกล่าวตลอดมาพยานหลักฐานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะฟังว่าจำเลยที่ 1ได้เข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์ภายหลังวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 96 มีผลใช้บังคับ ศาลจึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9(1) ประกอบมาตรา 108 ทวิวรรคสอง ได้ ส่วนจำเลยที่ 1 จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9(1), 108 หรือไม่ นั้น โจทก์ก็ไม่ได้บรรยายฟ้องด้วยว่าพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากพนักงานเจ้าหน้าที่ได้แจ้งเป็นหนังสือให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดแล้วจำเลยที่ 1 เพิกเฉยหรือไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบและพนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่งเป็นหนังสือให้จำเลยที่ 1 ออกจากที่ดินภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้วจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ ฟ้องของโจทก์จึงขาดสาระสำคัญไม่ครบองค์ประกอบความผิดจะลงโทษจำเลยที่ 1ตามบทกฎหมายดังกล่าวไม่ได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share