แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้จำเลยจะขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์ก็ต้องนำสืบให้ได้ความว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยตามสัญญาจำนองได้ เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบถึงเรื่องการบอกกล่าวการโอนการรับจำนองหรือจำเลยได้ยินยอมด้วยแล้ว เมื่อจำเลยอ้างตนเองเบิกความเป็นพยานว่าจำเลยไม่รู้เรื่องการโอนดังกล่าว การโอนการรับจำนองนี้จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยไม่ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับจำนองแก่จำเลย การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์หยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยจึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 223 อำเภอปากท่อจังหวัดราชบุรี จำเลยได้นำไปจำนองไว้แก่ นายยล สมานนท์ เป็นเงิน8,000 บาท ตกลงให้ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ต่อมานายยล ได้โอนการรับจำนองที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ โจทก์ติดต่อให้จำเลยไถ่ถอนจำนองแต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองแต่จำเลยเพิกเฉยอีก ราคาที่ดินจำนองไม่พอกับหนี้สินที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ที่ดินหลุดเป็นสิทธิแก่โจทก์ หาจำเลยไม่สามารถปฏิบัติได้ให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า การโอนการรับจำนองระหว่างนายยล กับโจทก์ไม่ปรากฏว่าได้มีการบอกกล่าวการโอนไปยังจำเลย หรือจำเลยได้ยินยอมในการโอนด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 โจทก์จึงไ ม่มีอำนาจฟ้องบังคับจำนองนั้น เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นหรือไม่ นายสุเมธผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความว่า จำเลยได้จำนองที่ดินของจำเลยไว้แก่นายยล ซึ่งขณะนั้นเป็นกรรมการของบริษัทโจทก์ ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ต่อมานายยล ได้โอนการรับจำนองให้โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.5 และได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วยเห็นว่า ในเรื่องนี้เป็นเรื่องการโอนหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 306 วรรคแรกบัญญัติว่า “การโอนหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงนั้น ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือท่านว่าไม่สมบูรณ์ อนึ่ง การโอนหนี้นั้นท่านว่าจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้ แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้จะได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น คำบอกกล่าวหรือความยินยอมเช่นว่านี้ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือ” ตามเอกสารหมาย จ.5 ได้ระบุข้อความไว้ว่า “และในการโอนนี้ข้าพเจ้าทั้งสองฝ่ายจะได้บอกกล่าวการโอนนี้ให้จำนองทราบ” แต่ไม่ปรากฏว่ามีการบอกกล่าวการโอนให้จำเลยทราบหรือจำเลยได้ยินยอมด้วยแต่อย่างไร แม้จำเลยจะขาดนัดยื่นคำให้การจึงไม่ได้ให้การต่อสู้ประเด็นนี้ไว้ก็ตาม แต่โจทก์ก็ต้องนำสืบให้ได้ความว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยตามสัญญาจำนองได้ เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบถึงเรื่องการบอกกล่าวแก่จำเลยหรือความยินยอมของจำเลยดังกล่าว ทั้งจำเลยได้อ้างตนเองเบิกค วามเป็นพยานว่า การที่นายยล ผู้รับจำนองเดิมโอนการรับจำนองให้แก่โจทก์นั้นจำเลยไม่รู้เรื่อง นายยล และโจทก์ไม่เคยแจ้งการโอนการรับจำนองให้จำเลยทราบ ดังนั้น การโอนการรับจำนองนี้จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยไม่ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับจำนองแก่จำเลย การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์หยิบยกปัญหาดังกล่าวขั้นวินิจฉัยจึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นแต่อย่างใด
พิพากษายืน.