แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การหักภาษี ณ ที่จ่ายส่งอำเภอตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรมาตรา 50,52 นั้นย่อมมีความหมายอยู่ในตัวว่าหมายถึงกรณีที่เงินได้นั้นยังไม่มีการหักภาษีไว้แต่เงินได้จากค่าชดเชยของคนงานรายนี้ได้มีการหักภาษีเงินได้ไว้ที่กระทรวงการคลังตั้งแต่ตอนที่เบิกเงินค่าชดเชยนั้นมาเพื่อจ่ายให้คนงานแล้ว ฉะนั้นจึงไม่มีเหตุที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เลิกจ้างคนงานเหล่านั้นจะหักภาษีจากเงินได้รายนี้ซ้ำอีกครั้งหนึ่งในตอนจ่าย ซึ่งถ้าหากทำเช่นนั้นก็จะกลายเป็นการหักภาษีจากผู้มีเงินได้ซ้ำสองหนจากรายได้ค่าชดเชยจำนวนเดียวกัน อันไม่เป็นธรรมแก่ผู้มีเงินได้ และไม่มีกฎหมายสนับสนุนให้ทำเช่นนั้นได้ดังนั้นการที่โจทก์ไม่หักภาษีเงินได้จากค่าชดเชยดังกล่าวส่งอำเภอจึงไม่มีเหตุที่จะเรียกเงินเพิ่มจากโจทก์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 27 ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เคยประกอบการรถโดยสารประจำทาง ต่อมารัฐบาลได้มีคำสั่งให้โอนกิจการรถโดยสารประจำทางของโจทก์ไปเป็นของบริษัทมหานครขนส่ง จำกัด เป็นเหตุให้คนงานของโจทก์ซึ่งโอนไปเป็นคนงานของบริษัทมหานครขนส่ง จำกัด มีสิทธิได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานจากโจทก์ แต่โดยเหตุที่การโอนนี้เป็นนโยบายของรัฐบาลกระทรวงการคลังจึงเป็นผู้จ่ายเงินชดเชยดังกล่าวให้แก่บริษัทมหานครขนส่งจำกัดเพื่อจ่ายให้แก่คนงานอีกต่อหนึ่ง โจทก์ไม่ได้เป็นผู้จ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่คนงาน จึงไม่มีอำนาจอย่างใดที่จะหักภาษีไว้ ณ ที่จ่าย นอกจากนี้ยังปรากฏว่าเงินค่าภาษีที่ควรจะต้องหักไว้ ณ ที่จ่ายนั้น ผู้เบิกก็ได้คิดหักไว้แล้วที่กระทรวงการคลัง ไม่ได้เบิกออกมาด้วยต่อมาเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้ออกคำสั่งให้โจทก์เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายเป็นเงิน 419,229.62 บาท และเงินเพิ่มอีก103,844.92 บาท โจทก์จึงยื่นอุทธรณ์ จำเลยที่ 2, 3, 4 ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์ได้ชำระภาษีแล้ว จึงให้เก็บเฉพาะเงินเพิ่มจากโจทก์ ซึ่งเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบ ขอให้ศาลเพิกถอนคำวินิจฉัยที่ให้โจทก์เสียเงินเพิ่มจำนวน 103,844.92 บาท นั้นเสีย
จำเลยทั้งสี่ให้การว่าโจทก์ต้องเสียเงินเพิ่มดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลย
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า กรณีที่โจทก์เลิกจ้างคนงานนี้ เนื่องจากบริษัทมหานครขนส่งจำกัดซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็นองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพได้รับโอนกิจการและคนงานไปเป็นของพนักงานบริษัทมหานครขนส่งจำกัดตามนโยบายของรัฐบาลในขณะนั้น และทางฝ่ายผู้รับโอนกิจการได้รับภาระจ่ายเงินค่าชดเชยกรณีเลิกจ้างคนงานแทนโจทก์ตามกฎหมายแรงงานด้วย ในทางปฏิบัติคนงานของโจทก์ซึ่งโอนไปเป็นคนงานของบริษัทมหานครขนส่งจำกัดได้คำนวณเงินชดเชยแล้วเสนอเรื่องขอเบิกเงินจากกระทรวงการคลังโดยหักภาษีเงินได้ไว้แล้ว จึงดำเนินการจ่ายให้คนงานที่มีสิทธิได้รับ
วินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า แม้กระทรวงการคลังจะหักภาษีเงินได้ไว้แล้ว จึงดำเนินการจ่ายค่าชดเชยให้คนงานก็ตาม โจทก์ก็มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม มาตรา 50, 52 แห่งประมวลรัษฎากร โดยหักภาษีณ ที่จ่ายส่งอำเภอโดยไม่มีข้อยกเว้นนั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าการหักภาษี ณ ที่จ่ายส่งอำเภอตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 50, 52นั้น ย่อมมีความหมายอยู่ในตัวว่า หมายถึงกรณีที่เงินได้นั้นยังไม่มีการหักภาษีไว้ แต่เงินได้จากค่าชดเชยของคนงานรายนี้จำเลยเองก็ยอมรับว่าได้มีการหักภาษีเงินได้ไว้ที่กระทรวงการคลังตั้งแต่ตอนที่เบิกเงินค่าชดเชยนั้นมาเพื่อจ่ายให้คนงานแล้ว ฉะนั้นจึงไม่มีเหตุที่จะหักภาษีจากเงินได้รายนี้ซ้ำอีกครั้งหนึ่งในตอนจ่าย ซึ่งถ้าหากทำเช่นนั้นก็จะกลายเป็นการหักภาษีจากผู้มีเงินได้ซ้ำสองหนจากรายได้ค่าชดเชยจำนวนเดียวกัน อันไม่เป็นธรรมแก่ผู้มีเงินได้และไม่มีกฎหมายสนับสนุนให้ทำเช่นนั้นได้ คำพิพากษาฎีกาที่จำเลยอ้างมานั้น ไม่ปรากฏว่าเงินได้นั้นได้มีการหักภาษีไว้ก่อนที่กระทรวงการคลังดังเช่นคดีนี้ ข้อเท็จจริงจึงไม่ตรงกับคดีนี้ กรณีไม่มีเหตุที่จะเรียกเงินเพิ่มจากโจทก์ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 27 ได้
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ