คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4900/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคหนึ่ง มีความหมายว่าเป็นการเบิกความในการพิจารณาคดีของศาล ซึ่งไม่ว่าจะเป็นชั้นไต่สวนมูลฟ้องหรือชั้นพิจารณาก็เป็นการพิจารณาคดีของศาลเช่นเดียวกัน ส่วนคำว่าข้อสำคัญในคดี หมายถึง เนื้อหาหรือสาระของคำเบิกความ มิใช่เรื่องขั้นตอนในการเบิกความถ้าพยานเบิกความเท็จและข้อความที่เบิกความเป็นสาระสำคัญของคดีที่เบิกความไม่ว่าจะเป็นการเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องหรือในชั้นพิจารณาของศาล ก็เป็นการเบิกความเท็จที่เป็นข้อสำคัญในคดีเช่นเดียวกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175,177, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175, 177 วรรคสอง เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฟ้องเท็จ จำคุก 1 ปี กระทงหนึ่งฐานเบิกความเท็จในการพิจารณาคดีอาญาจำคุก 1 ปี 6 เดือน อีกกระทงหนึ่ง รวมจำคุก จำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี 6 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคสองให้จำคุก 1 ปี 6 เดือน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า คำเบิกความของพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องไม่เป็นข้อสำคัญในคดี จะต้องเป็นคำเบิกความในชั้นพิจารณาจึงเป็นข้อสำคัญในคดีนั้นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคแรก บัญญัติว่า ผู้ใดเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล ถ้าความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี ฯลฯ บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมีความหมายอยู่ชัดแจ้งแล้วว่าเป็นการเบิกความในการพิจารณาคดีของศาล ซึ่งไม่ว่าจะเป็นชั้นไต่สวนมูลฟ้องหรือชั้นพิจารณาก็เป็นการพิจารณาคดีของศาลเช่นเดียวกัน ส่วนคำว่าข้อสำคัญในคดีก็หมายถึงเนื้อหาหรือสาระของคำเบิกความ หาใช่เรื่องขึ้นตอนในการเบิกความอย่างที่จำเลยทั้งสองอ้างไม่ ดังนั้นถ้าพยานเบิกความเท็จและข้อความที่เบิกความเป็นสาระสำคัญของคดีที่เบิกความ ไม่ว่าจะเป็นการเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องหรือในชั้นพิจารณาของศาล ก็เป็นการเบิกความเท็จที่เป็นข้อสำคัญในคดีเช่นเดียวกัน
พิพากษายืน

Share