แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การหักกลบลบหนี้นั้น ป.พ.พ. มาตรา 341 ได้วางหลักเกณฑ์ไว้ว่า ต้องเป็นเรื่องที่บุคคลสองคนต่างมีความผูกพันต่างเป็นหนี้ซึ่งกันและกัน และต้องมีมูลหนี้อันมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกัน กล่าวคือ มีวัตถุแห่งหนี้เหมือนกัน เช่น เงินต่อเงินหรือสิ่งของต่อสิ่งของ และหนี้ทั้งสองฝ่ายต้องถึงกำหนดชำระแล้ว จึงจะนำมาขอหักกลบลบหนี้กันได้ จำเลยเป็นหนี้ค่าจ้างค้างชำระแก่โจทก์ซึ่งเป็นหนี้เงิน แม้จำเลยจะโต้แย้งว่า จำเลยไม่ได้เป็นหนี้โจทก์แต่ฝ่ายเดียว เพราะโจทก์มีหนี้ที่ต้องส่งคืนวงล้อรถจักรยานยนต์ที่โจทก์ยังไม่ได้ทำการชุบสีให้แก่จำเลยก็ตาม แต่หนี้ดังกล่าวหามีมูลหนี้อันเป็นวัตถุอย่างเดียวกันไม่ ทั้งไม่ปรากฏว่าหนี้ดังกล่าวถึงกำหนดชำระแล้วแต่อย่างไร กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์เรื่องหักกลบลบหนี้ เพียงแต่เป็นเรื่องที่จำเลยขอชำระหนี้ด้วยสิ่งของอื่นตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 321 ซึ่งจำเลยจะทำได้ก็ต่อเมื่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ยินยอมตกลงด้วยเท่านั้น แต่ได้ความว่าก่อนฟ้องและหลังฟ้องโจทก์กับจำเลยได้เจรจาตกลงหนี้กันแล้วแต่ไม่สามารถตกลงกันได้ โจทก์จึงยึดหน่วงวงล้อรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ยังอยู่ที่โจทก์ไว้เพื่อให้จำเลยชำระหนี้และจำเลยก็ไม่ได้นำสืบว่า โจทก์ตกลงยินยอมให้จำเลยนำวงล้อรถจักรยานยนต์ดังกล่าวตีราคาชำระหนี้แก่โจทก์แต่อย่างไรด้วย จำเลยจึงไม่อาจนำวงล้อรถจักรยานยนต์ที่โจทก์ยึดหน่วงไว้ตีราคาชำระหนี้แก่โจทก์ได้อีกเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังว่า ฟ้องแย้งของจำเลยไม่ต้องด้วยลักษณะหักกลบลบหนี้จึงให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยนั้นชอบแล้วศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยนำฟ้องแย้งไปฟ้องเป็นคดีใหม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยนำวงล้อรถจักรยานยนต์มาว่าจ้างให้โจทก์ชุบสีหลายครั้งและค้างชำระค่าจ้างอยู่จำนวน 346,280 บาท โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 378,743.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 346,280 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การ แก้ไขคำให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาโดยไม่ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องในการชุบสี และโจทก์ยังไม่ได้ส่งคืนวงล้อรถจักรยานยนต์จำนวน 1,153 วง คิดเป็นมูลค่า 922,400 บาท แก่จำเลย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง และขอให้บังคับโจทก์คืนวงล้อรถจักรยานยนต์จำนวนดังกล่าวแก่จำเลยในสภาพเรียบร้อย หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน โดยหักกลบลบหนี้กับค่าจ้างของโจทก์ตามฟ้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ได้ผิดสัญญา จำเลยไม่เคยแจ้งหรือส่งวงล้อรถจักรยานยนต์ที่เสียหายมาให้โจทก์ดำเนินการแก้ไข โจทก์มีสิทธิยึดหน่วงวงล้อรถจักรยานยนต์ไว้จนกว่าจำเลยจะชำระหนี้ ฟ้องแย้งของจำเลยเป็นฟ้องเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยค้างชำระค่าจ้างโจทก์รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 346,280 บาท แม้โจทก์จะมีสิทธิยึดหน่วงวงล้อรถจักรยานยนต์จำนวน 1,153 วง ของจำเลยไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้ แต่จำเลยฟ้องแย้งขอให้หักกลบลบหนี้ จึงเห็นสมควรกำหนดให้ในราคาวงล้อละ 350 บาท คิดเป็นเงินจำนวน 403,550 บาท เมื่อนำไปหักกลบลบหนี้กันแล้ว โจทก์คงเป็นหนี้จำเลยจำนวน 57,276 บาท (ที่ถูกควรเป็น 57,270 บาท ) พิพากษาให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 57,276 บาท แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 346,280 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท ยกฟ้องแย้งของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้ทำการชุบสีวงล้อรถจักรยานยนต์แล้วผิดนัดไม่ชำระหนี้ค่าจ้างตามฟ้องรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 346,280 บาท และโจทก์ได้ยึดหน่วงวงล้อรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่นำมาจ้างให้โจทก์ชุบสีแต่ยังไม่ได้ชุบและยังไม่ได้ส่งคืนจำเลยอยู่อีกจำนวน 1,153 วง คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการแรกว่า จำเลยมีสิทธิฟ้องแย้งขอให้นำวงล้อรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ถูกโจทก์ยึดหน่วงไว้มาหักกลบลบหนี้กับค่าจ้างที่จำเลยค้างชำระโจทก์ได้หรือไม่ เห็นว่า สำหรับเรื่องสิทธิยึดหน่วงนั้น จำเลยไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิยึดหน่วงวงล้อรถจักรยานยนต์ของจำเลยดังกล่าวแต่อย่างไร กรณีจึงฟังยุติว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองวงล้อรถจักรยานยนต์ของจำเลยดังกล่าว และมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่โจทก์เกี่ยวด้วยทรัพย์สินที่ครอบครองไว้ โจทก์จึงมีสิทธิยึดหน่วงวงล้อรถจักรยานยนต์ของจำเลยดังกล่าวไว้ จนกว่าจะได้รับชำระหนี้สิ้นเชิงทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 241 วรรคหนึ่ง และมาตรา 244 ปัญหาวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยมีสิทธิฟ้องแย้งขอให้นำวงล้อรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่โจทก์ยึดหน่วงไว้มาหักกลบลบหนี้ค่าจ้างที่จำเลยค้างชำระอยู่ตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่นั้น เห็นว่า ในเรื่องการหักกลบลบหนี้นั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 ได้วางหลักเกณฑ์ไว้ว่า ต้องเป็นเรื่องที่บุคคลสองคนต่างมีความผูกพันต่างเป็นหนี้ซึ่งกันและกัน กล่าวคือโจทก์และจำเลยจะต้องเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ซึ่งกันและกัน และต้องมีมูลหนี้อันมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกัน กล่าวคือมีวัตถุแห่งหนี้เหมือนกันเช่น เงินต่อเงินหรือสิ่งของต่อสิ่งของ และหนี้ทั้งสองฝ่ายต้องถึงกำหนดชำระแล้ว จึงจะนำมาขอหักกลบลบหนี้กันได้ แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ฟังได้ว่า จำเลยเป็นหนี้ค่าจ้างค้างชำระแก่โจทก์ซึ่งเป็นหนี้เงิน แม้จำเลยจะฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่าจำเลยไม่ได้เป็นหนี้โจทก์แต่ฝ่ายเดียว เพราะโจทก์มีหนี้ที่ต้องส่งคืนวงล้อรถจักรยานยนต์ที่โจทก์ยังไม่ได้ทำการชุบสีให้แก่จำเลยก็ตาม แต่หนี้ดังกล่าวหามีมูลหนี้อันเป็นวัตถุเดียวกันไม่ ทั้งไม่ปรากฏว่าหนี้ดังกล่าวถึงกำหนดชำระแล้วแต่อย่างไร กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์เรื่องการหักกลบลบหนี้ตามที่กล่าวมาแล้ว เพียงแต่เป็นเรื่องที่จำเลยขอชำระหนี้ด้วยสิ่งของอื่นตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 เท่านั้น ซึ่งจำเลยจะทำได้ก็ต่อเมื่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ยินยอมตกลงด้วยเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าก่อนฟ้องและหลังฟ้องโจทก์กับจำเลยได้เจรจาตกลงหนี้กันแล้ว แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ โจทก์จึงยึดหน่วงวงล้อรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ยังอยู่ที่โจทก์ไว้เพื่อให้จำเลยชำระหนี้และจำเลยก็ไม่ได้นำสืบว่าโจทก์ตกลงยินยอมให้จำเลยนำวงล้อรถจักรยานยนต์ดังกล่าวตีราคาชำระหนี้แก่โจทก์แต่อย่างไรด้วย จำเลยจึงไม่อาจขอนำวงล้อรถจักรยานยนต์ที่โจทก์ยึดหน่วงไว้ตีราคาชำระหนี้แก่โจทก์ได้อีกเช่นกัน ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังว่าฟ้องแย้งของจำเลยไม่ต้องด้วยลักษณะหักกลบลบหนี้จึงให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยนำฟ้องแย้งไปฟ้องเป็นคดีใหม่และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่เหลือที่เกี่ยวกับการกำหนดราคาวงล้อรถจักรยานยนต์ของจำเลยหรือไม่ เพราะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาให้เป็นอื่นฎีกาของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ