คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4893/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 19 มีนาคม 2548 เวลากลางคืนหลังเที่ยงถึงวันที่ 13 เมษายน 2548 เวลากลางคืนก่อนเที่ยงต่อเนื่องกัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยลักทรัพย์หลายรายการรวมราคา 65,100 บาท ของผู้เสียหายซึ่งเก็บรักษาไว้ในเคหสถาน โดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลและทรัพย์ แม้คำบรรยายฟ้องของโจทก์พอที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีกว่าวันเวลาที่จำเลยกระทำความผิดเป็นช่วงวันเวลาใด และจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง แต่โจทก์ไม่ได้นำสืบเกี่ยวกับเวลาเกิดเหตุให้เห็นว่าจำเลยลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ซึ่งความจริงเหตุอาจจะเกิดในเวลากลางวันก็ได้ จึงต้องยกประโยชน์ให้แก่จำเลยโดยฟังว่าจำเลยลักทรัพย์ในเวลากลางวัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 19 มีนาคม 2548 เวลากลางคืนหลังเที่ยงถึงวันที่ 13 เมษายน 2548 เวลากลางคืนก่อนเที่ยงต่อเนื่องกัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด ได้มีคนร้ายใช้วัตถุของแข็งงัดและทุบทำลายกุญแจที่ปิดล็อกห้องพัก อันเป็นการทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลและทรัพย์จนกุญแจหลุดออก แล้วเข้าไปให้ห้องพักอันเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของนางสาวอภิญญา สุธรรม ผู้เสียหาย โดยไม่ได้รับอนุญาต แล้วลักทรัพย์จำนวน 4 รายการ ตามบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้ายท้ายฟ้อง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 65,000 บาท ของผู้เสียหายซึ่งเก็บรักษาไว้ในเคหสถานดังกล่าวไปโดยทุจริต ต่อมาวันที่ 19 เมษายน 2548 เจ้าพนักงานยึดรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียน กลบ สุรินทร์ 157 ซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนหนึ่งของผู้เสียหายที่ถูกค้นร้ายลักไปอยู่ในความครอบครองของจำเลย และค้อนจำนวน 1 ด้าม เหล็กแป๊บยาวประมาณ 95 เซนติเมตร จำนวน 1 ท่อน ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดเป็นของกลาง และวันที่ 27 เมษายน 2548 เจ้าพนักงานยึดเครื่องรับโทรทัศน์สีขนาด 14 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง เครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน 1 ชุด ซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนหนึ่งของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักไปอยู่ในความครอบครองของจำเลยเป็นของกลาง โดยจำเลยเป็นคนร้ายลักทรัพย์หรือมิฉะนั้นเมื่อระหว่างวันเวลาหลังเกิดเหตุลักทรัพย์ถึงวันที่ 19 เมษายน 2548 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยรับเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไว้จากคนร้าย ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ ซึ่งทรัพย์นั้น โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดเข้าลักษณะลักทรัพย์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 334, 335, 357 ริบค้อนและเหล็กแป๊บของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพข้อหาลักทรัพย์
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (3) (8) วรรคสอง จำคุก 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน ริบของกลาง ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา 78 คงจำคุก 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “อนึ่ง ตามฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำความผิดของจำเลยว่า เมื่อระหว่างวันที่ 19 มีนาคม 2548 เวลากลางคืนหลังเที่ยงถึงวันที่ 13 เมษายน 2548 เวลากลางคืนก่อนเที่ยงต่อเนื่องกัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยลักทรัพย์หลายรายการรวมราคา 65,100 บาท ของผู้เสียหายซึ่งเก็บรักษาไว้ในเคหสถาน โดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลและทรัพย์ แม้คำบรรยายฟ้องของโจทก์พอที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีว่าวันเวลาที่จำเลยกระทำความผิดเป็นช่วงวันเวลาใด และจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องก็ตาม แต่โจทก์ไม่ได้นำสืบเกี่ยวกับเวลาเกิดเหตุให้เห็นว่าจำเลยลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ซึ่งความจริงเหตุอาจจะเกิดในเวลากลางวันก็ได้ จึงต้องยกประโยชน์ให้แก่จำเลยโดยฟังว่าจำเลยลักทรัพย์ในเวลากลางวัน ปัญหาดังกล่าวแม้มิได้มีฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (3) (8) วรรคสอง สำหรับโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3.

Share