แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฟ้องอ้างว่าโจทก์ทั้งสี่มีสัญชาติไทย ถูกจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติสัญชาติและพระราชบัญญัติบัตรประจำตัว ประชาชนเพิ่มชื่อโจทก์ทั้งสี่ลงในทะเบียนบ้านญวนอพยพ และปฏิเสธไม่รับคำร้องขอของโจทก์ที่ 2ที่ขอมีบัตรประจำตัวประชาชน ดังนี้มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิของโจทก์ทั้งสี่ตามกฎหมายแพ่ง โจทก์ทั้งสี่จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย
โจทก์ที่ 1 เป็นบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย ในขณะที่เกิดมารดาเป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง โจทก์ที่ 1 จึงย่อมเป็นผู้ถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1
โจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เกิดในราชอาณาจักรไทย ส่วนมารดาคือโจทก์ที่ 1 ได้สัญชาติไทยโดยการเกิด โจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4จึงได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508มาตรา 7(3) เมื่อขณะที่โจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เกิดนั้นโจทก์ที่ 1 ยังมีสัญชาติไทย มิใช่คนต่างด้าว โจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จึงหาถูกเพิกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ข้อ 1 ไม่.
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสี่เป็นคนสัญชาติไทย จำเลยที่ ๑เป็นหัวหน้าสำนักงานกิจการญวนอพยพจังหวัดอุบลราชธานี จำเลยที่ ๒เป็นนายอำเภอเมืองอุบลราชธานี จำเลยที่ ๓ เป็นผู้อำนวยการกองบัตรประจำตัวประชาชน กรมการปกครอง และจำเลยที่ ๔ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จำเลยที่ ๑ อ้างโจทก์ทั้งสี่เป็นคนต่างด้าว และได้เพิ่มชื่อโจทก์ทั้งสี่ลงในทะเบียนบ้านญวนอพยพจำเลยที่ ๒ อ้างว่าโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๔ เป็นคนญวนอพยพ และไม่ยอมออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่โจทก์ที่ ๒ การกระทำของจำเลยที่ ๑และที่ ๒ เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายและเป็นการกระทำตามหน้าที่ราชการ จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ จึงต้องร่วมรับผิดด้วย ขอให้พิพากษาว่าโจทก์ทั้งสี่เป็นคนสัญชาติไทยให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ร่วมกรับออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่โจทก์ที่ ๒
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า จำเลยทั้งสี่ไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์จำเลยที่ ๑ ไม่เคยเพิ่มชื่อโจทก์ทั้งสี่ลงในทะเบียนบ้านคนญวนอพยพจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ไม่เคยปฏิเสธการขอมีบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ที่ ๒ ถึงแม้ว่าโจทก์ที่ ๑ จะเกิดในราชอาณาจักรไทยแต่บิดามารดาของโจทก์ที่ ๑ เป็นคนญวนอพยพ โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๔จึงต้องถูกถอนสัญชาติตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ลงวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๑๕ จำเลยที่ ๔ เป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติสัญชาติ ไม่มีอำนาจที่จะปฏิเสธคำร้องขอมีบัตรประจำตัวประชาชน การได้สัญชาติของโจทก์ทั้งสี่ย่อมเป็นไปตามกฎหมายไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ขอให้ยกฟ้อง
ในระหว่างการพิจารณา จำเลยที่ ๓ ถึงแก่กรรม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๓
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์ทั้งสี่เป็นคนสัญชาติไทย ให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๔ ร่วมกันออกบัตรประจำตัวประชาชนแก่โจทก์ที่ ๒
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔มีสัญชาติไทยให้ยกฟ้องของโจทก์ที่ ๑ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อที่ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่โจทก์ทั้งสี่อ้างว่าโจทก์ทั้งสี่มีสัญชาติไทย จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติสัญชาติและพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชนได้เพิ่มชื่อโจทก์ทั้งสี่ลงในทะเบียนบ้านคนญวนอพยพ และปฏิเสธไม่รับคำร้องของโจทก์ที่ ๒ ที่ขอมีบัตรประจำตัวประชาชนจึงมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิของโจทก์ทั้งสี่ตามกฎหมายแพ่ง โจทก์ทั้งสี่ชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลได้ โจทก์ทั้งสี่จึงมีอำนาจฟ้อง
ปัญหาว่า โจทก์ทั้งสี่เป็นคนสัญชาติไทยหรือไม่นั้น สำหรับโจทก์ที่ ๑ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ดจทก์ที่ ๑ เป็นบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และในขณะที่เกิดมารดาเป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองซึ่งตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ ข้อ ๑ บัญญัติว่า”ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาเป็นคนต่างด้าวหรือมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และในขณะที่เกิดบิดาหรือมารดานั้นเป็น
(๑) ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย
(๒) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว หรือ
(๓) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
ทั้งนี้ เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นสมควรและสั่งเฉพาะรายเป็นประการอื่น” โจทก์ที่ ๑ จึงถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว
สำหรับโจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าเกินใราชอาณาจักรไทยเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒ พ.ศ. ๒๕๑๓ และ พ.ศ. ๒๕๑๔ตามลำดับ บิดามารดาคือนายสมคิด สัญชาติไทย กับโจทก์ที่ ๑ ขณะที่โจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ เกิดนั้น มารดาคือโจทก์ที่ ๑ ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘มาตรา ๗(๓) ดังนั้น โจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ จึงได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามกฎหมายดังกล่าวด้วย ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ประกาศใช้เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕ คือหลังจากที่โจทก์ที่ ๒ที่ ๓ และที่ ๔ เกิดแล้ว ดังนั้นขณะที่โจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔เกิดนั้น โจทก์ที่ ๑ ยังมิได้ถูกถอนสัญชาติตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว โจทก์ที่ ๑ ยังคงมีสัญชาติไทยอยู่ มิใช่คนต่างด้าวโจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ จึงหาถูกเพิกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวไม่ แม้ภายหลังโจทก์ที่ ๑ จะได้ถูกถอนสัญชาติไทยก็ตาม ก็ไม่ทำให้โจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ กลายเป็นบุตรที่เกิดจากมารดาเป็นคนต่างด้าว เพราะขณะที่โจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ เกิด โจทก์ที่ ๑ ได้สัญชาติไทยโดยถูกต้อง
พิพากษายืน.