คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4891/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์แสดงให้เห็นความเป็นมาของการใช้อักษรโรมันคำว่าRENOMA เป็นชื่อทางการค้าของ ซ.บิดาของ ม. ประธานกรรมการใหญ่ของโจทก์ตั้งแต่ปี 2480 และการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำดังกล่าวในประเทศฝรั่งเศสในปี 2502 และปี 2509 ตลอดจนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำดังกล่าวในประเทศอื่น ๆ ในภายหลังและการโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นของ ซ.ให้โจทก์ จึงฟังได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันดังกล่าว ที่จำเลยอ้างว่าคิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าดังกล่าวขึ้นโดยต้องการให้มีความหมายว่า จำเลยไม่มีแม่อีกแล้วนั้น ก็ปรากฏตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยว่าจำเลยได้ระบุว่าคำว่า RENOMA เป็นอักษรโรมันอ่านว่า รีโนมา แปลไม่ได้ และปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยดังกล่าวมีรูปลักษณะตรงกับรูปลักษณะเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า RENOMA ซึ่งเป็นตัวพิมพ์เล็กภายในกรอบสี่เหลี่ยมของโจทก์ทุกประการ รวมทั้งลักษณะการเอียงขึ้นของเส้นขวางในตัวอักษร “e” และสัดส่วนของช่องว่างระหว่างตัวอักษรแต่ละตัวด้วยการที่รูปลักษณะเครื่องหมายการค้าของจำเลยตรงกับรูปลักษณะของเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทุกประการเช่นนี้ หากจำเลยไม่เคยเห็นเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์มาก่อน ก็ยากที่เครื่องหมายการค้าของจำเลยจะมีรูปลักษณะตรงกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทุกประการเช่นนั้น นอกจากนี้เครื่องหมายการค้าของจำเลยดังกล่าวยังคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า RENOMA ซึ่งเป็นตัวพิมพ์ใหญ่และตัวพิมพ์เล็กซึ่งมิได้อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมอีกด้วย ปรากฏว่าจำเลยเคยเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น และฮ่องกง และหลังจากโจทก์ได้รับโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า RENOMA มาจาก ซ.แล้ว โจทก์ได้นำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไปจดทะเบียนไว้ในประเทศต่าง ๆ ประมาณ30 ประเทศ และโจทก์ได้ส่งสินค้าของโจทก์ไปจำหน่ายยังต่างประเทศในทวีปต่าง ๆสินค้าของโจทก์มีวางจำหน่ายที่ห้างสรรพสินค้าโซโกใกล้สถานีรถไฟที่เมืองโกเบประเทศญี่ปุ่น และโจทก์ได้โฆษณาเครื่องหมายการค้าของโจทก์ในนิตยสารและหนังสือต่าง ๆ ในประเทศต่าง ๆ ทั้งได้มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไว้ในประเทศญี่ปุ่น ประเทศสิงคโปร์ และเมืองฮ่องกงด้วย จึงเชื่อได้ว่าจำเลยซึ่งเคยเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่น ประเทศสิงคโปร์ และเมืองฮ่องกง ได้เห็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ในระหว่างที่เดินทางไปท่องเที่ยวเช่นนั้น แล้วจำเลยได้นำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามที่ได้เห็นมานั้นมายื่นขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลย จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตโจทก์ย่อมมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า RENOMA ดีกว่าจำเลยและขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้
เครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า RENOMA ซึ่งเป็นตัวพิมพ์เล็กในกรอบสี่เหลี่ยมของจำเลยมีรูปลักษณะตรงกับเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า RENOMA ซึ่งเป็นตัวพิมพ์เล็กในกรอบสี่เหลี่ยมของโจทก์ ทุกประการ แม้กระทั่งลักษณะการเอียงขึ้นของเส้นขวางในตัวอักษร “e” และสัดส่วนของช่องว่างระหว่างตัวอักษร และเครื่องหมายการค้าของจำเลยดังกล่าวยังคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า “RENOMA” ซึ่งเป็นตัวพิมพ์ใหญ่ และตัวพิมพ์เล็กซึ่งมิได้อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมอีกด้วย จึงเห็นได้โดยชัดแจ้งว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนกันกับหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนแล้ว

Share