คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4882/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าผู้อื่น มีอาวุธปืนและพาอาวุธปืน จำเลยอุทธรณ์ว่าไม่มีเจตนาฆ่า ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้โดยยกฟ้องฐานพยายามฆ่าผู้อื่น แต่ให้ลงโทษฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนได้รับอันตรายแก่กาย จึงมิใช่กรณีที่มีการอุทธรณ์เฉพาะกรณีที่เกี่ยวกับการใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนเท่านั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวมีคำพิพากษาแล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ เมื่อมีการได้รับอนุญาตจากผู้พิพากษาที่ได้พิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 6

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 91, 288, 371
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 371, ประกอบมาตรา 80 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 กึ่งหนึ่ง ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก 5 ปี ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง จำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืนลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 5 ปี 12 เดือน จำเลยรับสารภาพเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 12 เดือน อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครสวรรค์ มีกำหนดขั้นต่ำ 2 ปี 6 เดือน ขั้นสูง 3 ปี นับแต่วันพิพากษา
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 อีกกระทงหนึ่ง (ที่ถูก ไม่ต้องมีอีกกระทงหนึ่ง) ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว ลงโทษจำคุก 1 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก 6 เดือน รวมกับโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ เป็นจำคุก 1 ปี เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 6 จังหวัดนครสวรรค์ มีกำหนดขั้นต่ำ 6 เดือน ขั้นสูง 8 เดือน ข้อหาพยายามฆ่าให้ยกฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยเพียงประเด็นเดียวว่า มีเหตุลงโทษจำเลยสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกจำเลยหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าผู้อื่น มีอาวุธปืนและพาอาวุธปืน จำเลยอุทธรณ์ว่าไม่มีเจตนาฆ่า ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้โดยยกฟ้องฐานพยายามฆ่าผู้อื่น แต่ให้ลงโทษฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนรับอันตรายแก่กาย จึงมิใช่กรณีที่มีการอุทธรณ์เฉพาะกรณีที่เกี่ยวกับการใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนเท่านั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวมีคำพิพากษาแล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ เมื่อมีการได้รับอนุญาตจากผู้พิพากษาที่ได้พิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 6 เมื่อขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 17 ปีเศษ แต่พฤติการณ์ที่จำเลยคบหาสมาคมกับเพื่อที่มีความประพฤติไม่เหมาะสม ชักชวนกันดื่มเบียร์ เที่ยวเตร่เวลากลางคืน และพาอาวุธปืนไม่มีทะเบียนไปตามที่ต่าง ๆ ซึ่งไม่ใช่วิสัยที่เยาวชนทั่วไปพึงกระทำแล้ว ยังได้ความตามทางนำสืบของโจทก์โดยจำเลยไม่คัดค้านว่าพวกของจำเลยเป็นฝ่ายตามไปหาเรื่องกลุ่มผู้เสียหายก่อน และที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายทั้งที่ไม่เคยมีเรื่องบาดหมางร้ายแรงใด ๆ ต่อกันนั้นก็เพียงเพราะต้องการช่วยเหลือเข้าข้างพวกของตนโดยไม่คำนึงถึงความผิดถูก การกระทำของจำเลยดังกล่าวนอกจากจะเป็นอันตรายต่อสุจริตชนทั่วไปแล้วยังแสดงให้เห็นว่าจำเลยขาดความเคารพต่อกฎเกณฑ์ของสังคม ใช้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย ทั้งที่จำเลยมีโอกาสได้เล่าเรียนถึงชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพ กรณีจึงไม่มีเหตุให้ลงโทษจำเลยสถานเบา โทษจำคุกที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวกำหนดมานั้นเหมาะสมแล้ว และเห็นว่าหากจำเลยไม่ได้รับการอบรมและแก้ไขฟื้นฟูเพื่อให้รู้จักยั้งคิดและทบทวนถึงความเดือดร้อนที่ตนเอง ครอบครัวและสังคมได้รับจากการกระทำของตนเสียบ้างแล้ว อนาคตของจำเลยอาจดำเนินไปในทางที่น่าเป็นห่วงกว่านี้ จึงไม่รอการลงโทษจำคุกให้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวให้ส่งจำเลยไปฝึกและอบรมแทนภายในระยะเวลาขั้นต่ำ 6 เดือน ขั้นสูง 8 เดือน นั้น เหมาะสมแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share