คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4880/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนายทะเบียนสหกรณ์ตามกฎหมาย มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7เป็นคณะกรรมการดำเนินการของร้านสหกรณ์ ร. จำเลยที่ 8เป็นผู้จัดการร้านสหกรณ์ ร. จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ได้ประชุมกรรมการและเลิกจ้างจำเลยที่ 8 โดยไม่ได้จัดให้มีการตรวจสอบหลักฐานทางบัญชีและการเงิน พร้อมทั้งสินค้าคงเหลือและจัดทำงบดุลแสดงฐานะอันแท้จริงของร้านสหกรณ์ ร. การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดเป็นการจงใจและประมาทเป็นเหตุให้โจทก์เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินสินค้าขาดบัญชีโดยความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะจำเลยที่ 8ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบข้อบังคับของโจทก์ จำเลยทั้งแปดต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งแปดร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินค่าสินค้าที่ขาดบัญชี เช่นนี้ เป็นการฟ้องในมูลละเมิดที่กระทำต่อร้านสหกรณ์ ร. แม้ฟ้องโจทก์จะใช้ถ้อยคำว่าให้จำเลยชำระค่าสินค้าที่ขาดบัญชี ก็มิใช่กรณีฟ้องเรียกทรัพย์สินคืน อันเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336เพราะไม่ปรากฏว่าทรัพย์สินที่ขาดหายอยู่ในความครอบครองของจำเลยทุกคนโจทก์ซึ่งเป็นนายทะเบียนสหกรณ์และฟ้องคดีแทนร้านสหกรณ์จึงต้องฟ้องคดีภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องเกินหนึ่งปีแล้ว คดีจึงขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นนายทะเบียนสหกรณ์ตามกฎหมายมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511เมื่อ พ.ศ. 2526 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 เป็นคณะกรรมการดำเนินการของร้านสหกรณ์รูสะมิแล จำกัด มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารงานของสหกรณ์ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติสหกรณ์และตามคำแนะนำของโจทก์หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งโจทก์มอบหมาย จำเลยที่ 8 เป็นผู้จัดการร้านสหกรณ์รูสะมิแล จำกัด วันที่ 6 กรกฎาคม 2526 จำเลยที่ 1ถึงที่ 7 ได้ประชุมกรรมการและเลิกจ้างจำเลยที่ 8 โดยไม่ได้จัดให้มีการตรวจสอบหลักฐานทางบัญชีและการเงิน พร้อมทั้งสินค้าคงเหลือและจัดทำงบดุลแสดงฐานะอันแท้จริงของร้านสหกรณ์รูสะมิแล จำกัดกับไม่ได้ทำบันทึกการส่งมอบให้เป็นหลักฐาน เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับข้อ 51 ของร้านสหกรณ์ และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ได้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการแทนจำเลยที่ 8 ตามข้อบังคับข้อ 52 การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดเป็นการจงใจและประมาทเป็นเหตุให้โจทก์เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินสินค้าขาดบัญชีระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม 2526 ถึงวันที่29 มีนาคม 2528 คิดเป็นเงินจำนวน 649,349.69 บาท ความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะจำเลยที่ 8 ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบข้อบังคับของโจทก์ ข้อที่ 50 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งแปดร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินค่าสินค้าที่ขาดบัญชีจำนวนเงิน 649,349.69 บาท แก่โจทก์และให้จำเลยทั้งแปดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ด้วย
ระหว่างพิจารณาโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตและจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 จากสารบบความ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ถึงที่ 7 ให้การทำนองเดียวกันว่าเมื่อคณะกรรมการให้จำเลยที่ 8 พ้นหน้าที่ได้จัดให้มีการตรวจสอบและส่งมอบงานถูกต้องตามระเบียบ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ถึงที่ 7ไม่เคยกระทำกิจการใด ๆ โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ไม่เคยทำหน้าที่ผู้จัดการแทนจำเลยที่ 8 หากจำเลยที่ 8 ไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของโจทก์หรือร้านสหกรณ์ จำเลยที่ 8 ก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบความจริงสินค้าของร้านสหกรณ์มิได้ขาดหายถึงจำนวนตามฟ้อง เป็นเพียงการคาดคะเนเอา สินค้าดังกล่าวมิได้อยู่ในความครอบครองของจำเลยโจทก์ฟ้องขอให้รับผิดในมูลละเมิด โจทก์ไม่ได้ฟ้องเรียกทรัพย์คืนจากจำเลย คดีโจทก์ขาดอายุความ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การว่าได้ลาออกจากกรรมการตามใบลาลงวันที่9 มีนาคม 2526 ก่อนที่จะมีการดำเนินงานร้านสหกรณ์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 8 ให้การว่า โจทก์มอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากคณะกรรมการดำเนินการร้านสหกรณ์ จำเลยที่ 8มิได้เป็นกรรมการร้านสหกรณ์ หากแต่เป็นเพียงลูกจ้างจึงไม่ต้องรับผิดจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ให้จำเลยที่ 8 ออกจากตำแหน่งผู้จัดการร้านสหกรณ์เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2526 เนื่องจากไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอกับตำแหน่ง โดยมิได้ระบุว่าทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างใด จำเลยที่ 8 จึงไม่ต้องรับผิดชอบตามฟ้อง หากต้องรับผิดก็ไม่เกิน 1,664.62 บาท ในส่วนที่เป็นข้อผิดพลาดในการบันทึกบัญชีสินค้าคลาดเคลื่อน โจทก์ทราบว่ามีสิทธิเรียกทรัพย์คืนและรู้ตัวผู้กระทำผิดวันที่ 31 ตุลาคม 2526 โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่14 ตุลาคม 2529 คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความและพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 7 เป็นคณะกรรมการร้านสหกรณ์รูสะมิแล จำกัด จำเลยที่ 8 เป็นผู้จัดการระหว่างที่จำเลยที่ 1ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 7 เป็นคณะกรรมการ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4ถึงที่ 7 ได้เลิกจ้างจำเลยที่ 8 โดยไม่ได้ตรวจสอบหลักฐานการเงินและการบัญชีของร้านสหกรณ์ตามข้อบังคับเอกสารหมาย ปจ.2 และได้คืนหลักประกันให้จำเลยที่ 8 ต่อมาพนักงานตรวจสอบบัญชีของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์เข้าตรวจสอบฐานะการเงินของร้านสหกรณ์ เมื่อสิ้นปีการเงินวันที่ 31 ตุลาคม 2526 ปรากฏว่าร้านสหกรณ์ขาดทุนขั้นต้น270,000 บาทเศษ การตรวจสอบใช้วิธีวิเคราะห์สินค้าคงเหลือ สำหรับสินค้าที่ขายระหว่างปีใช้วิธีนำเอาเปอร์เซ็นต์กำไรขั้นต้นของงบดุล 3 ปี ย้อนหลังเป็นตัวเปรียบเทียบ เนื่องจากร้านสหกรณ์ไม่ได้ทำทะเบียนสินค้าและทะเบียนซื้อสินค้าที่กำหนดขายสินค้าไว้แน่นอน จึงเป็นความผิดของคณะกรรมการที่ไม่ควบคุมดูแลฝ่ายจัดการให้ปฏิบัติให้เรียบร้อย อย่างไรก็ดีเมื่อวิเคราะห์สินค้าทั้งหมด แล้วปรากฏว่าขาดไป ปรากฏตามรายงานการตรวจบัญชีเอกสารหมาย ปจ.5 เมื่อคณะกรรมการร้านสหกรณ์ชุดใหม่โดยนายปัญญ์ ยวนแหล ประธานกรรมการเข้ารับหน้าที่ต่อจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 7 ได้ตรวจสอบสินค้าอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2526 จนถึงวันที่ 28 มีนาคม 2527พบว่าสินค้าขาดหายอีก ตามหนังสือเรื่องขอแจ้งงบดุลเอกสารหมาย ปจ.6รวมเป็นเงินค่าสินค้าที่ขาดหายทั้งสิ้น 649,349.69 บาท เมื่อวันที่28 มิถุนายน 2528 โจทก์ในฐานะนายทะเบียนสหกรณ์ได้มอบอำนาจให้สหกรณ์จังหวัดปัตตานีดำเนินคดีเรียกค่าเสียหายจากคณะกรรมการดำเนินการร้านสหกรณ์รูสะมิแล จำกัด และโจทก์มอบให้ทนายความมีหนังสือทวงถามให้จำเลยทุกคนชำระเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2528ปรากฏตามเอกสารหมาย ปจ.7
พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยอันดับแรกว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ซึ่งโจทก์ฎีกาว่าโจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์คืนและให้ชดใช้ราคาทรัพย์จึงเป็นเรื่องลาภมิควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419 เนื่องจากสหกรณ์จังหวัดผู้เสียหายไม่ดำเนินการฟ้องคดี โจทก์ซึ่งเป็นนายทะเบียนสหกรณ์จึงมีสิทธิฟ้องคดีภายในกำหนด 10 ปี คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความนั้นเห็นว่า ฟ้องโจทก์มิได้กล่าวอ้างว่าจำเลยทุกคนได้ทรัพย์ เพราะการที่บุคคลอีกคนหนึ่งกระทำเพื่อชำระหนี้ก็ดี หรือได้มาด้วยประการอื่นโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเสียเปรียบ อันเป็นมูลแห่งลาภมิควรได้ ฎีกาของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ถึงอย่างไรก็ตาม ฟ้องโจทก์และข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบได้ความว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ที่เลิกจ้างจำเลยที่ 8 โดยไม่จัดให้มีการตรวจสอบหลักฐานทางบัญชีและการเงินไม่ควบคุมดูแลฝ่ายจัดการให้ปฏิบัติตามข้อบังคับของร้านสหกรณ์เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหาย เมื่อทำงบดุลปลายปี 2526 สินค้าขาดบัญชีจำนวน 649,349.69 บาท ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะจำเลยที่ 8 ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบข้อบังคับของโจทก์ ทำให้ร้านสหกรณ์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อร้านสหกรณ์รูสะมิแล จำกัด นั้นเอง แม้โจทก์จะใช้ถ้อยคำว่าให้จำเลยชำระค่าสินค้าที่ขาดบัญชี ก็มิใช่กรณีฟ้องเรียกทรัพย์สินคืนอันเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1336 เพราะไม่ปรากฏว่าทรัพย์สินที่ขาดหายอยู่ในความครอบครองของจำเลยทุกคนเมื่อเป็นคดีละเมิดเช่นนี้ โจทก์ซึ่งเป็นนายทะเบียนสหกรณ์และฟ้องคดีแทนร้านสหกรณ์รูสะมิแล จำกัด ย่อมต้องฟ้องคดีภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 แต่เมื่อปรากฏว่าหนังสือมอบอำนาจให้ดำเนินคดีก็ดี หรือหนังสือของทนายความโจทก์ทวงถามจำเลยทุกคนก็ดี ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2528 และวันที่28 กันยายน 2528 ตามลำดับ ตามเอกสารท้ายฟ้องเท่ากับโจทก์ได้ทราบถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนวันที่ 28 มิถุนายน2528 หรืออย่างช้าก็วันที่ 28 กันยายน 2528 อันเป็นวันทวงถามให้ชำระค่าเสียหายนั้นเอง เมื่อจำเลยทุกคนไม่ชำระ โจทก์จึงยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2529 ซึ่งเกินหนึ่งปีแล้ว ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้นและไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์ต่อไป”
พิพากษายืน

Share