คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4874/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ปัญหาตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่อ้างว่า ผู้ร้องมีโครงการอาสาสมัครลาออกเพื่อลดขนาดขององค์กรผู้ร้องและพนักงานก็ลาออก เมื่อผู้คัดค้านไม่สมัครใจลาออกก็ต้องถือว่าผู้คัดค้านได้ปฏิบัติตามโครงการดังกล่าวแล้ว หากผู้ร้องจะบังคับให้ผู้คัดค้านออกก็เท่ากับว่าผู้ร้องเลือกปฏิบัติไม่เอาโครงการดังกล่าวมาใช้เท่าเทียมกัน การที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้เลิกจ้างผู้คัดค้านได้ ถือว่าเป็นคำสั่งที่ขัดต่อโครงการอาสาลาออกและขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญในข้อบุคคลย่อมเสมอกันในทางกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกันนั้น เป็นข้อที่ผู้คัดค้านไม่ได้ให้การไว้ ทั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านมิได้แถลงรับว่ามีโครงการดังกล่าวจริงอุทธรณ์ของผู้คัดค้านจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ทั้งมิใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องประสบปัญหาขาดทุนมาตั้งแต่ปี 2542 ถึงปัจจุบันและคำสั่งซื้อลดลงมาก ประกอบกับแผนกผลิตอุปกรณ์จับยึดชิ้นงานไม่มีคำสั่งซื้อจากลูกค้า จึงจำเป็นต้องปิดหน่วยงานดังกล่าวและเลิกจ้างลูกจ้างในหน่วยงานดังกล่าวซึ่งมีทั้งหมด 18 คน ผู้คัดค้านเป็นลูกจ้างในหน่วยงานดังกล่าวและเป็นกรรมการลูกจ้างขอให้ศาลอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า แผนกที่ผู้คัดค้านทำงานอยู่ไม่เกี่ยวกับคำสั่งซื้อของลูกค้า ที่ผู้ร้องอ้างว่าไม่มีการผลิตและไม่มีคำสั่งซื้อจากลูกค้าไม่เป็นความจริง ทั้งผู้ร้องสามารถให้ผู้คัดค้านไปทำงานในแผนกอื่นได้ ขอให้ยกคำร้อง
วันนัดพิจารณาและสืบพยานผู้ร้อง คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า ผู้คัดค้านเป็นลูกจ้างผู้ร้องและเป็นกรรมการลูกจ้างตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2546 ถึงปัจจุบันทำงานในส่วนสร้างอุปกรณ์จับยึดชิ้นงาน งานในแผนกดังกล่าวแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนสร้างแม่พิมพ์ ส่วนซ่อมแม่พิมพ์ และส่วนสร้างอุปกรณ์จับยึดชิ้นงาน ในส่วนงานที่ผู้คัดค้านทำนั้นมีพนักงาน 18 คน ลาออกแล้ว 15 คน งานในแผนกคือผลิตเฉพาะผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ที่ลูกค้าสั่งซื้อ ซึ่งปัจจุบันไม่มีคำสั่งซื้อแล้ว เอกสารหมาย ร.1 เป็นระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างด้วยเอกสารหมาย ร.2 ร.3 เป็นงบการเงินปี 2543 ถึง 2545 ซึ่งผู้ร้องขาดทุนเป็นเงินประมาณ 194,000,000 บาท 124,000,000 บาท และ 172,000,000 บาท ตามลำดับ สำหรับปี 2546 ยังจัดทำงบการเงินไม่เสร็จแต่ก็ขาดทุนเป็นเงิน 100,000,000 บาทเศษ สาเหตุที่ขาดทุนเนื่องจากพัฒนาสู้บริษัทคู่แข่งไม่ได้ ทำให้ต้นทุนในการผลิตสูงกว่าราคาขาย ทั้งคำสั่งซื้อลดลงเมื่อเดือนธันวาคม 2546 มีพนักงานประมาณ 1,600 คน ผู้รับเหมาช่วงแรงงานประมาณ 1,300 คน เดือนมีนาคม 2547 เหลือพนักงาน 650 คน และผู้รับเหมาช่วงแรงงาน 200 คน พนักงานที่ออกส่วนใหญ่ลาออกตามโครงการอาสาสมัครลาออก
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านได้
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงในเบื้องต้นว่า ผู้ร้องประสบปัญหาการขาดทุนและคำสั่งซื้อลดลงตั้งแต่ปี 2543 ถึงปี 2546 จึงเป็นความจำเป็นที่ผู้ร้องต้องลดขนาดองค์กรและพนักงานลงเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพธุรกิจ ดังจะเห็นได้จากการที่ผู้ร้องต้องลดจำนวนพนักงานและผู้รับเหมาช่วงแรงงานลงกว่ากึ่งหนึ่ง โดยเฉพาะในส่วนงานที่ผู้คัดค้านทำอยู่ซึ่งเป็นส่วนงานที่ผลิตเฉพาะผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ที่ลูกค้าสั่งซื้อ แต่ปัจจุบันไม่มีคำสั่งซื้อแล้ว หากจะต้องจ้างผู้คัดค้านต่อไปก็ย่อมไม่เหมาะสมกับสภาพที่เป็นอยู่ ส่วนที่จะให้ผู้คัดค้านไปทำงานในแผนกอื่นในขณะที่ผู้ร้องกำลังลดขนาดองค์กรและอัตรากำลังคนลง ผู้ร้องก็จะต้องเลิกจ้างพนักงานอื่นแล้วให้ผู้คัดค้านเข้าไปทำงานแทน ย่อมเห็นได้ว่าไม่เป็นธรรมต่อพนักงานอื่น ประกอบข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเอกสารหมาย ร.1 หมวดที่ 9 ว่าด้วยการเลิกจ้างข้อ 2.2 ให้ผู้ร้องเลิกจ้างในกรณีคนล้นงานหรือยุบหน่วยงานอันเนื่องจากจำเป็นต้องลดปริมาณการผลิต กรณีจึงมีเหตุสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านได้ ที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์อ้างว่า ผู้ร้องมีโครงการอาสาสมัครลาออกเพื่อลดขนาดองค์กรผู้ร้องและพนักงานก็ลาออก เมื่อผู้คัดค้านไม่สมัครใจลาออก ก็ต้องถือว่าผู้คัดค้านได้ปฏิบัติตามโครงการดังกล่าวแล้ว หากผู้ร้องจะบังคับให้ผู้คัดค้านออกก็เท่ากับว่าผู้ร้องเลือกปฏิบัติไม่เอาโครงการดังกล่าวมาใช้ให้เท่าเทียมกัน การที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้เลิกจ้างผู้คัดค้านได้ถือว่าเป็นคำสั่งที่ขัดต่อโครงการอาสาลาออกและขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญในข้อบุคคลย่อมเสมอกันในทางกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกันนั้น เห็นว่า ปัญหาตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านเป็นข้อที่ผู้คัดค้านไม่ได้ให้การไว้ ทั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านมิได้แถลงรับว่ามีโครงการดังกล่าวจริง อุทธรณ์ของผู้คัดค้านจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ทั้งมิใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกอุทธรณ์ของผู้คัดค้าน

Share