คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4854/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามหนังสือสัญญาเช่าห้องพัก ข้อ 3 ระบุว่า “ผู้เช่ายอมชำระค่าเช่าให้แก่ผู้ให้เช่าภายในวันที่ 30 ของเดือนทุก ๆ เดือน ถ้าไม่ชำระตามกำหนดนี้ ผู้เช่ายอมให้ผู้ให้เช่ายึดเงินประกันของผู้เช่าได้ และใส่กุญแจห้องผู้เช่าก็ได้หรือผู้เช่ายินยอมอนุญาตให้ขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากห้องเช่าได้โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบ” ข้อ 9 ระบุว่า “ถ้าผู้เช่าประพฤติผิดล่วงละเมิดสัญญาแม้แต่ข้อหนึ่งข้อใด หรือกระทำผิดวัตถุประสงค์ข้อหนึ่งข้อใด ยอมให้ผู้ให้เช่าทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะเข้ายึดครอบครองสถานที่และสิ่งที่เช่าได้โดยพลันและมีสิทธิบอกเลิกสัญญาทันที” และข้อ 10 ระบุว่า “เมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าก็ดี หรือผู้เช่าผิดสัญญาเช่าก็ดีผู้เช่ายอมให้ถือว่าผู้เช่ายอมออกจากที่เช่า” ข้อสัญญาดังกล่าวนี้ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนจึงใช้บังคับได้ บ.ผู้เช่าและจำเลยที่ 1 ผู้ให้เช่าต้องปฏิบัติตามสัญญานี้ เมื่อสัญญาเช่าครบกำหนดเวลาและจำเลยที่ 1ได้บอกเลิกสัญญาเช่าแก่ บ.ด้วยแล้ว บ.และผู้เสียหายไม่มีสิทธิอยู่ในห้องพิพาทต่อไป เมื่อ บ.ไม่ยอมออกไปจากห้องพิพาท จำเลยที่ 1 จึงใช้สิทธิตามหนังสือสัญญาเช่าห้องพักดังกล่าวได้ การที่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาจำเลยที่ 1 ได้เข้าไปในห้องพิพาทแล้วใช้คีมหนีบกุญแจลูกบิดประตูบานพับหน้าต่าง ถอดเอาสะพานไฟฟ้า และเครื่องรับโทรศัพท์ในห้องพิพาทออกไป จึงไม่มีมูลความผิดทางอาญา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362, 364, 365(2)(3), 83
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(2)(3) ประกอบมาตรา 362, 83ลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่านายบัญญัติเช่าห้องพิพาทจากจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 เดือนนายบัญญัติและผู้เสียหายได้เข้าอยู่อาศัยในห้องพิพาทมาจนกระทั่งครบกำหนดตามสัญญา และยังคงอาศัยอยู่ในห้องพิพาทตลอดมาจนถึงวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาจำเลยที่ 1 เข้าไปในห้องพิพาทแล้วตัดไฟฟ้า(ถอดสะพานไฟฟ้า) ถอดเครื่องรับโทรศัพท์ และกุญแจลูกบิดประตูออกไป
ที่โจทก์ฎีกาว่า หนังสือสัญญาเช่าห้องพักเอกสารหมาย ล.1ข้อ 3 และข้อ 9 กำหนดให้ผู้ให้เช่าขนย้ายทรัพย์สินออกจากห้องเช่าและเข้ายึดครอบครองสถานที่และสิ่งที่เช่าได้โดยพลัน หากผู้เช่าผิดสัญญา เป็นเพียงข้อกำหนดให้ผู้ให้เช่าไม่ต้องรับผิดในทางแพ่ง มิใช่เป็นการยินยอมที่จะทำให้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดทางอาญานั้น เห็นว่า ตามหนังสือสัญญาเช่าห้องพักเอกสารหมาย ล.1 ข้อ 3 ระบุว่า “ผู้เช่ายอมชำระค่าเช่าให้แก่ผู้ให้เช่าภายในวันที่ 30 ของเดือน ทุก ๆ เดือน ถ้าไม่ชำระตามกำหนดนี้ ผู้เช่ายอมให้ผู้ให้เช่ายึดเงินประกันของผู้เช่าได้ และใส่กุญแจห้องผู้เช่าก็ได้ หรือผู้เช่ายินยอมอนุญาตให้ขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากห้องเช่าได้โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบ” ข้อ 9 ระบุว่า “ถ้าผู้เช่าประพฤติผิดล่วงละเมิดสัญญาแม้แต่ข้อหนึ่งข้อใด หรือกระทำผิดวัตถุประสงค์ข้อหนึ่งข้อใดยอมให้ผู้ให้เช่าทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะเข้ายึดครอบครองสถานที่และสิ่งที่เช่าได้โดยพลันและมีสิทธิบอกเลิกสัญญาทันที”และข้อ 10 ระบุว่า “เมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าก็ดีหรือผู้เช่าผิดสัญญาเช่าก็ดี ผู้เช่ายอมให้ถือว่าผู้เช่ายอมออกจากที่เช่า”ข้อสัญญาดังกล่าวนี้ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงใช้บังคับได้ นายบัญญัติและจำเลยที่ 1ต้องปฏิบัติตามสัญญานี้ เมื่อสัญญาเช่าครบกำหนดเวลาและจำเลยที่ 1 ได้บอกเลิกสัญญาเช่าแก่นายบัญญัติด้วยแล้วนายบัญญัติและผู้เสียหายไม่มีสิทธิอยู่ในห้องพิพาทต่อไปเมื่อนายบัญญัติไม่ยอมออกไปจากห้องพิพาท จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของห้องพิพาทผู้ให้เช่าจึงใช้สิทธิตามหนังสือสัญญาเช่าห้องพักเอกสารหมาย ล.1 ดังกล่าวได้ การกระทำตามฟ้องที่จำเลยทั้งสองเข้าไปในห้องพิพาทแล้วใช้คีมหนีบกุญแจลูกบิดประตูบานพับหน้าต่างถอดเอาสะพานไฟฟ้าและเครื่องรับโทรศัพท์ในห้องพิพาทออกไป จึงไม่มีมูลความผิดทางอาญา
พิพากษายืน

Share