คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4837/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์จากบริษัท ง. โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน บริษัทง. จึงเป็นลูกหนี้มีหน้าที่ส่งมอบรถยนต์ตามที่เช่าซื้อให้แก่จำเลยทั้งสอง และเป็นเจ้าหนี้ในข้อที่จะได้รับเงินค่าเช่าซื้อจากจำเลยทั้งสอง ส่วนจำเลยทั้งสองเป็นลูกหนี้มีหน้าที่ชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาให้แก่บริษัท และเป็นเจ้าหนี้ในข้อที่จะได้รับรถยนต์ตามที่เช่าซื้อนั้น เมื่อมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการรับชำระค่าเช่าซื้อ บริษัท ง. ย่อมเป็นเจ้าหนี้ในการจะได้รับชำระค่าเช่าซื้อจากจำเลยทั้งสอง ทั้งเป็นเจ้าหนี้ในการเรียกให้จำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์คืนพร้อมค่าขาดประโยชน์และค่าเสียหาย สิทธิการเป็นเจ้าหนี้ของบริษัทง. มิใช่สิทธิเฉพาะตัว ย่อมโอนให้แก่โจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 303 วรรคแรก เมื่อการโอนสิทธิเรียกร้องได้ทำเป็นหนังสือถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 วรรคแรก โจทก์ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องย่อมบอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยทั้งสองผู้เป็นลูกหนี้ได้ และกรณีเช่นนี้มิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349
ส่วนปัญหาว่าสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันที่ทำไว้ระหว่างบริษัท ง. กับจำเลยทั้งสองมีข้อตกลงล่วงหน้าไว้ว่า จำเลยทั้งสองยินยอมให้บริษัท ง. โอนสิทธิตามสัญญาให้แก่บุคคลภายนอกได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวแก่จำเลยทั้งสองก่อนนั้น เป็นข้อตกลงที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น เมื่อคดีนี้โจทก์ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากบริษัท ง. มาโดยชอบ ทั้งปรากฏว่าโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องนั้นต่อจำเลยทั้งสองและจำเลยทั้งสองได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้ว ไม่มีผู้ใดใช้สิทธิตามที่ตกลงไว้ล่วงหน้าและไม่เกิดข้อโต้แย้งในคดีนี้ จึงไม่มีประเด็นจะวินิจฉัยข้อตกลงตามสัญญานั้นอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2534 โจทก์ทำสัญญานายหน้าและบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับการเป็นนายหน้ากับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิทก้า จำกัด (มหาชน) โดยโจทก์เป็นนายหน้าติดต่อหาบุคคลมาทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ดังกล่าว หากผู้เช่าซื้อผิดนัด 4 งวด โจทก์จะนำหลักทรัพย์หรือเงินสดวางเป็นประกันต่อผู้ให้เช่าซื้อ และโจทก์มีหน้าที่ติดตามผู้เช่าซื้อให้ชำระหนี้ภายใน30 วัน หากพ้นกำหนดโจทก์จะรับโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อจากผู้ให้เช่าซื้อวันที่ 2กุมภาพันธ์ 2536 โจทก์ชี้ช่องให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 9 ง – 3180 กรุงเทพมหานคร จากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิทก้า จำกัด(มหาชน) ในราคา 205,440 บาท ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อพร้อมค่าภาษีมูลค่าเพิ่มรวมงวดละ 8,560 บาท เป็นรายเดือนรวม 24 งวด เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 2 มีนาคม 2536และทุกวันที่ 2 ของเดือนถัดไป หากผิดนัด 2 งวดติดกัน เมื่อผู้ให้เช่าซื้อมีหนังสือแจ้งให้ชำระหนี้เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำบอกกล่าว ถ้าผู้เช่าซื้อเพิกเฉยไม่ชำระหนี้ให้ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันทีโดยไม่จำต้องบอกกล่าวอีก และผู้เช่าซื้อยินยอมให้ริบเงินที่ชำระแล้วทั้งหมด และผู้เช่าซื้อต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อในสภาพเรียบร้อยคืนแก่เจ้าของทันทีพร้อมค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนสัญญาเลิกกัน ผู้เช่าซื้อยินยอมให้ผู้ให้เช่าซื้อโอนสิทธิหรือจำหน่ายสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่บุคคลภายนอกโดยไม่ต้องบอกกล่าวผู้เช่าซื้อ และผู้เช่าซื้อตกลงให้ถือเอาสัญญาเช่าซื้อเป็นหนังสือยินยอมในการโอนสิทธิหรือจำหน่ายสิทธิ จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจำเลยที่ 2 ยอมให้ผู้ให้เช่าซื้อโอนสิทธิหรือจำหน่ายสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันแก่บุคคลภายนอก โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และจำเลยที่ 2 ตกลงให้ถือเอาสัญญาค้ำประกันเป็นหนังสือยินยอมในการโอนสิทธิหรือจำหน่ายสิทธิให้แก่บุคคลภายนอกโดยไม่ต้องบอกกล่าวแก่จำเลยที่ 2 หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่เคยผ่อนชำระค่าเช่าซื้อเลยจนพ้นระยะเวลาเกินกว่า 4 งวดผู้ให้เช่าซื้อจึงให้โจทก์รับโอนสิทธิหน้าที่ทั้งหมดตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันและรับโอนสิทธิในรถยนต์คันที่เช่าซื้อ ซึ่งโจทก์ได้รับโอนเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2536โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองทราบถึงการรับโอนสิทธิเรียกร้องพร้อมทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างแก่โจทก์ภายใน 30 วัน จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อแก่โจทก์ในสภาพที่เรียบร้อย หากไม่สามารถคืนในสภาพที่เรียบร้อยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ราคาเป็นเงิน 205,440 บาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าขาดประโยชน์ในการที่ไม่ยอมส่งมอบรถยนต์คืนเดือนละ 8,000 บาท นับแต่วันที่ 2 มีนาคม 2536 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 1 ปี 9 เดือน 22 วัน คิดเป็นเงิน173,280 บาท และอีกเดือนละ 8,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถคืนในสภาพเรียบร้อยหรือชดใช้ราคาแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์ชำระแทนจำเลยที่ 1 งวดละ 560 บาท เป็นเวลา 6 งวด เป็นเงิน 3,360 บาทรวมเป็นเงินที่จำเลยทั้งสองจะต้องชำระแก่โจทก์ 382,080 บาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 382,080 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของรถยนต์ที่ให้เช่าซื้อ โจทก์ไม่ได้เป็นคู่สัญญากับจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากผู้ให้เช่าซื้อด้วยเชื่อมั่นในความมั่นคงและความสามารถในการปฏิบัติตามสัญญาของผู้ให้เช่าซื้อ การทำข้อตกลงใด ๆ ระหว่างผู้ให้เช่าซื้อกับโจทก์ไม่มีผลผูกพันจำเลยทั้งสอง เพราะจำเลยทั้งสองมิได้รู้เห็นยินยอมด้วย ผู้ให้เช่าซื้อมีฐานะเป็นทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ผู้ให้เช่าซื้อจะเปลี่ยนฐานะความเป็นลูกหนี้ของตนให้โจทก์เป็นลูกหนี้แทนโดยจำเลยที่ 1 มิได้ทำสัญญากับโจทก์ด้วยหาได้ไม่เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350 สัญญาเช่าซื้อข้อ 15 และข้อ 16 และสัญญาค้ำประกันข้อ 8 ระหว่างบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิทก้า จำกัด (มหาชน) กับจำเลยทั้งสองขัดต่อกฎหมาย ไม่อาจใช้บังคับได้ จำเลยทั้งสองไม่ได้ผิดนัดเนื่องจากจำเลยที่ 1 นำเงินไปชำระให้ผู้ให้เช่าซื้อ แต่ผู้ให้เช่าซื้อกลับให้นำไปชำระให้โจทก์ซึ่งไม่ใช่คู่สัญญา จำเลยที่ 1 จึงไม่ยอมชำระ ผู้ให้เช่าซื้อไม่เคยบอกกล่าวทวงถามจำเลยทั้งสอง ถือว่าผู้ให้เช่าซื้อผิดสัญญาเองและสัญญาเช่าซื้อยังไม่เลิกกัน โจทก์เรียกค่าเสียหายเกินความจริง โจทก์ชำระค่าภาษีมูลค่าเพิ่มเองโดยจำเลยทั้งสองมิได้ยินยอมขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย หากส่งมอบคืนไม่ได้ให้ชดใช้ราคา 205,440 บาท แก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหาย 173,280 บาท และค่าเสียหายอีกเดือนละ 8,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถหรือชดใช้ราคาแก่โจทก์ แต่มิให้คำนวณเกินกว่า 6 เดือน ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 3,360 บาท แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประเด็นข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองข้อแรกมีว่า โจทก์ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิทก้า จำกัด(มหาชน) โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 303วรรคแรก บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องนั้นท่านว่าจะพึงโอนกันได้ เว้นไว้แต่สภาพแห่งสิทธินั้นเอง จะไม่เปิดช่องให้โอนกันได้ มาตรา 306 วรรคแรก บัญญัติว่า การโอนหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงนั้น ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าไม่สมบูรณ์ อนึ่งการโอนหนี้นั้น ท่านว่าจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้ หรือลูกหนี้จะได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น คำบอกกล่าวหรือความยินยอมเช่นว่านี้ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือ มาตรา 349 วรรคแรกบัญญัติว่า เมื่อคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ไซร้ท่านว่าหนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไปด้วยแปลงหนี้ใหม่ วรรคท้ายบัญญัติว่า ถ้าแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ ท่านให้บังคับด้วยบทบัญญัติทั้งหลายแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยโอนสิทธิเรียกร้อง ข้อเท็จจริงคดีนี้ได้ความจากคำฟ้องและคำให้การว่า บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิทก้า จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ จำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าซื้อ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อและรับมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อแล้ว จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่เคยชำระค่าเช่าซื้อ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิทก้า จำกัด (มหาชน) จึงโอนสิทธิเรียกร้องให้โจทก์เป็นผู้ทวงถามหนี้ค่าเช่าซื้อ ส่วนจำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่าการโอนสิทธิระหว่างบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิทก้า จำกัด (มหาชน) กับโจทก์ต้องบังคับด้วยบทบัญญัติแปลงหนี้ใหม่ เห็นว่า นับตั้งแต่วันทำสัญญาเช่าซื้อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิทก้า จำกัด (มหาชน) เป็นลูกหนี้มีหน้าที่ส่งมอบรถยนต์ตามที่เช่าซื้อให้แก่จำเลยทั้งสองและเป็นเจ้าหนี้ในข้อที่จะได้รับเงินค่าเช่าซื้อจากจำเลยทั้งสอง ส่วนจำเลยทั้งสองเป็นลูกหนี้มีหน้าที่ชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิทก้า จำกัด(มหาชน) และเป็นเจ้าหนี้ในข้อที่จะได้รับรถยนต์ตามที่เช่าซื้อนั้น ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความแถลงรับกันฟังเป็นยุติว่า บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิทก้า จำกัด (มหาชน) ได้ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่จำเลยทั้งสองรับไปเรียบร้อยแล้ว คงโต้แย้งในข้อที่ว่าจำเลยทั้งสองผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อหรือไม่ เมื่อเป็นข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการรับชำระค่าเช่าซื้อ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิทก้า จำกัด (มหาชน) ย่อมเป็นเจ้าหนี้ในการจะได้รับชำระค่าเช่าซื้อจากจำเลยทั้งสอง ทั้งเป็นเจ้าหนี้ในการเรียกให้จำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์คืนพร้อมค่าขาดประโยชน์และค่าเสียหาย สิทธิการเป็นเจ้าหนี้ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิทก้า จำกัด(มหาชน) มิใช่สิทธิเฉพาะตัว ย่อมโอนสิทธินั้นให้แก่โจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 303 วรรคแรก และต้องบังคับว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 วรรคแรก เมื่อการโอนสิทธิเรียกร้องได้ทำเป็นหนังสือถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 วรรคแรก โจทก์ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องย่อมบอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยทั้งสองผู้เป็นลูกหนี้ได้ มิใช่การแปลงหนี้ใหม่ดังที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้าง

ประเด็นข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยข้อต่อไปมีว่า สัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันที่ทำไว้ระหว่างบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิทก้า จำกัด (มหาชน) กับจำเลยทั้งสองมีข้อตกลงล่วงหน้าไว้ว่า จำเลยทั้งสองยินยอมให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิทก้า จำกัด (มหาชน)โอนสิทธิตามสัญญาให้แก่บุคคลภายนอกได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวแก่จำเลยทั้งสองก่อนนั้น เป็นข้อตกลงที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่า โจทก์ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิทก้า จำกัด (มหาชน) มาโดยชอบ ทั้งปรากฏว่าโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องนั้นต่อจำเลยทั้งสองและจำเลยทั้งสองได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้ว ไม่มีผู้ใดใช้สิทธิตามที่ตกลงไว้ล่วงหน้าและไม่เกิดข้อโต้แย้งในคดีนี้ จึงไม่มีประเด็นจะวินิจฉัยข้อตกลงตามสัญญานั้นอีก

พิพากษายืน

Share