คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 483/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐ และสัญญาจ้างเหมาเป็นสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างทางลาดยางถนนบนคันกั้นน้ำเค็มเบอร์ 1 ในเขตโครงการก่อสร้างทางชลประทานที่ 5 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะตามภารกิจหลักของโจทก์ที่เป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ข้อตกลงตามสัญญาจ้างเหมาะระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ก็เป็นความผูกพันตามหลักกฎหมายแพ่งว่าด้วยนิติกรรมสัญญาทั่วไป หาได้ก่อให้เกิดสิทธิพิเศษใดๆ แก่โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเพิ่มเติมขึ้นแต่อย่างใดไม่ และต้องอยู่ภายใต้บังคับตามหลักเกณฑ์การพิจารณาปรับลดเบี้ยปรับลงเป็นจำนวนพอสมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกับชำระเงินค่าปรับเนื่องจากการผิดสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง 9,355,179.60 บาท หักด้วยเงินที่ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด ชำระแล้ว 1,344,136 บาท เป็นเงิน 8,011,043.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การแก้คดีและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,075,244 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 28 มีนาคม 2545) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 2,688,269 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 28 มีนาคม 2545) จนกว่าชำระเสร็จกับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2533 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างทางลาดยาวถนนบนคันกั้นน้ำเค็มเบอร์ 1 ในเขตโครงการก่อสร้างทางชลประทานที่ 5 จังหวัดเพชรบุรี กับโจทก์ในราคาค่าก่อสร้างเป็นเงิน 26,305.93 บาท กำหนดระยะเวลาการทำงานแล้วเสร็จภายใน 150 วัน นับจากวันที่คณะกรรมการตรวจการจ้างแจ้งให้ผู้รับจ้างเข้าปฏิบัติงาน จำเลยที่ 1 ตกลงว่าหากส่งมอบงานล่าช้ากว่าวันแล้วเสร็จตามสัญญา แต่โจทก์ยังมิได้บอกเลิกสัญญา จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์ปรับเป็นรายวัน วันละ 26,882.70 บาท นับแต่วันที่ล่วงเลยกำหนดเวลาแล้วเสร็จจนถึงวันที่งานเสร็จบริบูรณ์ เพื่อเป็นหลักประกันในการดำเนินงาน จำเลยที่ 1 นำหนังสือค้ำประกันความรับผิดตามสัญญาของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด สาขาเพชรบุรีมาค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาของจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 1,344,136 บาท ตามสัญญาจ้างเหมา จำเลยที่ 1 ได้เข้าปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2533 ซึ่งจะครบกำหนดอายุสัญญาในวันที่ 3 มีนาคม 2534 แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ส่งมอบงานเพียง 1 ครั้ง และได้รับค่าจ้างไปแล้วเป็นเงิน 16,910,927.94 บาท คิดเป็นผลงานประมาณร้อยละ 62.906 ตามบันทึกข้อความของกองพัสดุ แผ่นที่ 2 จากนั้นจำเลยที่ 1 หยุดทำงานตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2534 ต่อมาวันที่ 26 มีนาคม 2535 โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2535 พร้อมทั้งให้ชำระค่าปรับกับริบหลักประกันสัญญา
คดีมีประเด็นพิพาทตามที่โจทก์ฎีกาขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเพียงว่า โจทก์มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับในกรณีทำงานไม่เสร็จตามกำหนดเวลาในสัญญาจากจำเลยทั้งสองได้เพียงใด เห็นว่า ตามสัญญาจ้างเหมาที่ กจ.6/2533 มีข้อความระบุว่า จำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างสัญญาว่าจะทำงานจ้างให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ภายใน 150 วัน นับจากวันที่ผู้ว่าจ้างหรือคณะกรรมการตรวจการจ้างแจ้งให้จำเลยที่ 1 เข้าปฏิบัติงาน เป็นต้นไป และข้อ 20 (1) ระบุข้อตกลงว่าถ้าจำเลยที่ 1 ส่งมอบงานล่าช้ากว่าวันแล้วเสร็จตามสัญญา แต่โจทก์ผู้ว่าจ้างยังมิได้บอกเลิกสัญญา จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์ปรับจำเลยที่ 1 เป็นรายวัน วันละ 26,882.70 บาท นับแต่วันที่ล่วงเลยกำหนดวันแล้วเสร็จตามสัญญาจนถึงวันที่งานแล้วเสร็จบริบูรณ์ ข้อตกลงตามข้อสัญญาข้อ 20 (1) ดังกล่าว จึงมีลักษณะเป็นการกำหนดให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 โดยกำหนดค่าเสียหายเป็นรายวันไว้ล่วงหน้า อันเข้าลักษณะเป็นเบี้ยปรับเพื่อการไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 381 วรรคหนึ่ง ซึ่งหากศาลเห็นว่าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วน ศาลย่อมมีอำนาจปรับลดเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามมาตรา 383 วรรคหนึ่ง ซึ่งกฎหมายวางหลักเกณฑ์การปรับลดจำนวนเบี้ยปรับลงเป็นจำนวนพอสมควรว่า “…ในการที่จะวินิจฉัยว่าสมควรเพียงใดนั้นท่านให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน…” ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยลดค่าปรับตามฟ้องลงเป็นจำนวนพอสมควรว่า หลังจากล่วงเลยกำหนดจากสัญญา แต่จำเลยที่ 1 ยังทำงานไม่เสร็จ โจทก์ได้มีหนังสือแจ้งเตือน 4 ครั้ง ให้จำเลยที่ 1 เร่งรัดการปฏิบัติงานตามหนังสือลงวันที่ 7 มีนาคม 2534 วันที่ 3 พฤษภาคม 2534 วันที่ 5 สิงหาคม 2534 และวันที่ 31 ตุลาคม 2534 การแจ้งเตือนดังกล่าวโดยยังไม่บอกเลิกสัญญานั้นเป็นเรื่องที่มีเหตุผล เพราะเป็นการให้โอกาสจำเลยที่ 1 ได้ทำงานตามสัญญาให้เสร็จแทนที่โจทก์จะต้องคัดเลือกผู้ประมูลโครงการรายใหม่ อันอาจทำให้โครงการตามสัญญาล่าช้าและเสียหายมากว่าเดิมซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ได้มีหนังสือตอบมาเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2534 ยืนยันขอเข้าทำงานต่อในวันที่ 1 สิงหาคม 2534 ตามหลักฐานในบันทึกข้อความของคณะกรรมการตรวจการจ้าง แต่เมื่อถึงกำหนดจำเลยที่ 1 ผิดข้อตกลง แสดงว่าจำเลยที่ 1 ละทิ้งงานอย่างแน่นอน โดยเหตุนี้ การที่โจทก์ไม่บอกเลิกสัญญาตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2534 โดยยังเตือนให้จำเลยที่ 1 ทำงานต่อไปอีกแล้วเลิกสัญญาในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2535 นั้นเป็นการให้โอกาสแก่จำเลยที่ 1 โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ดังนั้น ที่โจทก์เรียกเบี้ยปรับนับถัดจากวันครบกำหนดตามสัญญาจนถึงวันเลิกสัญญา จึงมีผลให้เบี้ยปรับสูงเกินส่วน เห็นสมควรลดเบี้ยปรับให้เหมาะสม โดยให้คิดเบี้ยปรับตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2534 ถึงวันที่ 1 สิงหาคม 2534 เป็นเวลา 150 วัน ในอัตราวันละ 26,882.70 บาท เป็นเงิน 4,032,405 บาท นั้นเป็นการวินิจฉัยกำหนดจำนวนค่าปรับให้แก่โจทก์ถูกต้องเหมาะสมสอดคล้องตามหลักเกณฑ์ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว
ที่โจทก์ฎีกาว่า สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเป็นสัญญาที่รัฐทำกับเอกชนโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะ โจทก์ในฐานะหน่วยงานของรัฐไม่ได้มีจุดประสงค์ที่จะมุ่งค้ากำไร การที่จำเลยทั้งสองผิดสัญญา ทำให้โครงการของโจทก์เสียหายส่งผลกระทบต่อประโยชน์ส่วนรวม ก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่าสัญญาระหว่างเอกชนกับเอกชน ควรใช้บทลงโทษผู้กระทำผิดสัญญาอย่างเคร่งครัดเพื่อมิให้เอกชนอื่นเอาเยี่ยงอย่าง นั้น เห็นว่า แม้โจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐ และสัญญาจ้างเหมาเป็นสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างทางราดยางถนนคันกั้นน้ำเค็มเบอร์ 1 ในเขตโครงการก่อสร้างทางชลประทานที่ 5 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะตามภารกิจหลักของโจทก์ที่เป็นหน่วยงานของรัฐก็ตาม แต่ข้อตกลงตามสัญญาจ้างเหมาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ก็เป็นความผูกพันตามหลักกฎหมายแพ่งว่าด้วยนิติกรรมสัญญาทั่วไป หาได้ก่อให้เกิดสิทธิพิเศษใดๆ แก่โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเพิ่มเติมขึ้นแต่อย่างใดไม่ และต้องอยู่ภายใต้บังคับตามหลักเกณฑ์การพิจารณาปรับลดเบี้ยปรับลงเป็นจำนวนพอสมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้วินิจฉัยมาแล้วเช่นกันฎีกาข้อนี้ของโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share