คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 483/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยมีจดหมายถึงโจทก์มีใจความว่า ไม่ต้องการรบกวนโจทก์อีก เก่ายังไม่ใช้จะเอาใหม่อีกจำเลยละอายใจ เพียงเท่านี้ไม่ใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ เพราะไม่ระบุจำนวนเงิน โจทก์จึงฟ้องเรียกเงินจำนวนนี้ไม่ได้
ต่อมาโจทก์ส่งดราฟท์ไปให้จำเลย จำเลยมีจดหมายตอบว่าได้รับดราฟท์แล้ว และต่อมาจำเลยมีจดหมายอีกสองฉบับถึงโจทก์ยืนยันว่า จะใช้เงินที่ยืมให้ จดหมายทั้งหมดประกอบกันเป็นหลักฐานเป็นหนังสือแห่งสัญญากู้ยืม โจทก์จึงฟ้องเรียกเงินจำนวนหลังนี้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้ยืมรวม ๖ ครั้ง รวมทั้งดอกเบี้ย ถึงวันฟ้องเป็นเงิน ๙๘,๑๒๐ บาท
จำเลยให้การว่า ไม่เคยกู้ยืมเงินโจทก์เลย เงินที่โจทก์ส่งให้เป็นเงินของมารดาจำเลย โจทก์ไม่มีหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์มีพยานหลักฐานเป็นหนังสือว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ ๘,๐๐๐ บาท แล้วพิพากษาให้จำเลยใช้เงินจำนวนนี้และดอกเบี้ย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยชำระเงิน ๕๑,๗๕๐ บาทกับดอกเบี้ย
โจทก์จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จดหมายที่จำเลยเขียนถึงโจทก์เมื่อจำเลยเดินทางถึงอเมริกาซึ่งมีความว่า “เทอมหน้าจะทำงานตลอด เพราะไม่อยากรบกวนทิ (โจทก์) อีกอันเก่ายังไม่ได้ใช้ เอาอันใหม่เพิ่มอีก เราละอายใจ” ไม่ระบุจำนวนเงิน จึงไม่ใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืม
ต่อมาจำเลยได้มีจดหมายตอบรับดราฟท์ที่โจทก์ส่งไปให้ ๓ ฉบับ รวมเป็นเงิน ๓๙,๓๔๐ บาท และต่อมายังมีจดหมายถึงโจทก์ว่า ” ทุก ๆ สตางค์ที่ทิ (โจทก์) ให้วิชัยยืมไปนั้น ทิจะได้คืนทุก ๆ สตางค์” และจดหมายฉบับต่อมาก็ยังกล่าวว่า “เมื่อกลับถึงเมืองไทยจะตั้งต้นเก็บเงินทุกสตางค์แดงเพื่อใช้หนี้แก่ทิ (โจทก์)” เอกสารเหล่านี้ประกอบกันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือแล้ว พิพากษาแก้ให้จำเลยใช้เงิน ๓๙,๓๔๐ บาทกับดอกเบี้ย.

Share