แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ไม่มาศาลในวันสืบพยาน ศาลแรงงานกลางสั่งว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบและสั่งงดสืบพยานจำเลย พิพากษายกฟ้อง เช่นนี้มิใช่การพิจารณาโดยขาดนัดอันจะเป็นเหตุให้คู่ความร้องขอให้มีการพิจารณาใหม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 207 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานกลางฯพ.ศ. 2522 มาตรา 31
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ขาดงานสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรจำเลยไม่ได้เลิกจ้างหรือไล่ออก แต่โจทก์สมัครใจละทิ้งหน้าที่ไปเอง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
ในวันนัดสืบพยานโจทก์ ผู้รับมอบอำนาจจำเลยมาศาล ส่วนโจทก์ไม่มาโดยไม่แจ้งเหตุที่ไม่มาให้ศาลทราบ ศาลแรงงานจึงมีคำสั่งว่าโจทก์ไม่มีพยานมานำเข้าสืบ และให้งดสืบพยานจำเลย นัดฟังคำพิพากษาในวันเดียวกันนั้นเอง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานกลางขอให้ไต่สวนและมีคำสั่งให้พิจารณาคดีใหม่
ศาลแรงงานกลางสั่งคำร้องดังกล่าวว่า ไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้ ให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ในกรณีที่โจทก์ไม่มาศาลพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522มาตรา 40 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อโจทก์ได้ทราบคำสั่งมาศาลตามมาตรา 37 แล้วไม่มาตามกำหนดโดยไม่แจ้งให้ศาลทราบสาเหตุที่ไม่มา ให้ถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไปให้ศาลแรงงานมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความ” และวรรคสามบัญญัติว่า “ในกรณีที่โจทก์ได้แจ้งเหตุให้ศาลแรงงานทราบเหตุแล้วและศาลแรงงานเห็นเป็นการสมควร ก็ให้กำหนดวันเวลานัดใหม่เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายมาศาล” ซึ่งเป็นบทบัญญัติกำหนดให้โจทก์มาศาลตามกำหนดเวลาที่ศาลนัด ในกรณีที่โจทก์ได้ทราบคำสั่งที่สั่งให้โจทก์มาศาลในวันเวลาที่ศาลนัดพิจารณาตามมาตรา 37 ซึ่งบัญญัติว่า “เมื่อศาลแรงงานสั่งรับคดีไว้พิจารณาแล้ว ให้ศาลแรงงานกำหนดวันเวลาในการพิจารณาโดยเร็วและออกหมายเรียกจำเลยให้มาศาลตามกำหนดในหมายนั้นให้จดแจ้งรายการแห่งข้อหาและคำขอบังคับให้จำเลยทราบและให้ศาลแรงงานสั่งให้โจทก์มาศาลในวันเดียวกันนั้นด้วย” เช่นนี้จึงเห็นได้ว่า ถ้าโจทก์ได้ทราบคำสั่งที่ให้โจทก์มาศาลในวันเวลาที่ศาลนัดพิจารณาแล้ว โจทก์จะต้องมาศาลตามกำหนดเวลาที่ศาลนัดถ้าโจทก์มีความจำเป็นที่จะมาศาลไม่ได้ โจทก์จะต้องแจ้งเหตุหรือความจำเป็นนั้น ๆ ให้ศาลทราบ หากศาลแรงงานกลางเห็นว่าเหตุหรือความจำเป็นตามที่แจ้งนั้นเป็นการสมควร ศาลแรงงานกลางก็จะกำหนดวันเวลาที่จะนัดให้โจทก์กับจำเลยมาพร้อมกันใหม่อีก แต่ถ้าโจทก์ไม่แจ้งเหตุหรือความจำเป็นที่มาศาลไม่ได้ให้ศาลทราบ หรือเหตุที่แจ้งหรือความจำเป็นนั้นศาลเห็นว่าไม่ใช่เหตุหรือความจำเป็นที่จะทำให้ถึงกับมาศาลไม่ได้ ศาลแรงงานกลางจะต้องถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไปแล้วมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความตามมาตรา 40 วรรคหนึ่ง หากศาลแรงงานกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดีตามวรรคหนึ่งนี้ โจทก์จึงมีสิทธิที่จะมาขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งเพื่อให้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนั้นใหม่ต่อไปได้ตามมาตรา 40ตามที่โจทก์อุทธรณ์ แต่กรณีนี้ได้ความว่า ในวันนัดพิจารณาเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2531 อันเป็นวันนัดพิจารณาตามมาตรา 40 วรรคหนึ่งดังกล่าวข้างต้น โจทก์จำเลยมาศาล และศาลได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทแล้วกำหนดวันเวลานัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 22 เมษายน 2531เวลา 9 นาฬิกา วันดังกล่าวจึงเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์ มิใช่วันนัดพิจารณาตามมาตรา 40 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ไม่มาศาลในวันสืบพยานแต่ศาลแรงงานกลางก็มิได้มีคำสั่งแสดงว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาแต่อย่างใดอีก หากแต่มีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาว่าโจทก์ไม่มีพยานนำเข้าสืบ และสั่งงดสืบพยานจำเลย แล้ววินิจฉัยว่าการที่โจทก์ฟ้องเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ โดยไม่มีพยานมานำสืบตามข้อกล่าวอ้างจึงรับฟังไม่ได้ และพิพากษายกฟ้องเช่นนี้ศาลฎีกาเห็นว่ากระบวนพิจารณาที่ศาลแรงงานกลางดำเนินคดีมาแล้วนั้นมิใช่เป็นการพิจารณาโดยขาดนัดอันจะเป็นเหตุให้คู่ความร้องขอให้มีการพิจารณาใหม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 207 เพราะศาลแรงงานกลางมิได้สั่งแสดงว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาและมีคำพิพากษาให้แพ้คดีในประเด็นที่พิพาท อีกทั้งคู่ความที่จะขอให้มีการพิจารณาใหม่จะต้องเป็นฝ่ายซึ่งศาลสั่งแสดงว่าขาดนัดพิจารณาเป็นประการสำคัญ ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะร้องขอให้พิจารณาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 207 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31″
พิพากษายืน