แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์มิได้หยิบยกเหตุผลในการตัดสินมาหักล้างกับเหตุผลที่โจทก์ยกขึ้นกล่าวอ้างไว้ในอุทธรณ์นั้นตรง ๆ แต่ศาลอุทธรณ์ได้แสดงเหตุผลในการตัดสินโต้แย้งอุทธรณ์ของโจทก์ไว้โดยอ้อมแล้วว่า ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจในการลงโทษจำเลยเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น อันหมายถึงว่าเหตุผลตามอุทธรณ์ของโจทก์นั้นสู้เหตุผลที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยตามพฤติการณ์แห่งคดีโดยรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยไม่ได้ จึงไม่มีเหตุที่ศาลอุทธรณ์จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขดุลพินิจของศาลชั้นต้นที่รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยดังนี้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้แสดงเหตุผลในการตัดสินใจในปัญหาข้อเท็จจริงไว้แล้วจึงเป็นการชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186(6)ประกอบมาตรา 215
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน81-1964 กาญจนบุรี ลากจูงรถกึ่งพ่วงหมายเลขทะเบียน 81-1965กาญจนบุรี บรรทุกถ่านหินลิกไนต์ ซึ่งมีน้ำหนักบรรทุกเกินกว่าอัตราที่กำหนดไป 7,980 กิโลกรัมไปตามทางหลวงแผ่นดิน และอาจทำความเสียหายแก่ทางหลวงได้อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 มาตรา 61, 73
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 มาตรา 61, 73 จำคุก 3 เดือน และปรับ 6,000บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุก 1 เดือน 15 วัน และปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษ โดยอัยการพิเศษประจำเขต 6 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาในข้อกฎหมายว่า คำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงเป็นเหตุที่สมควรเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นไม่รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยไว้ว่า จำเลยฝ่าฝืนกฎหมายโดยบรรทุกน้ำหนักเกินไปถึง7,980 กิโลกรัม มีส่วนทำให้ถนนชำรุดสมควรได้รับโทษจำคุกเพื่อให้เข็ดหลาบไม่กล้ากระทำผิดอีก การรอการลงโทษจำคุกโดยปรับสถานเดียวไม่ทำให้จำเลยเกรงกลัว ทั้งยังเป็นตัวอย่างแก่ผู้กระทำผิดทำนองนี้รายอื่น แต่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 มิได้มีเหตุผลระบุไว้ในคำพิพากษาในปัญหาข้อเท็จจริงที่ควรเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นตามคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ อันเป็นข้อสำคัญซึ่งกฎหมายบังคับไว้ให้ต้องมีในคำพิพากษา ดังนั้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 215, 186(6) นั้น เห็นว่า แม้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2จะมิได้หยิบยกเหตุผลในการตัดสินมาหักล้างกับเหตุผลที่โจทก์ยกขึ้นกล่าวอ้างไว้นั้นตรง ๆ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้แสดงเหตุผลในการตัดสินโต้แย้งคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ไว้โดยอ้อมแล้วว่า ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจในการลงโทษจำเลยเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น อันหมายถึงว่าเหตุผลตามคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์นั้นสู้เหตุผลที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยตามพฤติการณ์แห่งคดีโดยรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยไม่ได้จึงไม่มีเหตุที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขดุลพินิจของศาลชั้นต้นที่รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลย ดังนี้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้แสดงเหตุผลในการตัดสินในปัญหาข้อเท็จจริงไว้แล้ว จึงเป็นการชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 186(6) ประกอบมาตรา 215 ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่3052/2531 คดีระหว่างนายดิเรก คงบันดาลสุข โจทก์นางเปรมจิตร์ แซ่เต็ง จำเลย ฎีกาโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน