คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4817/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้เสียหายที่มีสิทธิฟ้องคดีอาญาต้องเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) หรือต้องเป็นผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนกับรถยนต์ที่โจทก์ขับ ทำให้โจทก์ได้รับอันตรายสาหัส และบุคคลอื่นหลายคนซึ่งโดยสารมาในรถยนต์ที่โจทก์ขับถึงแก่ความตาย ได้รับอันตรายสาหัส และได้รับอันตรายแก่กาย และขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291,300 และ 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบกฯมาตรา 43(4) และ 157 เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เสียหายอื่นที่เป็นผู้เยาว์ หรือเป็นผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือสามีผู้เสียหายอื่นซึ่งถึงแก่ความตาย หรือได้รับอันตรายสาหัส หรือได้รับอันตรายแก่กาย โจทก์จึงไม่ใช่ผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายเหล่านั้น ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291,300 และ 390 ซึ่งบุคคลอื่นเป็นผู้เสียหาย และโดยที่โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ เพราะความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นความผิดต่อรัฐ โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรฯ ด้วย
คดีที่ต้องห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ชอบที่จะพิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 รับอุทธรณ์ของโจทก์และพิพากษามานั้นเป็นการไม่ชอบ เมื่อโจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับที่โจทก์อุทธรณ์อีก จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 แม้โจทก์จะยื่นฎีกาโดยมีผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาก็ตาม แต่การอนุญาตดังกล่าวไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ซึ่งผู้พิพากษาดังกล่าวจะอนุญาตให้ฎีกาได้เฉพาะในคดีซึ่งห้ามฎีกาไว้โดยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218,219 และ 220 เท่านั้น มิได้ให้ผู้พิพากษานั้นอนุญาตให้ฎีกาในกรณีดังกล่าวได้ โจทก์ย่อมไม่อาจฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์มานั้นจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงและพิพากษามานั้น เป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อันว่าด้วยอุทธรณ์ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4), 157

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วเห็นว่า คดีนี้ไม่ปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เสียหายอื่นที่เป็นผู้เยาว์หรือเป็นผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือสามีผู้เสียหายอื่นซึ่งถึงแก่ความตาย หรือได้รับอันตรายสาหัส หรือได้รับอันตรายแก่กายดังกล่าว โจทก์จึงไม่ใช่ผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายเหล่านั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 5 (1) และ (2) โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300 และ 390 ซึ่งบุคคลอื่นเป็นผู้เสียหาย และโดยที่โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4) และ 157 เพราะความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวเป็นความผิดต่อรัฐ โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดตามมาตรา 43(4) และ 157 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย ศาลชั้นต้นชอบที่จะพิพากษายกฟ้อง โจทก์สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 และ 390 และพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 43(4) และ 157 ดังนั้นเมื่อศาลชั้นต้นได้ไต่สวนมูลฟ้องแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์มีส่วนขับรถยนต์โดยประมาท โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง โดยที่โจทก์เป็นผู้เสียหายเฉพาะในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 และความผิดฐานดังกล่าวกฎหมายบัญญัติให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โจทก์จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ เมื่อโจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าเหตุรถยนต์ชนกันในคดีนี้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยแต่ฝ่ายเดียว โจทก์ไม่ได้มีส่วนประมาท อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นอุทธรณ์โต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นอันเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ชอบที่จะพิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 รับอุทธรณ์ของโจทก์และพิพากษามานั้นจึงเป็นการไม่ชอบ เมื่อโจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับที่โจทก์อุทธรณ์อีก จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้ว โดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 แม้โจทก์จะยื่นฎีกาโดยมีผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาก็ตาม แต่การอนุญาตให้ฎีกาดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ซึ่งผู้พิพากษาดังกล่าวจะอนุญาตให้ฎีกาได้เฉพาะในคดีซึ่งห้ามฎีกาไว้โดยมาตรา 218, 219 และ 220 เท่านั้น มิได้ให้ผู้พิพากษานั้นอนุญาตให้ฎีกาในกรณีดังกล่าวได้ โจทก์ย่อมไม่อาจฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงนั้นได้ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์มานั้นจึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

อนึ่งที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงและพิพากษามาโดยมิได้พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์นั้น เป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอันว่าด้วยอุทธรณ์ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 และ 390 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล

พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้ยกฎีกาโจทก์ และคงให้ยกฟ้องตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share