คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4804/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

กรณีชุลมุน ต่อสู้กันระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และมีบุคคลถึงตาย ตาม ป.อ. มาตรา 294 หมายถึงกรณีที่ไม่ทราบว่าผู้ใดหรือผู้ใดร่วมกับใครได้ทำร้ายผู้ตายถึงตาย มิใช่กรณีที่ฝ่ายหนึ่งกลุ้มรุมกันทำร้ายผู้ตายถึงตาย ซึ่งฝ่ายนั้นต้องรับผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้ตายโดยเจตนา.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 83, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 72 ริบกระสุนปืนของกลาง
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 3 รับสารภาพข้อหามีเครื่องกระสุนปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 83 จำคุกคนละ 20 ปี จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ13 ปี 4 เดือน และจำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯมาตรา 7, 72 ที่แก้ไขแล้ว อีกกระทงหนึ่ง ปรับ 600 บาท จำเลยที่ 3รับสารภาพในข้อหานี้ทั้งในชั้นสอบสวนและพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงปรับ 600 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 13 ปี 4 เดือน และปรับ300 บาท หากจำเลยที่ 3 ไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบกระสุนปืนของกลาง
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่3 และที่ 4 ในข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา288 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ร่วมกันฆ่านายมานิตย์ จักขุมณี ผู้ตายโดยเจตนา อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 83 และจำเลยที่ 3 มีกระสุนปืนลูกซองขนาด 12 จำนวน 1 นัด ไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 72 คงมีปัญหาขึ้นมาสู่ศาลฎีกาว่า จำเลยที่ 3และที่ 4 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ฆ่านายมานิตย์ ผู้ตายตามฟ้องของโจทก์หรือไม่ ข้อนี้โจทก์มีนายมะหลิก ทองสวาสดิ์และนายมนูญ พงศ์ยี่หล้า มาเป็นพยานเบิกความยืนยันตรงคำกันว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 เดินเข้าไปหาผู้ตายแล้วใช้มีดฟัน หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ได้ใช้เก้าอี้และไม้รุมตีผู้ตายกับพยาน นอกจากนี้โจทก์ยังมีพันตำรวจโทประยุทธ รักประทุมพนักงานสอบสวนคดีนี้มาเป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า พยานได้ดำเนินการสอบสวนจำเลยทั้งสี่ จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพว่า ร่วมกันทำร้ายผู้ตาย และจำเลยที่ 3 รับสารภาพว่ามีกระสุนปืน 1 นัดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต พยานได้ทำบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนไว้ตามเอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.11 และพยานได้นำตัวจำเลยทั้งสี่ไปชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพและถ่ายภาพประกอบไว้ด้วยปรากฏตามบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพเอกสารหมาย จ.12 และภาพถ่ายการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพเอกสารหมาย จ.13 ถึง จ.19 เห็นว่า ขณะเกิดเหตุนายมะหลิกและนายมนูญประจักษ์พยานโจทก์ทั้งสองกำลังนั่งดื่มสุรากับผู้ตายอยู่ที่โต๊ะซึ่งอยู่ห่างจากโต๊ะของจำเลยที่ 3 ที่ 4 กับพวกประมาณ4 เมตร มีแสงไฟฟ้านีออนภายในร้านที่เกิดเหตุและไฟฟ้าจากข้างถนนสามารถมองเห็นกันได้ชัดเจนนายมะหลิกและนายมนูญไม่เคยรู้จักและไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 3 ที่ 4 มาก่อน จึงไม่มีเหตุชวนให้ระแวงสงสัยว่ากลั่นแกล้งปรักปรำจำเลยที่ 3 ที่ 4 แม้นายอดิศักดิ์ทองรัตน์ ประจักษ์พยานโจทก์อีกปากหนึ่งไม่ได้เบิกความพาดพิงถึงจำเลยที่ 3 ที่ 4 ก็ไม่ทำให้คำเบิกความของนายมะหลิกและนายมนูญมีน้ำหนักน้อยแต่อย่างใด เชื่อว่านายมะหลิกและนายมนูญต่างก็เบิกความไปตามที่รู้เห็นจริง และในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 3 ที่ 4 ก็ให้การรับสารภาพว่าร่วมกันทำร้ายผู้ตาย พยานโจทก์จึงมีน้ำหนักและหลักฐานประกอบกันมั่นคง พยานจำเลยที่ 3 ที่ 4 ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้ สาเหตุที่จำเลยที่ 3 ที่ 4 เข้าร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2ทำร้ายผู้ตายกับพวกนั้น คงเนื่องมาจากความมึนเมาสุราแล้วมีการพูดจากระทบกระทั่งกัน เมื่อจำเลยที่ 2 เดินเข้าไปใช้มีดฟันผู้ตายแล้ว ในขณะเดียวกันนั้นเองจำเลยที่ 3 ที่ 4 ก็ตามเข้าไปใช้เก้าอี้และไม้รุมตีผู้ตายกับพวกอย่างรวดเร็วจนไม่อาจที่จะแยกแยะได้ว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4 ตีถูกผู้ตายตรงที่ใดบ้าง เหตุที่เกิดขึ้นมิใช่เป็นเรื่องวิวาททำร้ายร่างกายซึ่งกันและกันระหว่างผู้ตายกับพวกและจำเลยที่ 3 ที่ 4 กับพวกแต่อย่างใด พฤิตการณ์เช่นนี้ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3 ที่ 4 กับพวกได้เข้ากลุ้มรุมกันทำร้ายผู้ตายกับพวก เป็นเหตุให้ผู้ตายถูกทำร้ายถึงแก่ความตาย แม้จะปรากฏว่าพวกของจำเลยที่ 3 ที่ 4 ได้ใช้มีดแทงผู้ตายและผู้ตายได้ถึงแก่ความตายเพราะแผลที่ถูกแทง โดยจำเลยที่ 3 ที่ 4 ไม่ได้ใช้มีดแทงผู้ตายด้วย จำเลยที่ 3 ที่ 4 ก็ร้องรับผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้ตายโดยเจตนา ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยที่ 3ที่ 4 เป็นความผิดฐานร่วมชุลมุลต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปและเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตายนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา เพราะกรณีชุลมุนต่อสู้กันระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปและมีบุคคลถึงตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 294 นั้นหมายถึงกรณีที่ไม่ทราบว่าผู้ใดหรือผู้ใดร่วมกับใครได้ทำร้ายผู้ตายถึงตาย หากเป็นกรณีที่ฝ่ายหนึ่งกลุ้มรุมกันทำร้ายผู้ตายถึงตายเช่นข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีนี้ ฝ่ายนั้นต้องรับผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้ตายโดยเจตนา ดังนี้ จำเลยที่ 3 ที่ 4 จึงมีความผิดฐานร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ฆ่าผู้ตายโดยเจตนา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 3 ที่ 4 ในข้อหาฆ่าผู้อื่นนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ที่ 4 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share