คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4800/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายว่า จำเลยทั้งสองได้จ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างสร้างสถานีอนามัยและบ้านพักสถานีอนามัย โดยได้ระบุวันที่อ้างว่าจำเลยจ้างโจทก์ และระบุประเภท ตำแหน่ง อัตราค่าจ้างกำหนดวันจ่ายค่าจ้างไว้ด้วย รวมทั้งจำเลยทั้งสองค้างค่าจ้างโจทก์เป็นจำนวนเงินเท่าใด และเมื่อโจทก์ทวงถาม จำเลยทั้งสองปฏิเสธไม่ยอมจ่ายให้ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายค่าจ้างค้างแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย อันเป็นคำฟ้องที่ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองแล้วคำฟ้องโจทก์ จึงไม่เคลือบคลุม ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 7เป็นบทบังคับในกรณีที่ผู้รับเหมาช่วงเป็นนายจ้างของลูกจ้างแต่ผู้รับเหมาชั้นต้นซึ่งมิได้เป็นนายจ้างของลูกจ้างด้วยก็ยังคงมีหน้าที่ต้องรับผิดในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมกับผู้รับเหมาช่วงที่เป็นนายจ้างของลูกจ้างในหนี้เงินบางประเภทดังที่กำหนดไว้เท่านั้น กรณีมิได้หมายความว่า ผู้รับเหมาชั้นต้นมีฐานะเป็นนายจ้างของลูกจ้างไปด้วย สภาพของการเป็นนายจ้าง ก็ดี หรือลูกจ้างก็ดี เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาตาม ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2 หากโจทก์ประสงค์จะขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้รับผิดในฐานะเป็นผู้รับเหมาชั้นต้นซึ่งมิได้เป็นนายจ้างของโจทก์ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ข้อ 7 แล้ว ก็ชอบที่จะต้องบรรยายฟ้องให้ปรากฏข้อเท็จจริงถึงฐานะของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ตรงกับบทกฎหมาย ดังกล่าวให้แจ้งชัด เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่ศาลแรงงานฟังมาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้รับเหมาชั้นต้นโดยมีโจทก์ที่ 1เป็นผู้รับเหมาช่วง ส่วนโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 15 เป็นลูกจ้างของโจทก์ที่ 1 มิใช่เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 15 ตามประกาศของ คณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 7 การที่ศาลแรงงานวินิจฉัยให้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องร่วมรับผิดในฐานะเป็นผู้รับเหมาชั้นต้นจึงเป็นเรื่องนอกเหนือคำฟ้อง โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 15 และคำให้การของ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบ และศาลฎีกาให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 15แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 15 จะนำคำฟ้อง มายื่นใหม่ภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยอายุความ

ย่อยาว

คดีทั้งสิบสี่สำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันกับสำนวนคดีหมายเลขดำที่ 15524/2540 ของศาลแรงงานกลางโดยเรียกโจทก์สำนวนคดีดังกล่าวว่า โจทก์ที่ 1และเรียกโจทก์ทั้งสิบสี่สำนวนนี้ต่อไปตามลำดับว่า โจทก์ที่ 2ถึงโจทก์ที่ 15 แต่คู่ความในสำนวนคดีดังกล่าวไม่อุทธรณ์คดีคงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะคดีทั้งสิบสี่สำนวนนี้เท่านั้น
โจทก์ทั้งสิบห้าสำนวนฟ้องใจความว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด โดยจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการมีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2540จำเลยทั้งสองจ้างโจทก์ทั้งสิบห้าเข้าทำงานเป็นลูกจ้างก่อสร้างอาคารและบ้านพักสถานีอนามัย ตำบลท่าม่วง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลาได้รับค่าจ้างเป็นรายวันจำเลยทั้งสองค้างค่าจ้างโจทก์แต่ละคนตามคำขอท้ายฟ้องแต่ละสำนวน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ทั้งสิบห้าตามคำขอท้ายฟ้องแต่ละสำนวนพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองทั้งสิบห้าสำนวนให้การว่า โจทก์ทั้งสิบห้าไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากเมื่อเดือนพฤษภาคม 2540 จำเลยทั้งสองจ้างโจทก์ที่ 1 ก่อสร้างบ้านพักสถานีอนามัยตำบลคูเต่าอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตกลงค่าจ้างรวมอุปกรณ์ก่อสร้างเป็นเงิน 330,000 บาท กำหนดก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน เดือนกรกฎาคม 2540 จำเลยทั้งสองจ้างโจทก์ที่ 1 ทำการก่อสร้างอาคารบ้านพักสถานีอนามัย ตำบลท่าม่วงอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา โดยตกลงค่าจ้างรวมอุปกรณ์ก่อสร้างเป็นเงิน 300,000 บาท กำหนดก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันต่อมาเดือนกันยายน 2540 จำเลยทั้งสองจ้างโจทก์ที่ 1 ทำการก่อสร้างอาคารสถานีอนามัยตำบลท่าม่วง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลาตกลงค่าจ้างรวมอุปกรณ์ก่อสร้างเป็นเงิน 1,160,000 บาท กำหนดเวลาก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 360 วัน การจ่ายค่าจ้างกำหนดจ่ายให้โจทก์ที่ 1 เป็นงวด ๆ ตามเปอร์เซ็นต์ของงานที่ก่อสร้างเสร็จโจทก์ที่ 1 นำคนงานไปทำการก่อสร้างเอง โจทก์ทั้งสิบห้าไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยทั้งสอง สัญญาจ้างระหว่างจำเลยทั้งสองกับโจทก์ที่ 1 เป็นสัญญาจ้างทำของ โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 15เป็นลูกจ้างของโจทก์ที่ 1 จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าจ่าย ค้างจ่ายตามฟ้องและคำฟ้องของโจทก์ทั้งสิบห้าดังกล่าวมิได้บรรยายให้แจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อกล่าวหาที่โจทก์ทั้งสิบห้าอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าเข้ามาเป็นลูกจ้างตั้งแต่เมื่อใดและเป็นลูกจ้างประเภทไหน ทำให้จำเลยทั้งสองไม่สามารถเข้าใจข้อหาได้ดี จึงเป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2เป็นผู้รับเหมาชั้นต้น โจทก์ที่ 1 เป็นผู้รับเหมาช่วง โจทก์ที่ 2ถึงที่ 15 เป็นลูกจ้างของโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 ค้างชำระค่าจ้างแก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 15 ตามจำนวนที่ระบุไว้ในแต่ละสำนวนจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดชำระเงินค่าจ้างแก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 15 ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 7พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ที่ 2ถึงที่ 15 เป็นเงิน 7,005 บาท 7,050 บาท 4,500 บาท 3,600 บาท6,650 บาท 14,527 บาท 4,720 บาท 7,565 บาท 8,910 บาท1,870 บาท 10,720 บาท 6,975 บาท 4,800 บาท และ2,860 บาท ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องสำหรับโจทก์ที่ 1
จำเลยทั้งสองทั้งสิบสี่สำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ในประการแรกว่า คำฟ้องโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 15 เคลือบคลุมเพราะมิได้บรรยายให้ชัดแจ้งว่าจำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2ถึงที่ 15 ในฐานะอะไร และโจทก์ดังกล่าวกับจำเลยมีนิติสัมพันธ์กันอย่างไร จึงขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172นั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 15 ได้บรรยายว่า เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2540 จำเลยทั้งสองได้จ้างโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 15ทำงานเป็นลูกจ้างสร้างสถานีอนามัยและบ้านพักสถานีอนามัยตำบลท่าม่วง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา โดยได้ระบุวันที่อ้างว่าจำเลยจ้างโจทก์ และระบุประเภท ตำแหน่ง อัตราค่าจ้างกำหนดวันจ่ายค่าจ้างไว้ด้วย รวมทั้งจำเลยทั้งสองค้างค่าจ้างโจทก์ที่ 2ถึงที่ 15 แต่ละคนเป็นจำนวนเงินเท่าใด และเมื่อโจทก์ที่ 2ถึงที่ 15 ทวงถามจำเลยทั้งสองปฏิเสธไม่ยอมจ่ายให้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายค่าจ้างค้างแก่โจทก์แต่ละคนพร้อมดอกเบี้ย อันเป็นคำฟ้องที่ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองแล้วคำฟ้องโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 15 จึงไม่เคลือบคลุม
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์อีกประการหนึ่งว่า โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 15มิได้ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรับผิดต่อโจทก์ทั้งสิบสี่ดังกล่าวในฐานะผู้รับเหมาชั้นต้นซึ่งไม่ได้เป็นนายจ้างของโจทก์ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 7 คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางที่ให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้รับเหมาชั้นต้นต้องรับผิดชดใช้ค่าจ้างแก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 15 ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 7จึงเป็นการวินิจฉัยนอกเหนือไปจากคำฟ้องและคำให้การ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 52 นั้นเห็นว่า ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 7 ที่กำหนดว่าในกรณีที่นายจ้างเป็นผู้รับเหมาช่วง ให้ผู้รับเหมาช่วงถัดขึ้นไปตลอดสายจนถึงผู้รับเหมาชั้นต้นร่วมรับผิดกับผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างในเรื่องค่าจ้าง ค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดซึ่งต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างด้วยนั้นก็เป็นบทบังคับในกรณีที่ผู้รับเหมาช่วงเป็นนายจ้างของลูกจ้าง แต่ผู้รับเหมาชั้นต้นซึ่งมิได้เป็นนายจ้างของลูกจ้างด้วยก็ยังคงมีหน้าที่ต้องรับผิดในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมกับผู้รับเหมาช่วงที่เป็นนายจ้างของลูกจ้างในหนี้เงินบางประเภทดังที่กำหนดไว้เท่านั้นกรณีมิได้หมายความว่าผู้รับเหมาชั้นต้นมีฐานะเป็นนายจ้างของลูกจ้างไปด้วย สภาพของการเป็นนายจ้างก็ดีหรือลูกจ้างก็ดี เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2หากโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 15 ประสงค์จะขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้รับผิดในฐานะเป็นผู้รับเหมาชั้นต้นซึ่งมิได้เป็นนายจ้างของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 15 ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 7 แล้วก็ชอบที่จะต้องบรรยายฟ้องให้ปรากฏข้อเท็จจริงถึงฐานะของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ตรงกับบทกฎหมายดังกล่าวให้แจ้งชัดเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่ศาลแรงงานกลางฟังมาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้รับเหมาชั้นต้นโจทก์ที่ 1 เป็นผู้รับเหมาช่วง โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 15 เป็นลูกจ้างของโจทก์ที่ 1 มิใช่เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 15 ตามฟ้อง คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางที่ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องร่วมรับผิดในฐานะเป็นผู้รับเหมาชั้นต้นจึงเป็นเรื่องนอกเหนือคำฟ้องโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 15 และคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 15 เสียด้วยแต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 15 จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยอายุความ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share