คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 480/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การจ้างว่าความไม่ใช่เป็นสัญญาจ้างแรงงานแต่เป็นสัญญาจ้างทำของ
สิทธิเรียกร้องที่หมอความหรือทนายความจะเรียกเอาค่าธรรมเนียมและค่าที่ได้ออกทดรองไป มีกำหนดอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(15)
จำเลยให้การเพียงว่า ‘คดีของโจทก์ขาดอายุความ’ ถือว่าจำเลยได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้แล้วไม่จำเป็นที่จำเลยจะต้องกล่าวให้แจ้งชัดในคำให้การว่ากำหนดอายุความให้เริ่มต้นนับตั้งแต่เมื่อใด
การเป็นทนายความว่าความให้จำเลยตลอดทั้งสามศาลตามธรรมดา ถ้าไม่ได้ตกลงกันไว้ให้ทนายความเป็นผู้ดำเนินการในการบังคับคดีด้วยแล้วหน้าที่ของทนายก็จะต้องสิ้นสุดลงในเมื่อมีคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดและต้องถือว่าตัวความได้รับมอบการที่ทำของทนายความในเมื่อได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดนั้น เมื่อคำพิพากษาถึงที่สุดชั้นฎีกากำหนดอายุความเรียกร้องสินจ้างของทนายความก็ย่อมเริ่มนับแต่วันศาลฎีกาพิพากษา
จำเลยหลายคนเป็นลูกหนี้ร่วมกันต่อโจทก์ แต่จำเลยคนหนึ่งแต่ผู้เดียวเป็นผู้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ ศาลจะนำการยกอายุความขึ้นต่อสู้ของจำเลยผู้นั้นมาเป็นมูลยกฟ้องคดีสำหรับจำเลยอื่นที่ไม่ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ตกลงให้โจทก์เป็นทนายว่าคดีให้จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของพระยาวิสูตรสาครดิษฐ์ ตามคดีแดงที่ 18/2496, 452/2495, 256/2495 ตกลงค่าจ้างกันเป็นรายคดีและให้โจทก์ทดรองค่าธรรมเนียมและค่ากระดาษแบบฟอร์มไปพลางก่อนจำเลยที่ 1 ได้จ่ายเงินให้โจทก์ 2 คราว 82,000 บาท ยังคงค้างอีก 109,118.20 บาท คดีถึงที่สุด โจทก์ได้ทวงถาม จำเลยทั้งสามเพิกเฉยขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดในจำนวนค่าธรรมเนียม ค่าบำเหน็จดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ย

จำเลยที่ 1 รับว่า ได้มอบหมายให้โจทก์ว่าความจริง ชำระค่าจ้างไป 82,000 บาท ยังคงค้างอยู่ตามฟ้อง แต่แก้ว่าเพราะจำเลยที่ 3 บิดพลิ้วไม่ช่วยเหลือ จำเลยที่ 1 ไม่ได้บิดพลิ้ว โจทก์ด่วนมาฟ้อง จำเลยไม่ต้องรับผิดค่าฤชาธรรมเนียมและดอกเบี้ย จำเลยที่ 1 ชำระเกินส่วนที่จำเลยที่ 1 จะต้องจ่ายให้โจทก์ โจทก์ควรเรียกเอากับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 รับว่า ได้มอบหมายให้โจทก์ว่าความจริง จำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าบำเหน็จไปบ้างแล้ว จำเลยไม่ได้บิดพลิ้ว ขณะนี้ยังแบ่งมรดกไม่เสร็จ แบ่งเสร็จเมื่อใดก็จะร่วมกันชำระให้โจทก์ตามข้อตกลง โจทก์ด่วนมาฟ้อง จำเลยไม่ต้องรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมและดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 3 รับว่า ได้จ้างโจทก์ต่อสู้คดีและฟ้องคดี ตกลงค่าจ้างเป็นเงิน 20,000 บาท ไม่ได้คิดเป็นรายคดี ถ้าคดีถึงที่สุดจะแบ่งเงินก้อนหนึ่งให้เป็นบำเหน็จ ถ้าคดีแพ้ก็จะไม่คิดให้ จำเลยที่ 1 ไม่ได้จ่ายเงินให้ตามฟ้อง จำเลยที่ 3 ได้ถอนโจทก์จากเป็นทนายแล้วโจทก์ยังได้มีหนังสือถึงจำเลยที่ 3 เรียกร้องค่าจ้างว่าความแต่โจทก์หาได้ฟ้องภายในเวลา 2 ปีไม่ คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ทำแทนจำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงต้องรับผิดร่วมกันแม้จำเลยที่ 3 จะถอนทนายก็หาพ้นจากความรับผิดไม่ จำเลยยังคงค้างค่าจ้างตามที่โจทก์ฟ้อง การจ้างว่าความเป็นการจ้างทำของ อายุความฟ้องร้องมีกำหนด 2 ปี บำเหน็จคดีแดงที่ 18/2496 ยังไม่ขาดอายุความ บำเหน็จคดีแดงที่ 456/2495 และที่ 256/2495 โจทก์ฟ้องเกิน 2 ปี ขาดอายุความ พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดเป็นเงิน 80,394.20 บาท กับดอกเบี้ย

จำเลยที่ 3 และโจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ เป็นว่า จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดในค่าบำเหน็จค่าจ้างในคดีแดงที่ 18/2496 เพราะขาดอายุความแล้ว และให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันรับผิดในเงินค่าธรรมเนียมบำเหน็จอีก 66 บาท ต่อโจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกาว่า 1. การจ้างว่าความไม่ใช่เป็นสัญญาจ้างทำของหากเป็นสัญญาจ้างแรงงาน จะใช้อายุความ 2 ปีไม่ได้

2. จำเลยไม่ได้กล่าวให้ชัดแจ้งในคำให้การว่า กำหนดอายุความให้เริ่มต้นนับตั้งแต่เมื่อใด จำเลยที่ 3 ให้การห้วน ๆ ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177

3. ศาลนับเอาเวลาอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นเวลาเริ่มนับอายุความ ไม่ถูกต้อง

4. การที่จำเลยที่ 3 ยกอายุความขึ้นต่อสู้ ไม่ควรให้มีผลเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ด้วย

ฎีกาโจทก์ข้อ 1 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สัญญาจ้างแรงงานนั้น เป็นเรื่องที่นายจ้างต้องการแรงงานเป็นสิ่งตอบแทน และใช้สินจ้างกันตามระยะเวลาที่ทำงานให้ ทั้งลูกจ้างจะต้องอยู่ในบังคับบัญชาของนายจ้าง นายจ้างย่อมเป็นผู้สั่งการให้ทำงาน ส่วนสัญญาจ้างทำของนั้น เป็นสัญญาที่ต้องการตอบแทนด้วยผลสำเร็จในงานอย่างใดอย่างหนึ่ง และไม่มีบทบัญญัติที่ให้ผู้ว่าจ้างเข้าบังคับบัญชาการงานของผู้รับจ้าง เมื่อผู้ว่าจ้างไม่พอใจในการกระทำของผู้รับจ้างอันไม่ชอบ ผู้ว่าจ้างจะกระทำได้แต่เพียงเลิกสัญญา ไม่ใช่ไล่ออก สัญญาจ้างโจทก์ให้ว่าความในกรณีนี้เป็นที่เห็นได้ว่าเป็นการจ้างให้โจทก์ใช้ความรู้ความสามารถของโจทก์ว่าความในคดีความทั้ง 3 นั้น ตลอดจนสำเร็จการว่าความแต่ศาลชั้นต้นถึงศาลฎีกาทั้งสามศาล วัตถุประสงค์ของการจ้างจึงอยู่ที่ผลสำเร็จแห่งการงาน คือ การว่าความในคดีให้ตลอดทั้งสามคดีแต่ละคดี ไม่ใช่เป็นการจ้างโดยต้องการแรงงานและให้สินจ้างตามระยะเวลาที่ทำการงานให้เพื่อแลกเปลี่ยนกับแรงงานสัญญาจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จึงไม่จำต้องมีการส่งมอบของที่ทำตามที่โจทก์ฎีกากล่าวอ้าง กรณีของโจทก์จึงไม่ต่างกับการรับจ้างตัดผมซึ่งถือเอาผลสำเร็จของการตัดผมเป็นหัว ๆ ไป โดยไม่ได้ตกลงกันให้สินจ้างตามระยะเวลาที่ทำการตัดฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น (อ้างฎีกาที่ 173/2488) อย่างไรก็ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 ก็ได้บัญญัติกำหนดอายุความสำหรับสิทธิเรียกร้องที่หมอความหรือทนายความจะเรียกเอาค่าธรรมเนียมและค่าที่ได้ออกทดรองไปให้มีกำหนดอายุความเพียงสองปีตาม (15) โดยตรงอยู่แล้ว สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงต้องมีกำหนดอายุความ 2 ปี

ฎีกาโจทก์ข้อ 2 ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193 ได้บัญญัติไว้ว่า “เมื่อไม่ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ท่านว่าศาลจะอ้างเอาอายุความมาเป็นมูลยกฟ้องไม่ได้” คดีนี้จำเลยที่ 3 ได้ยกเอาอายุความขึ้นต่อสู้แล้ว ส่วนสิทธิเรียกร้องของโจทก์เกิดมีขึ้นเมื่อใด และยังคงมีอยู่ในเวลาฟ้องหรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงที่คู่ความจะต้องนำสืบให้ปรากฏต่อศาล ฯลฯ ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ฎีกาโจทก์ข้อ 3 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 169 ได้บัญญัติว่า “อันอายุความนั้น ท่านให้นับเริ่มแต่ขณะที่จะอาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ฯลฯ”และมาตรา 602 ได้บัญญัติว่า “อันสินจ้างนั้นพึงใช้ให้เมื่อรับมอบการที่ทำ ฯลฯ” การที่ทำในกรณีนี้ก็คือ การเป็นทนายความว่าความให้จำเลยตลอดทั้งสามศาล ตามธรรมดาถ้าไม่ตกลงกันไว้ให้ทนายความเป็นผู้ดำเนินการในการบังคับคดีด้วยแล้ว หน้าที่ของทนายก็จะต้องสิ้นสุดในเมื่อมีคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด กรณีต้องถือว่าตัวความได้รับมอบการที่ทำของทนายความในเมื่อได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ชี้ขาดว่ากำหนดอายุความของโจทก์เริ่มนับแต่วันศาลฎีกาพิพากษานั้น จึงเป็นการชอบแล้ว ฯลฯ

ฎีกาโจทก์ข้อ 4 คงมีความหมายให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิดสำหรับค่าธรรมเนียมและค่าที่ได้ออกทดรองไปสำหรับคดีแดงที่ 456/2495 และคดีแดงที่ 256/2495 เพราะคดีแดงที่ 18/2496 ศาลได้พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2ต้องรับผิดอยู่แล้ว ฯลฯ ศาลฎีกาเห็นว่า หนี้ 2 รายนี้เกิดขึ้นเพราะจำเลยทั้งสามร่วมกันว่าจ้างโจทก์ให้เป็นทนายความว่าความให้จำเลยร่วมกันในคดีดังกล่าวนั้น จำเลยทั้งสามต้องรับผิดต่อโจทก์โดยร่วมกันและแทนกันต้องด้วยลักษณะเป็นลูกหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 295 แห่งประมวลกฎหมายนั้นได้บัญญัติไว้ว่า “ข้อความจริงอื่นใดนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 292 ถึง 294 นั้นเมื่อเป็นเรื่องท้าวถึงตัวลูกหนี้ร่วมกันคนใด ก็ย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษแต่เฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้นเว้นแต่จะปรากฏว่าขัดกับสภาพแห่งหนี้นั้นเอง ความที่ว่ามานี้ เมื่อจะกล่าวโดยเฉพาะก็คือว่าให้ใช้แก่คำบอกกล่าว การผิดนัด การหยิบยกอ้างความผิด การชำระหนี้อันเป็นพ้นวิสัยแก่ฝ่ายลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่ง กำหนดอายุความ หรือการที่อายุความสะดุดหยุดลงและการที่สิทธิเรียกร้องเกลื่อนกลืนกันไปกับหนี้สิน” ดังนี้จะเห็นได้ว่า ในเรื่องอายุความ กฎหมายต้องการให้เป็นกรณีสำหรับลูกหนี้คนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะเป็นส่วนตัว มิใช่ให้เป็นคุณและเป็นโทษโดยส่วนรวม ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 292 ถึง 294 นั้น ในคดีเรื่องนี้จำเลยที่ 3 แต่ผู้เดียวเป็นผู้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193 ได้บัญญัติไว้ว่าเมื่อไม่ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ ศาลจะอ้างเอาอายุความมาเป็นมูลยกฟ้องไม่ได้ และเมื่อข้อความจริงนี้ มาตรา 295 บัญญัติให้ท้าวถึงลูกหนี้ร่วมเป็นส่วนตัวเฉพาะคน ศาลฎีกาจึงเห็นว่า ศาลจะนำการยกอายุความขึ้นต่อสู้ของจำเลยที่ 3 มาเป็นมูลยกฟ้องคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ไม่ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้มิได้ มาตรา 59 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น ว่าโดยหลักแล้ว ท่านก็ห้ามมิให้ถือว่าคู่ความร่วมเหล่านั้นแทนซึ่งกันและกัน เมื่อมูลความแห่งคดีนี้เป็นการชำระหนี้ซึ่งมาตรา 295 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติให้แบ่งแยกจากกันดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่อาจได้รับประโยชน์จากคำให้การของจำเลยที่ 3 ได้ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้เงินให้โจทก์รวมทั้งสิ้น 109,118.20 บาท กับดอกเบี้ย นอกจากที่แก้คงยืนตามศาลอุทธรณ์

Share