คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2238/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 และบิดามารดาจำเลยล้วนเป็นคนต่างด้าว ได้ร่วมกันออกเงินซื้อที่ดินพิพาทโดยใส่ชื่อจำเลยถือกรรมสิทธิ์แทน ต่อมาบิดามารดาจำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินร่วมของตนให้แก่โจทก์ที่ 1 ในราคา 19,000 บาท ดังนี้ การแบ่งที่ดินพิพาทบางส่วนให้เป็นของโจทก์ที่ 1 ไม่อาจทำได้ เพราะจะเป็นการบังคับให้โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นคนต่างด้าวได้มาซึ่งที่ดินอันเป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายที่ดิน ศาลชอบที่สั่งให้ขายทอดตลาดที่ดินได้เงินเท่าใดแบ่งให้จำเลยในฐานะทายาท 19,000 บาท เงินส่วนที่เหลือเป็นของโจทก์
เรือนซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ที่ 1 จำเลยได้บอกให้ผู้อื่นรื้อเอาไป การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 แม้โจทก์ที่ 1 จะเป็นคนต่างด้าวไม่อาจมีกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ ก็ชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลย
จำเลยฎีกาว่า หากศาลจะฟังว่าต้องขายทอดตลาดที่ดินพิพาท ก็ชอบที่จะต้องเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งกันตามส่วนที่ออกเงินซื้อ นั้น เมื่อจำเลยมิได้ยกข้อนี้ขึ้นมาเป็นประเด็นในชั้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและเพิ่มเติมฟ้องว่า เดิมโจทก์ที่ ๑ ตกลงซื้อที่ดินมีโฉนดเลขที่ ๓๖๓๘ ๑ แปลง และที่ดินตาม ส.ค.๑ ซึ่งปัจจุบันออกโฉนดแล้วเลขที่ ๙๘๕๔ อีก ๑ แปลงราคา ๒๕,๕๐๐ บาท แต่มีเงินสดเพียง ๖,๕๐๐ บาท จึงยืมเงินบิดามารดาจำเลย ๑๙,๐๐๐ บาท ชำระให้ผู้ขายและเนื่องจากมีเหตุจำเป็นบางประการ โจทก์กับบิดามารดาจำเลยได้ทำสัญญากันว่า โจทก์และบิดามารดาจำเลยได้ออกเงินซื้อที่ดินดังกล่าว โดยให้จำเลยลงชื่อเป็นเจ้าของแทน บิดามารดาจำเลยสัญญาว่าจะขายที่ดินส่วนของตนให้แก่โจทก์เป็นเงิน ๑๙,๐๐๐ บาท ให้โจทก์นำเงินมาชำระและรับโอนที่ดินภายในกำหนด ๘ ปี เมื่อทำสัญญากันแล้วโจทก์ที่ ๑ ได้ปลูกเรือน ๑ หลังในที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๖๓๘ สิ้นเงิน ๔๐,๐๐๐ บาท และใช้สิทธิ์ครอบครองตลอดมา ต่อมาบิดามารดาจำเลยถึงแก่กรรม โจทก์ติดต่อจำเลยในฐานะทายาทผู้รับมรดกเพื่อขอชำระเงินจำนวน ๑๙,๐๐๐ บาท และให้จำเลยโอนที่ดินดังกล่าวกลับคืนให้แก่โจทก์ โดยให้โจทก์ที่ ๒ เป็นผู้รับโอน แต่จำเลยเพิกเฉย ทั้งจำเลยได้ให้ผู้อื่นรื้อเรือนของโจทก์ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทไป ขอศาลบังคับให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้โจทก์ที่ ๑ หรือโจทก์ที่ ๒ พร้อมกับรับเงิน ๑๙,๐๐๐ บาทไปจากโจทก์ ถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย หากโอนกรรมสิทธิ์ไม่ได้ ก็ให้ขายทอดตลาดได้เท่าใดแบ่งให้จำเลยรับไป ๑๙,๐๐๐ บาท ส่วนที่เกินเป็นของโจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายของเรือน ๔๐,๐๐๐ บาท
จำเลยให้การว่า บิดามารดาจำเลยไม่เคยออกเงินร่วมกับโจทก์ในการซื้อที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยแต่ผู้เดียว โจทก์กับพวกสมคบกันทำสัญญาเพื่อผูกมัดจะเอาที่ดินพิพาทเป็นของตนว่าได้ร่วมกับบิดามารดาของจำเลยซื้อที่ดินพิพาทและว่า บิดามารดาจำเลยยอมขายส่วนของตนให้โจทก์ซึ่งไม่เป็นความจริง จำเลยเป็นผู้เยาว์ไม่รู้เรื่อง ได้ลงชื่อให้ไป เมื่อจำเลยบรรลุนิติภาวะก็ได้บอกเลิกสัญญานั้นแล้ว และการซื้อขายขณะจำเลยเป็นผู้เยาว์มิได้รับอนุญาตจากศาล สัญญานั้นเป็นโมฆะ เรือนพิพาทเป็นของจำเลย ซื้อมาพร้อมที่ดิน โจทก์เป็นเพียงผู้อาศัย ภายหลังโจทก์ย้ายไปอยู่ที่อื่น จำเลยจึงให้ผู้อื่นอยู่ในเรือนนั้นต่อมา เรือนหลังนี้ราคาประมาณ ๒๐,๐๐๐ บาท ที่ดินพิพาทราคา ๔๐,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๒ ไม่มีชื่อในสัญญา ไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ ๑ และบิดามารดาจำเลยร่วมกันออกเงินซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลง แต่เนื่องจากบุคคลทั้งสามเป็นคนต่างด้าวมีกรรมสิทธิ์ที่ดินไม่ได้ จึงใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ บิดามารดาจำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินส่วนของตนให้แก่โจทก์ที่ ๑ ในราคา ๑๙,๐๐๐ บาท สัญญานี้จึงผูกพันจำเลยในฐานะทายาท เรือนพิพาทเป็นของโจทก์ที่ ๑ การที่จำเลยยกเรือนให้ผู้อื่นรื้อไปจึงเป็นการละเมิด ส่วนโจทก์ที่ ๒ ไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลย พิพากษาให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ที่ ๑ และรับเงินจำนวน ๑๙,๐๐๐ บาท ไปจากโจทก์ที่ ๑ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ถ้าการโอนขัดข้อง ให้เอาที่ดินพิพาทขายทอดตลาดได้เงินเท่าใดแบ่งให้จำเลย ๑๙,๐๐๐ บาท ส่วนที่เหลือให้โจทก์รับไป และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน ๒๐,๐๐๐ บาทแก่โจทก์ที่ ๑ ให้ยกฟ้องคดีสำหรับโจทก์ที่ ๒
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับศาลชั้นต้น แต่เห็นว่าโจทก์ที่ ๑ เป็นคนต่างด้าวไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ที่ ๑ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ ๑ ในข้อนี้ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ที่ ๑ และบิดามารดาจำเลยได้ร่วมกันออกเงินซื้อที่ดินพิพาท แต่เนื่องจากบุคคลทั้งสามดังกล่าวเป็นคนต่างด้าวมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินไม่ได้จึงใส่ชื่อจำเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทน และฟังว่าเรือนซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๖๓๘ เป็นของโจทก์ที่ ๑ และศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเมื่อการแบ่งที่ดินพิพาทให้บางส่วนเป็นของโจทก์ที่ ๑ ไม่อาจทำได้เพราะจะเป็นการบังคับให้โจทก์ที่ ๑ ได้มาซึ่งที่ดินอันเป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายที่ดิน ศาลก็ชอบที่จะสั่งให้ขายทอดตลาดที่ดินนั้นได้ ส่วนข้อที่ว่าโจทก์ที่ ๑ ไม่อยู่ในฐานะที่จะขอให้ศาลบังคับตามคำขอท้ายฟ้องได้ไม่ว่าด้วยประการใด ๆ นั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเรือนซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ที่ ๑ จำเลยได้บอกให้นายไม้รื้อเอาเรือนหลังนี้ไป การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดต่อโจทก์ที่ ๑ แม้โจทก์ที่ ๑ จะเป็นคนต่างด้าวไม่อาจมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทได้ ก็ชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำละเมิดของจำเลย โจทก์ที่ ๑ มีสิทธิ์ขอให้บังคับตามคำขอในข้อนี้ได้ สำหรับข้อที่ว่าหากศาลจะฟังว่าต้องขายทอดตลาดที่ดินพิพาทก็ชอบที่จะเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งกันตามส่วนที่ได้ออกเงินซื้อ เห็นว่าเมื่อขายทอดตลาดแล้วจะเอาเงินมาแบ่งกันอย่างใดนั้น ข้อนี้จำเลยมิได้ยกขึ้นมาเป็นประเด็นในชั้นอุทธรณ์ จึงไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน.

Share