คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4797/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สัญญาซื้อขายที่ดินที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ ในการที่โจทก์เวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางด่วนมีสาระสำคัญว่าโจทก์ซื้อที่ดินจากจำเลย 4 ตารางวา ตารางวาละ 150,000 บาทรวมเป็นเงิน 600,000 บาท ถ้ามีการรังวัดแบ่งแยกที่ดินแล้วหากปรากฏว่าจำนวนเนื้อที่ดินที่ตกลงซื้อขายกันมากกว่าที่ระบุไว้ในสัญญาโจทก์จะจ่ายค่าที่ดินเพิ่มให้แก่จำเลยตามอัตราที่กำหนดไว้ แต่ถ้าจำนวนเนื้อที่ดินน้อยกว่าที่ระบุไว้ในสัญญา จำเลยต้องคืนเงินค่าที่ดินให้แก่โจทก์ตามจำนวนเนื้อที่ดินที่ลดลงตามอัตราที่กำหนดไว้ ดังนี้จำนวนเงิน ที่จำเลยรับไว้ก็ดีหรือต้องคืนให้แก่โจทก์ก็ดี เป็นเงิน ที่จำเลยรับไว้หรือต้องคืนตามที่โจทก์และจำเลยตกลงกันไว้เป็นเงื่อนไขของการชำระหนี้ตามสัญญา หาใช่เป็นเรื่องที่จำเลยได้มาซึ่งเงินหรือทรัพย์ เพราะการที่โจทก์กระทำเพื่อชำระหนี้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้อันเป็นลาภมิควรได้อันโจทก์จะต้องใช้สิทธิฟ้องร้องเรียกเงินคืนจากจำเลยในกำหนดอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 419 ไม่ แต่เป็นกรณีไม่มีกฎหมายว่าด้วยอายุความบัญญัติไว้เป็นพิเศษ จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/30 คือมีอายุความ 10 ปี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 10290 ที่ถูกเวนคืนบางส่วนเพื่อสร้างทางพิเศษโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 โจทก์จำเลยตกลงทำหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินตามจำนวนเนื้อที่ซึ่งถูกเวนคืนจำนวน 4 ตารางวา ราคาตารางวาละ 15,000 บาท และค่าสิ่งปลูกสร้างราคา 393,437.75 บาท รวมเป็นเงิน 993,437.75 บาท โดยมีข้อตกลงว่าเมื่อทำการรังวัดแบ่งแยกแล้วหากปรากฏว่าจำนวนเนื้อที่ดินที่ตกลงซื้อขายกันมากกว่าจำนวนที่ระบุในสัญญาโจทก์จะจ่ายค่าที่ดินเพิ่มให้ตามอัตราที่กำหนดไว้ แต่ถ้าจำนวนที่ดินน้อยกว่าที่ระบุในสัญญาจำเลยต้องคืนเงินค่าที่ดินแก่โจทก์ตามจำนวนเนื้อที่ดินซึ่งลดลง โดยจำเลยได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาซื้อขายไปแล้ว ต่อมาเมื่อมีการรังวัดแบ่งแยกเสร็จ ปรากฏว่าจำนวนเนื้อที่ลดลงน้อยกว่าที่ระบุในสัญญา 1 ตารางวา จำเลยจึงต้องคืนเงินแก่โจทก์ตามสัญญาในอัตราตารางวาละ 150,000 บาท โจทก์ทวงถามหลายครั้งจำเลยก็เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยคืนเงินจำนวน 150,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2538 ซึ่งเป็นวันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อเลยกำหนดอายุความแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ปัญหาต่อไปมีว่า คดีโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่าตามคำฟ้องและตามสัญญาซื้อขายที่ดินท้ายฟ้องของโจทก์หมายเลข 4 เป็นเรื่องที่โจทก์ในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฟ้องเรียกเอาเงินค่าซื้อที่ดินที่โจทก์ชำระไว้ล่วงหน้าให้แก่จำเลยตามสัญญาซื้อขายที่ดินที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ ในการที่โจทก์เวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษ โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 สายถนนรวมและกระจายการจราจรคืนจากจำเลย เนื่องจากเมื่อทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดินของจำเลยที่ถูกเวนคืนแล้วมีจำนวนเนื้อที่เพียง 3 ตารางวา ไม่ถึง 4 ตารางวาตามที่ตกลงกันไว้ จำเลยต้องคืนเงินให้แก่โจทก์เท่ากับราคาที่ดินส่วนที่ขาดไป 1 ตารางวา ซึ่งตามสัญญาซื้อขายดังกล่าวข้อ 1.1 ข้อ ก. ข้อ ข. และข้อ ค. ระบุสาระสำคัญว่าโจทก์ซื้อที่ดินจากจำเลย 4 ตารางวา ตารางวาละ 150,000 บาทรวมเป็นเงิน 600,000 บาท ถ้ามีการรังวัดแบ่งแยกที่ดินแล้วหากปรากฏว่าจำนวนเนื้อที่ดินที่ตกลงซื้อขายกันมากกว่าที่ระบุไว้ในสัญญา โจทก์จะจ่ายค่าที่ดินเพิ่มให้แก่จำเลยตามอัตราที่กำหนดไว้แต่ถ้าจำนวนเนื้อที่ดินน้อยกว่าที่ระบุไว้ในสัญญาจำเลยต้องคืนเงินค่าที่ดินให้แก่โจทก์ตามจำนวนเนื้อที่ดินที่ดินที่ลดลงตามอัตราที่กำหนดไว้การจ่ายเงินค่าที่ดินที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงดังกล่าวให้กระทำภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ทำการรังวัดแบ่งแยกแล้วเสร็จ ดังนี้ จำนวนเงินที่จำเลยรับไว้ก็ดีหรือต้องคืนให้แก่โจทก์ก็ดี จึงเป็นเงินที่จำเลยรับไว้หรือต้องคืนตามที่โจทก์และจำเลยตกลงกันไว้เป็นเงื่อนไขของการชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามอีกฝ่ายหนึ่งย่อมฟ้องร้องบังคับให้อีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติตามสัญญาได้ กรณีหาใช่เป็นเรื่องที่จำเลยได้มาซึ่งเงินหรือทรัพย์เพราะการที่โจทก์กระทำการเพื่อชำระหนี้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ อันเป็นลาภมิควรได้ซึ่งโจทก์จะต้องใช้สิทธิฟ้องร้องเรียกเงินคืนจากจำเลยในกำหนดอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419 ตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไม่ และเห็นว่า การฟ้องเรียกเงินค่าซื้อที่ดินที่ชำระไว้ล่วงหน้าตามสัญญาซื้อขายที่ดินอันเกี่ยวด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เช่นกรณีพิพาทนี้ ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยอายุความบัญญัติไว้เป็นกรณีพิเศษ จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 คือมีอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตามสัญญาซื้อขาย ข้อ 1.1 ข้อ ค. วรรคท้าย คือนับตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2536 จนถึงวันที่โจทก์นำคดีมาฟ้องยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ยกคำพิพากษาของศาลชั้นต้น และให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ศาลฎีกาจึงเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share