คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4794/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 ทวิวรรคสามเป็นเพียงข้อกำหนดว่าอาจอุทธรณ์ได้ ถ้ามิได้อุทธรณ์ก็มิได้ตัดสิทธิในการฟ้องคดี เมื่อมีการอุทธรณ์แล้วแม้จะมิได้พิจารณาอุทธรณ์หรือพิจารณาไม่เสร็จก็มิได้ห้ามมิให้ฟ้องคดีฉะนั้นเมื่อมีการประเมินภาษีอากรอันจะพึงต้องเสียและแจ้งให้จำเลยทราบแล้ว จำเลยไม่ชำระก็เป็นการโต้แย้งสิทธิและโจทก์มีอำนาจที่จะฟ้องคดีได้ทันที การที่จำเลยขอความเป็นธรรมต่อโจทก์ที่ 1 เกี่ยวกับการประเมินภาษีถือเป็นการอุทธรณ์การประเมินอากร ตาม พ.ร.บ. ศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 112 ทวิ วรรคสาม แต่ไม่ถือว่าเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านการประเมินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 การประเมินภาษีอากรขาเข้าจะชอบหรือไม่ ต้องพิจารณาว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาดของสินค้าดังกล่าวเป็นจำนวนเท่าใด.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้นำเขากวางอ่อนติดกะโหลกจากเมืองฮ่องกงเข้ามาในราชอาณาจักร ได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1 ไม่พอใจราคาสินค้าที่จำเลยสำแดงและขณะนั้นยังไม่อาจหาราคาอันแท้จริงในท้องตลาดของสินค้าประเภทและชนิดเดียวกันมาเปรียบเทียบประเมินราคาในขณะนำเข้าได้ จึงให้จำเลยวางเงินประกันภาษีอากร เมื่อจำเลยชำระค่าภาษีอากรตามที่สำแดงและวางเงินประกันแล้ว ได้ตรวจปล่อยสินค้าให้จำเลยรับไป หลังจากนั้นเจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1 ได้สอบถามราคาในท้องตลาดของสินค้าประเภทและชนิดเดียวกันกับที่จำเลยนำเข้ากับกงสุลฝ่ายศุลกากรของประเทศไทยประจำเมืองฮ่องกง และได้รับแจ้งว่าเขากวางอ่อนติดกะโหลกมีราคาสูงกว่าที่จำเลยสำแดงราคาไว้ ภาษีอากรที่จำเลยเสียไว้จึงไม่ถูกต้องและยังชำระให้โจทก์ไม่ครบ เมื่อนำเงินประกันภาษีอากรที่จำเลยวางไว้หักออกแล้วจำเลยยังต้องชำระเงินให้กับโจทก์อีก รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 212,719.73บาท ขอศาลพิพากษาให้จำเลยชำระภาษีอากรตามฟ้องจำนวน 212,719.73 บาทแก่โจทก์ และให้จำเลยชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนจากต้นเงินอากรขาเข้า 44,169.28 บาท และ 39,681.60บาท ตามลำดับ เป็นรายเดือนนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าบัตรราคาที่โจทก์นำมาใช้ประเมินราคาเขากวางอ่อนติดกะโหลกที่จำเลยนำเข้ามาไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะนำราคาจากบัตรราคา ซึ่งสูงกว่าประมาณ 14 เท่ามาประเมิน จำเลยได้อุทธรณ์ต่อโจทก์ภายในกำหนดระยะเวลาแล้ว แต่โจทก์ไม่วินิจฉัยแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องบัตรราคาที่โจทก์นำมาใช้ประเมินจะใช้ได้กับสินค้าที่นำเข้าหลังจากเดือนมีนาคม 2522 แต่จำเลยนำสินค้ารายพิพาทเข้ามาก่อนมีการทำบัตรราคาประมาณ 6 เดือน โจทก์นำบัตรราคามาใช้ย้อนหลังไม่ได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินประกันภาษีอากรไว้ได้ โจทก์ชอบที่จะต้องคืนเงินประกันดังกล่าวให้แก่จำเลยจำเลยจึงขอฟ้องแย้ง ขอศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ และให้โจทก์ชำระเงินคืนให้แก่จำเลยเป็นเงิน 51,264.78 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงิน 29,500 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลย
โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ราคาตามบัตรราคาได้มาจากการสืบราคาของกงสุลฝ่ายศุลกากรประจำเมืองฮ่องกงในระยะเวลาใกล้เคียงกับที่จำเลยนำสินค้ารายพิพาทเข้ามาในราชอาณาจักร ราคาสินค้าที่จำเลยสำแดงไม่ใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด การประเมินและจัดเก็บภาษีอากรของโจทก์ชอบแล้ว ขอศาลพิพากษายกฟ้องแย้ง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระภาษีอากรจำนวน 212,719.73บาท และเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนจากต้นเงินอากรขาเข้า 44,169.28 บาท และ 39,681.60 บาท ตามลำดับเป็นรายเดือนนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 2 และ 6พฤศจิกายน 2521 จำเลยได้นำสินค้าคือเขากวางอ่อนติดกะโหลกเข้ามาในราชอาณาจักร สินค้านี้มีแหล่งกำเนิดจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนแต่จำเลยซื้อจากเมืองฮ่องกง และได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเลขที่ 111-0572 และเลขที่ 111-0433 สำแดงน้ำหนัก17.51 กิโลกรัม และ 16.97 กิโลกรัม ราคา 56,124.23 บาท และ54,402.98 บาท ขอเสียภาษีอากร 18,146.84 บาท และ 17,590.29 บาทตามลำดับ เจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1 ให้จำเลยชำระค่าภาษีอากรตามที่สำแดงและให้จำเลยวางเงินประกัน 15,200 บาท และ 14,300 บาท จึงตรวจปล่อยสินค้าให้จำเลยรับไปเมื่อวันที่ 3 และ 8 พฤศจิกายน 2521 ตามลำดับ ต่อมาเจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1 ได้ประเมินราคาสินค้าที่จำเลยนำเข้าสูงขึ้นคิดเป็นภาษีอากรที่จำเลยจะต้องชำระเพิ่มตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเลขที่ 111-0572 และเลขที่ 111-0433จำนวน 47,561.89 บาท และ 42,866.48 บาท ตามลำดับ เจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1 ได้ส่งแบบแจ้งการประเมินอากรขาเข้าและภาษีการค้าให้จำเลยแล้ว จำเลยได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อโจทก์ที่ 1 เกี่ยวกับการถูกประเมินภาษีอากรภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งการประเมิน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469มาตรา 112 ทวิ วรรคสาม กำหนดไว้ว่า ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกอาจอุทธรณ์การประเมินอากรต่ออธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายได้ บทบัญญัติดังกล่าวเป็นเพียงข้อกำหนดว่าอาจอุทธรณ์ได้ ถ้าไม่อุทธรณ์ก็มิได้ตัดสิทธิในการฟ้องคดีแต่อย่างใด เมื่อมีการอุทธรณ์แล้วแม้จะมิได้พิจารณาอุทธรณ์หรือพิจารณาไม่เสร็จก็มิได้ห้ามมิให้ฟ้องคดี เมื่อมีการประเมินเงินภาษีอากรอันจะพึงต้องเสียและแจ้งให้จำเลยทราบ จำเลยไม่ชำระก็เป็นการโต้แย้งสิทธิและโจทก์มีอำนาจที่จะฟ้องได้ทันที ที่จำเลยอ้างว่า เมื่อมีการอุทธรณ์อยู่ ยังไม่มีการโต้แย้งสิทธิ ไม่มีอำนาจฟ้องตามมาตรา 30(2) แห่งประมวลรัษฎากรและอ้างฎีกามาประกอบด้วยนั้น เห็นว่า ตามข้ออ้างของจำเลยเป็นเรื่องภาษีตามประมวลรัษฎากร แต่คดีนี้จำเลยขอความเป็นธรรมต่อโจทก์ที่ 1 เกี่ยวกับการประเมินภาษี ถือเป็นอุทธรณ์การประเมินอากรตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 ทวิ วรรคสาม ไม่ถือว่าเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านการประเมินภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 เพราะไม่มีกฎหมายใดสนับสนุนให้อุทธรณ์การประเมินต่อโจทก์ที่ 1 แทนได้ ทั้งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็เป็นหน่วยงานที่ประมวลรัษฎากรกำหนดไว้ต่างหาก จึงจะอนุโลมถือว่าเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านการประเมินภาษีการค้ากับภาษีบำรุงเทศบาลแล้วหาได้ไม่ ต้องถือว่าในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล จำเลยมิได้อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านตามประมวลรัษฎากร ฉะนั้น การที่จำเลยใช้สิทธิอุทธรณ์ดังกล่าวแม้โจทก์จะไม่ได้วินิจฉัยหรือวินิจฉัยไม่เสร็จ แต่จำเลยไม่ได้ชำระภาษีอากรตามที่ประเมินย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องอุทธรณ์จำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาว่า การประเมินภาษีอากรชอบหรือไม่ และจำเลยมีสิทธิเรียกเงินประกันคืนหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ประเมินราคาตามที่ได้สอบถามไปยังกงสุลฝ่ายศุลกากรประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง เป็นการแสวงหาราคาอันแท้จริงในท้องตลาด เพื่อเรียกเก็บภาษีอากรเกี่ยวกับสินค้าเขากวางอ่อนติดกะโหลก และได้เริ่มกระทำการสอบถามราคาในขณะที่เจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 สงสัยในราคาสินค้าที่จำเลยนำเข้า เป็นการสอบหาราคาอันแท้จริงในท้องตลาดของสินค้าประเภทและชนิดเดียวกันในเวลาที่จำเลยนำของเข้า โดยได้ทำการสอบราคาจากร้านสรรพสินค้าของสาธารณรัฐประชาชนจีน 3 ร้าน และร้านขายเครื่องยาจีนที่มีขนาดใหญ่พอสมควร 4 ร้าน แล้วเฉลี่ยราคาเพื่อความเป็นธรรม จากนั้นจึงลดราคาเป็นการขายส่งอีกร้อยละ 20 คิดเป็นราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 3,179.74เหรียญฮ่องกง แต่ได้มีการปัดเศษ ราคาตามบัตรราคาจึงเป็นกิโลกรัมละ3,180 เหรียญฮ่องกง รายละเอียดปรากฏตามเอกสารหมาย จ.20 เอกสารฉบับนี้ทำขึ้นเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2522 ซึ่งห่างจากวันที่จำเลยนำสินค้าเข้าประมาณ 2 เดือน ส่วนจำเลยจะนำสืบว่าเขากวางอ่อนติดกะโหลกจะมีราคาแพงกว่าที่ติดกะโหลก แต่ราคาสินค้าที่จำเลยนำสืบมานั้นมิได้แสดงให้เห็นว่าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด เป็นเพียงราคาสินค้าที่นำเข้าขณะเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ตรวจแล้วพอใจ จึงปล่อยสินค้าให้ผู้นำเข้าไปหรือบางรายถ้ามีการวางเงินประกันก็ให้คืนเงินประกันไม่ และโดยเฉพาะรายการที่บริษัทฮั่วฮง จำกัด สั่งเข้ามาเป็นเวลาหลังจากที่จำเลยนำเข้าคดีนี้ประมาณ 3 ปี จะนำมาเปรียบเทียบกับราคาสินค้าของจำเลยแล้วถือเป็นราคาตามท้องตลาดอันแท้จริงสำหรับการนำเข้ารายนี้ ย่อมไม่ถูกต้อง พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าราคาที่เจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ประเมินภาษีอากรจากจำเลยเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด การประเมินดังกล่าวชอบแล้ว จำเลยต้องรับผิดชำระภาษีอากรเพิ่ม จึงไม่มีสิทธิจะเรียกเงินประกันคืน
พิพากษายืน.

Share