แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามพระราชบัญญัติประกันสังคมฯ โจทก์ผู้ประกันตนจะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีทุพพลภาพในเรื่องเงินทดแทนการขาดรายได้นั้นเป็นไปตามมาตรา 71ส่วนกรณีใดจะเป็นกรณีทุพพลภาพนั้นเป็นไปตามมาตรา 5
โจทก์สูญเสียสมรรถภาพในการทำงานตลอดมาตั้งแต่วันที่ประสบอุบัติเหตุ เมื่อแพทย์ประเมินการสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของร่างกายโจทก์เช่นนั้น โจทก์ย่อมตกเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ตามพระราชบัญญัติประกันสังคมฯ มาตรา 71 และประกาศสำนักงานประกันสังคม เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ในกรณีทุพพลภาพฯ ตั้งแต่วันที่โจทก์ประสบอุบัติเหตุถูกรถยนต์เฉี่ยวชนแล้ว มิใช่ตั้งแต่วันที่แพทย์ประเมินการสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของร่างกายโจทก์
แนวปฏิบัติที่ผู้อำนวยการกองประสานการแพทย์และฟื้นฟูสมรถภาพออกไว้สำหรับกรณีผู้ประกันตนได้รับการกระทบกระเทือนทางสมองอย่างรุนแรงว่า การวินิจฉัยผู้ประกันตนที่บาดเจ็บควรเป็นผู้ที่ได้รับการรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพมาแล้วอย่างน้อย 1 ปี จึงจะพิจารณาว่าทุพพลภาพหรือไม่นั้น เป็นเพียงการกำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อให้การวินิจฉัยกรณีทุพพลภาพเนื่องจากบาดเจ็บของสมองได้ถูกต้องตามประกาศสำนักงานประกันสังคมเท่านั้น มิใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กำหนดวันเริ่มต้นแห่งสิทธิที่จะได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีทุพพลภาพแต่ประการใด เมื่อโจทก์เป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีทุพพลภาพตั้งแต่วันที่โจทก์ประสบอุบัติเหตุ การคำนวณเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีของโจทก์จึงต้องคำนวณจากค่าจ้างที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบตามพระราชบัญญัติประกันสังคมฯ มาตรา 57 วรรคหนึ่ง มิใช่คำนวณจากค่าจ้างที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบตามมาตรา 57 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 47/2544 ลงวันที่ 25 มกราคม 2544 ให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนกรณีทุพพลภาพตามมาตรา 33 มาตรา 57 วรรคหนึ่งและมาตรา 71
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ที่ 47/2544 ลงวันที่ 25 มกราคม 2544 ให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้ในกรณีทุพพลภาพแก่โจทก์เป็นเงินวันละ 203.42บาท นับตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2541 ไปตลอดชีวิตของโจทก์ โดยให้จำเลยหักเงินค่าทดแทนการขาดรายได้จำนวน 40,306 บาท ที่จ่ายให้โจทก์ไปแล้วออกก่อน
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีทุพพลภาพจากจำเลยตั้งแต่วันที่โจทก์ประสบอุบัติเหตุหรือตั้งแต่วันที่คณะกรรมการการแพทย์ได้ประเมินการสูญเสียสมรรถภาพการทำงานของโจทก์ ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นลูกจ้างบริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด ตั้งแต่ปี 2531 และได้เข้าเป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 33 นับแต่บัดนั้น ต่อมาวันที่ 15กันยายน 2541 โจทก์ถูกรถชนได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหลายแห่งแต่ก็ไม่สามารถเดินได้ นายจ้างมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2541เดือนมกราคม 2542 โจทก์ไปขอรับเงินทดแทนการขาดรายได้ที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครสวรรค์ เจ้าหน้าที่แนะนำให้โจทก์ไปทำประกันตนตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งโจทก์ก็ปฏิบัติตาม ครั้นวันที่ 24 พฤษภาคม 2543 โจทก์ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพต่อสำนักงานประกันสังคม จังหวัดนครสวรรค์คณะอนุกรรมการประกันสังคมจังหวัดนครสวรรค์มีมติว่าโจทก์เป็นผู้ทุพพลภาพตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2543 มีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพวันละ 80 บาท นับแต่วันดังกล่าว โจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่ง คณะกรรมการอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ก่อนฟ้องโจทก์ได้รับเงินทดแทนจากสำนักงานประกันสังคมจังหวัดชลบุรีและนครสวรรค์ มาแล้วเป็นเงิน 40,306บาท เห็นว่า กรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกันตนจะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีทุพพลภาพในเรื่องเงินทดแทนการขาดรายได้นั้นเป็นไปตามมาตรา 71 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้ประกันตนทุพพลภาพอันมิใช่เนื่องจากการทำงานให้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ในอัตราร้อยละห้าสิบของค่าจ้างตามมาตรา 57 ตลอดชีวิต” ส่วนกรณีใดจะเป็นกรณีทุพพลภาพนั้นเป็นไปตามมาตรา 5 ซึ่งบัญญัติว่า “ทุพพลภาพ” หมายความว่าการสูญเสียอวัยวะ หรือสูญเสียสมรรถภาพของอวัยวะหรือของร่างกาย หรือสูญเสียสภาวะปกติของจิตใจจนไม่สามารถทำงานได้ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการแพทย์กำหนด” และคณะกรรมการการแพทย์ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในกรณีทุพพลภาพไว้ในประกาศสำนักงานประกันสังคม เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ในกรณีทุพพลภาพ ลงวันที่ 23 มีนาคม 2536 ซึ่งกรณีตามปัญหาของโจทก์นั้น ประกาศสำนักงานประกันสังคมฉบับดังกล่าว ข้อ 1(9) กำหนดว่า “โรคหรือการบาดเจ็บของสมองเป็นเหตุให้สูญเสียความสามารถของอวัยวะของร่างกายจนไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันที่จำเป็นได้ และต้องมีผู้อื่นมาช่วยหรือดูแล” โจทก์ประสบอุบัติเหตุถูกรถยนต์เฉี่ยวชนเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2541 ศีรษะได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงสมองช้ำ สลบไม่รู้สึกตัว โจทก์ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลหลายแห่งแพทย์วินิจฉัยว่าสมองได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง มีอาการแขนซ้ายอ่อนแรงมีการยึดติดของกล้ามเนื้อข้อมือซ้าย ข้อศอกซ้าย ไม่สามารถใช้แขนซ้ายในการช่วยตนเองเดินไม่ได้ พูดไม่ชัด ไม่สามารถควบคุมระบบการขับถ่ายได้ สูญเสียความทรงจำไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ต่อมาวันที่ 24 พฤษภาคม 2543 นายแพทย์วิโรจน์ หมั่นคติธรรมตรวจร่างกายโจทก์และมีความเห็นว่าโจทก์มีอาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อมีอาการอ่อนแรงหรืออัมพาตของร่างกายและแขนขา ปากเบี้ยวข้างซ้าย มีการสูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหวของร่างกายและแขนขา เช่น มีการยึดติดของกล้ามเนื้อที่ข้อมือซ้าย ข้อศอกซ้ายเดินไม่ได้ แขนข้างซ้ายไม่สามารถใช้ในการช่วยเหลือตนเองได้ พูดได้แต่ไม่ชัดเจน มีความผิดปกติของสภาพจิตเกี่ยวกับอารมณ์ ในชีวิตประจำวันนั่งหรือนอนอยู่กับบ้านช่วยเหลือตนเองไม่ได้ การขับถ่ายปัสสาวะควบคุมไม่ได้เลย การอุจจาระมีความผิดปกติในการควบคุมโดยกลั้นอุจจาระไม่ได้ การแต่งตัวเองทำไม่ได้เลย แพทย์มีความเห็นว่าไม่สามารถฟื้นคืนสภาพได้ตามปกติเนื่องจากมีอาการอ่อนแรงและเกร็งของแขนซ้ายมานาน 1 ปี 4 เดือน โดยไม่มีอาการดีขึ้น จึงประเมินการสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของร่างกายโจทก์ว่ามีการสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของร่างกายร้อยละ 50 ดังนี้ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงว่าโจทก์สูญเสียสมรรถภาพในการทำงานตลอดมาตั้งแต่วันที่ประสบอุบัติเหตุ เมื่อนายแพทย์วิโรจน์ประเมินการสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของร่างกายโจทก์เช่นนั้น โจทก์ย่อมตกเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ตามมาตรา 71 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และประกาศสำนักงานประกันสังคม เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ในกรณีทุพพลภาพ ลงวันที่ 23 มีนาคม2536 ข้อ 1(9) ตั้งแต่วันที่โจทก์ประสบอุบัติเหตุถูกรถยนต์เฉี่ยวชนเมื่อวันที่ 15 กันยายน2541 แล้วมิใช่ตั้งแต่วันที่นายแพทย์วิโรจน์ประเมินการสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของร่างกายโจทก์เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2543 ดังที่คณะอนุกรรมการประกันสังคมจังหวัดนครสวรรค์และคณะกรรมการอุทธรณ์วินิจฉัย ส่วนแนวปฏิบัติที่ รส 0707/ว.647ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2539 ที่ผู้อำนวยการกองประสานการแพทย์และฟื้นฟูสมรรถภาพออกไว้สำหรับกรณีผู้ประกันตนได้รับการกระทบกระเทือนทางสมองอย่างรุนแรงว่า การวินิจฉัยผู้ประกันตนที่บาดเจ็บควรเป็นผู้ที่ได้รับการรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพมาแล้วอย่างน้อย 1 ปี จึงจะพิจารณาว่าทุพพลภาพหรือไม่นั้น เป็นเพียงการกำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อให้การวินิจฉัยกรณีทุพพลภาพเนื่องจากบาดเจ็บของสมองได้ถูกต้องตามประกาศสำนักงานประกันสังคมฉบับดังกล่าวเท่านั้น มิใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กำหนดวันเริ่มต้นแห่งสิทธิที่จะได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีทุพพลภาพแต่ประการใด เมื่อโจทก์เป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีทุพพลภาพตั้งแต่วันที่โจทก์ประสบอุบัติเหตุคือวันที่ 15 กันยายน 2541 การคำนวณเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีของโจทก์จึงต้องคำนวณจากค่าจ้างที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบตามมาตรา 57 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มิใช่คำนวณจากค่าจ้างที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบตามมาตรา 57 วรรคสอง ดังที่จำเลยอ้าง อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน