คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4792/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พันตำรวจโท ส. ฟ้องผู้ที่ผิดสัญญาปล่อยชั่วคราวในชั้นสอบสวนในฐานะที่เป็นพนักงานสอบสวนซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้อำนาจไว้ตามมาตรา 106และ 113 มิได้ฟ้องในฐานะส่วนตัว แม้ว่าในขณะทำสัญญาประกันพันตำรวจโท ส. จะมิได้ดำรงตำแหน่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลสุทธิสาร แต่ในขณะยื่นฟ้องพันตำรวจโทส.ดำรงตำแหน่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลสุทธิสารจึงมีอำนาจฟ้อง หนังสือมอบอำนาจระบุว่า จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีอำนาจนำโฉนดที่ดินไปประกัน ป.กับพวกรวม 2 คน ผู้ต้องหาไปจากความควบคุมของพนักงานสอบสวนแทนจำเลยที่ 1 จนเสร็จการซึ่งเป็นการมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวไปกระทำการครั้งเดียว จึงต้องปิดอากรแสตมป์ 10 บาทตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร ข้อ 7(ก) สัญญาที่นายประกันร้องขอให้ปล่อยผู้ต้องหาชั่วคราวไปจากการควบคุมของพนักงานสอบสวนโดยสัญญาว่าจะส่งตัวผู้ต้องหาให้ตามกำหนดนัดของพนักงานสอบสวน ไม่อยู่ในความหมายของสัญญาค้ำประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 680 จึงไม่ต้องปิดอากรแสตม์ ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร ข้อ 17(ง)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลสุทธิสาร มีอำนาจหน้าที่สอบสวนและให้ประกันตัวผู้ต้องหาที่อยู่ในความควบคุมของโจทก์ จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2783 ตำบลลำผักชี อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานครจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที 1 ให้นำที่ดินตามโฉนดดังกล่าวไปใช้เป็นหลักทรัพย์ขอประกันตัวนายประดิษฐ์ สิทธิพรหมกับพวกไปจากความควบคุมของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลสุทธิสารแทนจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ยอมรับผิดชอบในการที่จำเลยที่ 2 ทำไปตามที่มอบอำนาจ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2527จำเลยที่ 2 โดยได้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประกันให้ไว้แก่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลสุทธิสารประกันตัวนายประดิษฐ์ สิทธิพรหม และนายสมัคร บุญเหลือ ซึ่งต้องหาว่าฉ้อโกงประชาชนไปจากความควบคุมของเจ้าพนักงานตำรวจและสัญญาว่าจะส่งตัวนายประดิษฐ์ สิทธิพรหมและนายสมัคร บุญเหลือผู้ต้องหาให้ตามกำหนดนัดของเจ้าพนักงาน ถ้าผิดสัญญายินยอมชดใช้เงิน 200,000 บาท โดยได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 2783 ให้พนักงานสอบสวนยึดไว้เป็นหลักฐาน ต่อมาวันที่ 18 ตุลาคม 2527 เวลากลางวันซึ่งเป็นวันเวลากำหนดนัดให้จำเลยทั้งสองส่งตัวนายประดิษฐ์สิทธิพรหม และนายสมัคร บุญเหลือผู้ต้องหาทั้งสองต่อโจทก์จำเลยทั้งสองผิดสัญญาไม่นำผู้ต้องหาทั้งสองมาส่งมอบให้โจทก์โจทก์ทวงถามหลายครั้งจำเลยทั้งสองก็ไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหามาส่งมอบได้ จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดตามสัญญาประกันชำระเงินค่าปรับให้แก่โจทก์เป็นเงิน 200,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 200,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้รับสัญญาหรือเป็นคู่สัญญาตามสัญญาประกันทั้งสองฉบับ โจทก์ไม่ได้เป็นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลสุทธิสารผู้มีอำนาจกระทำการสอบสวนและให้ประกันตัวผู้ต้องหา ทั้งผู้ต้องหาก็ไม่อยู่ในความควบคุมของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 200,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2783 ตำบลลำผักชี อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 นำที่ดินตามโฉนดที่ดินดังกล่าวมาเป็นหลักประกันในการประกันตัวนายสมัครและนายประดิษฐ์ผู้ต้องหาซึ่งต้องหาว่าร่วมกันฉ้อโกงประชาชนไปจากการควบคุมของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลสุทธิสารพนักงานสอบสวนอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวตีราคาค่าประกันคนละ100,000 บาท เมื่อถึงกำหนดนัดส่งตัวผู้ต้องหา จำเลยทั้งสองไม่สามารถนำผู้ต้องหาทั้งสองส่งให้แก่พนักงานสอบสวน เนื่องจากผู้ต้องหาทั้งสองหลบหนี คดีมีปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ในข้อนี้จำเลยที่ 1ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะพันตำรวจโทสุรพันธ์ โสรัตน์มิได้เป็นคู่สัญญากับจำเลยที่ 1 และมิได้เป็นพนักงานสอบสวนในคดีที่นายประดิษฐ์และนายสมัครเป็นผู้ต้องหาในคดีร่วมกันฉ้อโกงเห็นว่า โจทก์ในคดีนี้คือพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลสุทธิสารพันตำรวจโทสุรพันธ์ฟ้องคดีนี้ในฐานะพนักงานสอบสวนซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้อำนาจไว้ตามมาตรา 106 และ 113 มิได้ฟ้องในฐานะส่วนตัวแต่อย่างใด แม้ว่าในขณะทำสัญญาประกัน เอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 พันตำรวจโทสุรพันธ์จะมิได้ดำรงตำแหน่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลสุทธิสาร แต่ในขณะยื่นฟ้องข้อเท็จจริงฟังได้ว่าพันตำรวจโทสุรพันธ์ดำรงตำแหน่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลสุทธิสาร ดังนั้นพันตำรวจโทสุรพันธ์ในฐานะพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลสุทธิสารย่อมมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อต่อไปมีว่า หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 เป็นหนังสือที่มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 นำโฉนดที่ดินไปทำสัญญาประกันตัวนายประดิษฐ์และนายสมัครตามสัญญาประกันเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 เป็นการมอบอำนาจให้กระทำการมากกว่า ครั้งเดียวต้องปิดอากรแสตมป์ 30 บาท ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ข้อ 7(ข) จึงจะสมบูรณ์ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้แต่ปรากฏว่าหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 ปิดอากรแสตมป์เพียง20 บาท โจทก์จึงจะใช้ใบมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 มาเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ยกปัญหาข้อนี้ขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้น แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 1 มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์และฎีกาได้ เห็นว่าหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 ระบุว่าจำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีอำนาจนำโฉนดที่ดินเลขที่ 2783 ไปประกันนายประดิษฐ์กับพวกรวม 2 คน ผู้ต้องหาฉ้อโกงประชาชนไปจากความควบคุมของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลสุทธิสารแทนจำเลยที่ 1 จนเสร็จการซึ่งเป็นการมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวไปกระทำการครั้งเดียว จึงต้องปิดอากรแสตมป์ 10 บาท ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร ข้อ 7(ก) มิใช่ปิดอากรแสตมป์ 30 บาท ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ข้อ 7(ข) หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งปิดอากรแสตมป์ 20 บาท จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาเป็นข้อสุดท้ายว่าสัญญาประกันตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 เป็นสัญญาค้ำประกันหนี้อย่างหนึ่งที่จะต้องปิดอากรแสตมป์ให้ครบตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร ข้อ 17(ง) เมื่อสัญญาประกันดังกล่าวไม่ปิดอากรแสตมป์ จึงใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 นั้น เป็นปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนเช่นกัน แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้น จำเลยก็มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ฎีกาได้ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 บัญญัติว่าอันว่าค้ำประกันนั้นคือ สัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ค้ำประกันผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น แต่สัญญาประกันตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 เป็นสัญญาที่นายประกันร้องขอให้ปล่อยผู้ต้องหาชั่วคราวไปจากการควบคุมของพนักงานสอบสวนโดยสัญญาว่าจะส่งตัวผู้ต้องหาให้ตามกำหนดนัดของพนักงานสอบสวน สัญญาประกันดังกล่าวจึงไม่อยู่ในความหมายของสัญญาค้ำประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 จึงไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร ข้อ 17(ง) ดังนั้นสัญญาประกันตามสัญญาเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ ฎีกาทุกข้อของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share